"บุ๋ม ปนัดดา" ร่วมพลัง "นุ๊กซี่ อัญพัชญ์" ชวนหญิงไทยลุกขึ้นต่อสู้กับมะเร็งเต้านม
เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยห่างไกลจากภัยมะเร็งเต้านม ล่าสุด สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย (Thai Breast Disease Society: TBS) ร่วมกับชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (Thai Breast Cancer Community: TBCC) นำร่องแคมเปญเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ HER WILL “เพื่อเธอ” เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง พร้อมเปิดตัว แคมเปญแอมบาสซาเดอร์ คุณ บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ในฐานะผู้หญิงแกร่งที่จะมาร่วมเป็นกระบอกเสียงเพื่อต่อสู้กับมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตหญิงไทยเป็นอันดับหนึ่ง โดยภายในงานได้รับเกียรติจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลายท่าน อาทิ คุณ นุ๊กซี่-อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ ที่ตบเท้าเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การการวินิจฉัย แนวทางการรักษา และมุ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองและปัญหาด้านช่องว่างทางการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อผลักดันการขยายโอกาสทางการรักษาที่เท่าเทียม รวดเร็ว และมีคุณภาพยิ่งขึ้น
คุณบุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี แคมเปญแอมบาสซาเดอร์ กล่าวว่า “ทุกชีวิตและทุกช่วงเวลามีค่าเสมอ โดยเฉพาะกับคนที่เรารักและคนที่รักเรา บุ๋มอยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นกระบอกเสียงเพื่อเน้นย้ำถึงปัญหาสุขภาพระดับชาติอย่างมะเร็งเต้านม และความสำคัญของการ ‘รู้ไว เริ่มเร็ว หายทัน’ ที่มีค่าอย่างยิ่งต่ออัตราการรอดชีวิตและโอกาสการในการหายขาดของผู้หญิงไทย ดังนั้น เราไม่ควรนิ่งนอนใจที่จะเอาใส่ใจดูแลตัวเองและคนที่คุณรักก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป บุ๋มขอเชิญชวนผู้หญิงทุกคนหมั่นตรวจคลำเต้านมของตนเองอย่างสม่ำเสมอและเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมทุกปี โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อยและหมดประจำเดือนช้า ยังไม่มีบุตร มีภาวะอ้วน และรับประทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน บุ๋มขอฝากแคมเปญ HER WILL กับทุกคนด้วยนะคะเพื่อโลกที่มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมลดลง เพื่อโลกที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถหายขาดได้ เพื่อโลกที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมยังสวยและมั่นใจได้ เพราะไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออก และเพื่อโลกที่มะเร็งเต้านมไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เราทุกคนจะสู้ไปด้วยกัน เพื่อเธอ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม”
“คนจำนวนไม่น้อยอาจเข้าใจผิดว่าการรู้ไวเป็นเรื่องน่ากลัว แต่กลับกัน โรคมะเร็งเต้านมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ดังนั้น การรู้ไวและวินิจฉัยเร็วจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยชีวิตผู้หญิงไทยหลายต่อหลายคน รวมถึงนุ๊กซี่เอง เพราะนั่นคือการเพิ่มแนวโน้มที่จะหายขาดจากโรคมะเร็งเต้านม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมและปลดล็อคความหวาดกลัว เตรียมสภาพจิตใจและสภาพร่างกาย รวมถึงร่วมวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในฐานะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคนหนึ่ง นุ๊กซี่รู้สึกดีใจมากที่ล่าสุดมีแคมเปญดี ๆ อย่าง HER WILL คอยอยู่เคียงข้างผู้หญิงไทย เพื่อรณรงค์การรู้ไว เริ่มเร็ว หายทัน และร่วมแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายนี้ไปด้วยกันนะคะ นุ๊กซี่ขอเป็นอีกกระบอกเสียงร่วมสร้างความตระหนักและรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และหมั่นตรวจคลำเต้านมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก เพื่อโลกที่มะเร็งเต้านมจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป” นุ๊กซี่-อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่พบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม กล่าวเสริม
