6 พฤติกรรมเสี่ยงทำให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นกันมาบ้างแล้ว ซึ่งโรคชนิดนี้เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกถูกทำลายจนไปกดทับเส้นประสาท เป็นผลมาจากการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน วันนี้เราจึงเอาพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นมาแชร์ให้สาวๆ ได้ทราบ เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเสี่ยงของโรคดังกล่าวนี้กันค่ะ
1.แบกของหนัก
การแบกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆ รวมทั้งการแบกในท่าที่ผิด จะทำให้ร่างกายจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลังได้ง่าย
2.ก้มเงยบ่อยๆ
พฤติกรรมก้มเงยบ่อยๆ หรือนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ขัดล้างห้องน้ำ เล่นมือถือ หรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น จะทำให้กล้ามเนื้อต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไป และส่งผลกระทบต่อแนวกระดูกสันหลังด้วย
3.นอนผิดท่า
การนอนในท่าที่ผิด เช่น นอนคว่ำอ่านหนังสือ หรือการนอนคู้ตัวเป็นประจำ จะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปและเสื่อมง่าย
4.มีน้ำหนักตัวมาก
ร่างกายที่มีน้ำหนักตัวมากจนเกินไป หรืออยู่ในภาวะอ้วน จะทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังต้องแบกรับน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ง่าย และยังทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมมากกว่าคนปกติ
5.ไม่ออกกำลังกาย
แน่นอนว่าร่างกายที่ไม่ออกกำลังกาย จะทำให้กล้ามเนื้อไม่มีความแข็งแรง ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายมาก
6.สูบบุหรี่
สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำ ย่อมเสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น เนื่องจากสารที่อยู่ในบุหรี่มีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมได้ง่าย
อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
นอกจากสาวๆ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นแล้ว ในส่วนของอาการก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องสังเกตด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นมีดังนี้
1.ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลัง บริเวณกลางหลังหรือบริเวณเอวด้านล่าง บางรายอาจมีอาการเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ซึ่งอาการจะแสดงออกอย่างเด่นชัดเมื่อนั่งงอตัว ไอ หรือจาม
2.กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงที่ขา จะทำให้มีอาการปวดเมื่อเดินหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายในบางท่า ซึ่งอาการจะเกิดตั้งแต่บริเวณเอว ขา และลงไปถึงเท้า นอกจากนี้ยังมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีอาการชาร่วมอยู่ด้วย
สำหรับสาวๆ คนไหนที่สงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นหรือไม่นั้น แนะนำให้สังเกตอาการที่อาจก่อให้เกิดโรคดังกล่าวให้ดี พร้อมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกไปพร้อมๆ กัน เพราะทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายไม่ต้องเผชิญกับอาการรุนแรงจากโรคนี้ได้เป็นอย่างดี