คำพูดที่คนญี่ปุ่นเตือนว่าไม่ควรใช้พูดกับลูก

คำพูดที่คนญี่ปุ่นเตือนว่าไม่ควรใช้พูดกับลูก

คำพูดที่คนญี่ปุ่นเตือนว่าไม่ควรใช้พูดกับลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คำพูดของพ่อแม่มีความสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ ดังนั้นหากไม่ระวัง คำพูดบางอย่างก็อาจจะไปบั่นทอนความอยากรู้สึก จินตนาการ และแรงบันดาลใจของลูกได้ ลองมาดูกันค่ะว่าคำพูดใดที่คนญี่ปุ่นเตือนให้พ่อแม่หลีกเลี่ยงไม่นำมาใช้ในการเลี้ยงลูก

ไม่ได้ ไม่ดี และคำห้ามต่างๆ
คำห้ามเด็กนั้นเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ความกังวลกลัวอันตรายที่ลูกจะได้รับจากการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการที่ลูกเล่นของสำคัญของพ่อแม่หรือคนอื่น การห้ามโดยไม่บอกเหตุผลทำให้เด็กไม่เข้าใจ ขัดใจ และทำให้พวกเขาตอบโต้โดยการร้องไห้ กรีดร้อง และต่อต้านพ่อแม่

แทนคำห้ามก็แสดงอาการรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากจะทำ และอธิบายถึงอันตรายจากการกระทำด้วยถ้อยคำที่ง่าย เช่น หากลูกเล็กอยากเล่นกรรไกร ก็บอกให้เขารู้ว่ากรรไกรนั้นอันตราย จะทำให้บาดมือได้ แต่ก็ควรสอนวิธีการใช้กรรไกรที่ถูกต้องให้เขาโดยที่พ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิด หรืออธิบายเหตุผลที่ลูกเล่นของบางอย่างไม่ได้ เช่น หากลูกต้องการเล่นสมุดโน้ตสำคัญของพ่อหรือแม่ ก็ให้หาสมุดโน้ตอื่นให้เล่นแทน พร้อมกับชี้แจงให้เขารู้ถึงเหตุผลที่เล่นสมุดของพ่อแม่ไม่ได้ เป็นต้น เพียงแค่นี้ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้เหตุผลต่างๆ ที่เขากระทำไม่ได้โดยที่พ่อแม่ไม่ไปหยุดยั้งจินตนาการและพัฒนาการของเขา


เร็วๆ หน่อย
ด้วยพัฒนาการทางร่างกายที่ยังไม่พร้อมเหมือนผู้ใหญ่ ลูกน้อยมักจะทำทุกอย่างได้อย่างช้า แต่การเร่งรัดจากผู้ใหญ่โดยใช้คำพูดอย่างเช่น “เร็วๆ หน่อย” เป็นประจำ จะทำให้เด็กไม่สามารถทำสิ่งที่เขาทำหรือเรียนรู้อยู่อย่างสงบได้ ทำให้ขาดความเป็นส่วนตัว และเมื่อโดนเร่งบ่อยๆ ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง

แทนการเร่งลูกน้อยก็มีวิธีการพูดหลากหลายเพื่อชักนำให้ลูกกระทำสิ่งต่างๆ ได้ตรงตามเวลาที่พ่อแม่ต้องการ เช่น การใช้คำพูดชักนำให้ลูกน้อยริเริ่มการกระทำด้วยตนเอง ได้แก่ “หากลูกไม่รีบกินอาหาร ก็จะไปโรงเรียนสาย” หรือ แนะนำให้เขาทำสิ่งต่างๆ ตามลำดับเพื่อฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองได้โดยไม่รู้สึกว่าโดนเร่งรัด เช่น “เปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จแล้วกินข้าวเลย” หรือการกำหนดเวลาอย่างง่ายซึ่งจะเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักวางแผนและจัดการตัวเองได้ในอนาคต เช่น  “เราจะออกจากบ้านตอนเจ็ดโมงสี่สิบ ลูกต้องเตรียมตัวให้เสร็จก่อนเจ็ดโมงครึ่ง” เป็นต้น


รอแป๊บนึง

ผู้ใหญ่มักจะยุ่งกับการทำงาน ทำงานบ้าน และสิ่งรอบตัวทั้งวัน จนบางครั้งละเลยที่จะใส่ใจกับสิ่งที่ลูกอยากบอกอยากพูด และกลัวว่าหากหยุดฟังลูกพูดแล้วจะเสียเวลา จึงบอกให้ลูกรอซักครู่ ซึ่งเป็นคำพูดที่อาจจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านจิตใจของลูกในที่สุด