พลโท.รศ.นพ. วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มะเร็งเต้านมเป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งมีแนวโน้มของอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[1] โดยในปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียวพบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 22,158 ราย[2] และยังมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ดี มะเร็งเต้านมถือเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ถึง 90% - 100% หากตรวจพบในระยะแรกเริ่ม ด้วยเหตุนี้ จึงริเริ่มแคมเปญ HER WILL ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม รวมทั้งกระตุ้นเตือนสตรีไทยให้ตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ และเริ่มต้นการรักษาให้เร็ว ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการหายขาดมากขึ้น”
ปัจจุบัน นวัตกรรมการรักษามะเร็งเต้านมมีหลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับประเภทความผิดปกติของยีนและระยะของโรค ไม่ว่าจะเป็นยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับผลข้างเคียงที่น้อยลงเมื่อเทียบกับแนวทางการรักษาในอดีต จากสถิติพบว่าประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักพบ HER2-positive ซึ่งส่งผลให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้นและตอบสนองต่อการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนน้อยลง[3] “นวัตกรรมยามุ่งเป้าที่พัฒนาขึ้นใหม่จึงนับได้ว่ามีส่วนยกระดับคุณภาพการรักษา เนื่องจากกลไกการทำงานของยามุ่งเป้าชนิดใหม่นี้ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ช่วยให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาได้ดี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่าแนวทางการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้าชนิดใหม่ควบคู่กับยามุ่งเป้าชนิดเดิมที่มีอยู่ ประกอบกับการทำเคมีบำบัดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ดียิ่งกว่าการใช้ตัวยามุ่งเป้าชนิดเดิมเพียงอย่างเดียว และสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งในระยะแรกก่อนผ่าตัด ไปจนถึงระยะแพร่กระจาย โดยช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ลดขนาดของก้อนมะเร็ง รวมไปถึงลดโอกาสการกลับมาของมะเร็งหลังผ่าตัด จนอาจกล่าวได้ว่ายามุ่งเป้าชนิดใหม่สามารถเพิ่มโอกาสการหายขาดของโรคมะเร็งเต้านมได้ในผู้ป่วยบางรายด้วย” พลโท.รศ. .นพวิชัย กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ภายในงานเปิดตัวแคมเปญยังเผยแพร่คลิปวิดีโอ HER WILL “เพื่อเธอ” เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์การรักษาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะต่างๆ รวมทั้งเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย หรือการรักษา โดยหวังว่าคลิปวีดีโอนี้จะมีส่วนกระตุ้นเตือนให้ผู้หญิงใส่ใจการตรวจเต้านมด้วยตนเอง รวมถึงเข้ารับการตรวจ mammogram อย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะหากพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ย่อมมีแนวโน้มที่อัตราการรอดชีวิตจะสูง แต่หากเข้ารับการรักษาในระยะแพร่กระจายแล้ว การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพก็มีส่วนสำคัญต่อเส้นทางการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเช่นกัน
ทั้งนี้ แคมเปญ HER WILL ยังได้รับการอนุเคราะห์จาก บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) และ TikTok ที่จะร่วมสร้างและส่งต่อความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และร่วมรณรงค์การ ‘รู้ไว เริ่มเร็ว หายทัน’ ในลำดับต่อไป
เชิญชวนชาวไทย ร่วมทำแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงมะเร็งเต้านมฟรีได้ที่ https://herwill.wellcancer.com เพื่อร่วมรณรงค์ต่อสู้กับมะเร็งเต้านม เพื่อชีวิตของเขาและเธอ ไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ HER WILL “เพื่อเธอ” เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง และข่าวสารกิจกรรมดีๆ ที่กำลังจะตามมาอีกมากมาย สามารถเข้าชมได้ที่ https://herwill.wellcancer.com และสามารถรับชมสารคดีสั้นชุด HER Will “เพื่อเธอ” เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง : To Chase Away Cancer for a Better World โดย บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ได้ที่ https://www.facebook.com/watch/?v=549299092735777&extid=NS-UNK-UNK-UNK-UNK_GK0T-GK1C
[1] สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/148394)
[2] Global Cancer Obsrvatory, World Helath Organisation (https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/populations/764-thailand-fact-sheets.pdf)
[3] สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์https://www.chulacancer.net/faq-list-page.php?id=305