เมื่อลูกพูดว่า “แม่ฟังหนูหน่อย” นั้นเป็นเพราะเด็กมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเกิดขึ้น เขาต้องการความรู้สึกเข้าใจและความมั่นใจจากพ่อหรือแม่ หากพ่อแม่ละเลยไม่ฟังก็จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางจิตใจของลูกได้

วิธีการปฏิบัติตนเมื่อลูกบอกให้ฟังหนูหน่อยคือ พ่อหรือแม่หยุดงานที่ทำซักครู่ หากลูกยังตัวเล็กอยู่ก็คุกเข่าให้สายตาสบกับตาลูก ใช้มือลูบข้อศอกเขาเบาๆ และตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด แม้จะไม่มีอะไรมากนัก แต่การได้พูดถึงสิ่งที่รู้สึกไม่มั่นใจออกมาจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างพัฒนาการทางด้านจิตใจที่เข้มแข็งให้ลูกต่อไป เหนือสิ่งอื่นใดคือ การหยุดฟังลูกทำให้พ่อแม่ได้รับรู้ถึงสิ่งที่ลูกคิดและสิ่งที่เกิดกับลูกในชีวิตประจำวันที่โรงเรียนของลูกด้วย


เดี๋ยวผีมานะ
พ่อแม่บางคนใช้คำว่า “เดี๋ยวผีมานะ” เพื่ออยากให้ลูกทำในสิ่งที่ตนต้องการให้เสร็จเร็วๆ เช่น “อาบน้ำช้า เดี๋ยวผีมานะ” หรือ “หากไม่นอนเดี๋ยวผีมานะเป็นต้น แม้ว่าจะได้ผลดีในช่วงแรกเพราะเด็กทุกคนกลัวผีจึงรีบทำสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ แต่เมื่อเจอคำพูดเดิมๆ หลายครั้ง  นอกจากเด็กจะไม่ทำตามแล้ว ยังทำให้เด็กเกิดความกลัว นำไปคิด จนนอนฝันร้าย ไม่กล้าอาบน้ำหรือไปห้องน้ำคนเดียว ต้องเรียกให้พ่อแม่อยู่เป็นเพื่อนเสมอ ดังนั้นแทนที่พ่อแม่จะสบายขึ้นกลับต้องมาเหนื่อยแก้ไขความกลัวของลูกอีก

แทนการเอาผีมาขู่ ให้ใช้คำพูดที่ชวนให้ลูกอยากทำ เช่น “หากอาบน้ำแต่งตัวเสร็จเร็วแล้วแม่จะอ่านหนังสือให้ฟังหรือพาไปเดินเล่น” เป็นต้น


หากไม่มีเธอก็ดี
“หากไม่มีเธอก็ดี” หรือ “ไม่น่าเกิดมาเลย” เป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจลูกอย่างรุนแรง พอๆ กับคำพูดที่ว่า “หากเธอเกิดเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็คงดี” หากพูดบ่อย คำพูดเหล่านี้นอกจากจะทำร้ายจิตใจแล้วก็ยังทำให้ลูกปฏิเสธความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเป็นอย่างไร แต่เด็กมักเลือกที่จะเป็นไปตามคำพูดของพ่อแม่ เช่น หากพ่อแม่ว่าลูกไม่ดี พวกเขาก็จะเป็นดังคำพูดของพ่อแม่ หากพ่อแม่บอกว่าเขาไม่มีทางทำได้พวกเขาก็จะยึดคำพูดของพ่อแม่ไม่พยายามแสดงความสามารถที่มีของตนเองออกมา

แทนการใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจจนสร้างแผลใจให้ลูกไปจนโตก็ให้ใช้คำพูดดีๆ กับลูกเสมอ เช่น “พ่อแม่มั่นใจว่าลูกเป็นคนดี” “พ่อแม่ดีใจที่มีลูกอยู่ด้วยเสมอมา” เป็นต้น


พ่อแม่อาจจะคิดว่าคำพูดดังกล่าวเป็นคำพูดธรรมดาที่ไม่น่าจะสร้างรอยแผลหรือส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตใจลูกได้ แต่เพราะจิตใจเด็กยังบอบบาง เขาต้องการความรักและความมั่นใจว่าพ่อแม่รักพวกเขาเสมออย่างแท้จริง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดเหล่านี้ เพื่อจะทำให้ลูกน้อยมีจิตใจที่เข้มแข็งและเติบโตขึ้นมาอย่างมีความสุขค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook