ขนมจีน มีน้ำยากี่แบบ?
น้ำยาขนมจีนมีกี่แบบกันนะ? นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างกำลังกินขนมจีนแล้วน้ำยากระเด็นมาโดนเสื้อ(ก็คิดไปได้) แต่เวลาไปหลายๆร้านมันมีให้เลือกเยอะจริงๆ ไม่นับเวลาออกต่างจังหวัดแล้วเห็นสูตรแปลกๆอีก เลยพยายามถาม พยายามดูหลายๆที่ว่ามันมีน้ำยากี่แบบกันแน่ แล้วแต่ละแบบนั้นมีความเด็ดตรงไหนบ้าง
มีหลายแบบ
จากที่ลองถาม ลองหาดูพบว่ามันมีหลายแบบมากจนนับไม่ถูก มันมีการพัฒนาจนไปถึงมีการเอาแกงกะหรี่มาเป็นน้ำราดขนมจีน
แต่ก็พบว่าหลักๆ เด่นๆ ก็มีจะมีอยู่ราวๆ นี้
- แกงเขียวหวาน – หอมๆมันๆกินเพลิน ป้าร้านขนมจีนบอกว่าที่หลายร้านใช้ไก่ติดกระดูกเพราะน้ำมันจะหอมกว่า
- แกงไตปลา – รสจัด เผ็ดร้อน เปรี้ยวหน่อยๆ มีสูตรใส่กะทิและไม่ใส่กะทิ หอมเครื่องเทศ
- แกงเนื้อ – จะออกหวานรสเนื้อ บางที่ก็คล้ายแกงเขียวหวาน หอมๆ นัวๆ
- น้ำเงี้ยว – เค็ม เผ็ด เปรี้ยว เป็นรสชาติที่มาจากทางเหนือ
- น้ำพริก – ชื่ออาจจะดูเผ็ด แต่เท่าที่ลองหลายๆร้านก็จะออกหวานนิดๆ รสชาติจะหวาน เผ็ด มัน เป็นอีกรสชาติที่กลมกล่อมทานง่ายพอสมควร
- น้ำยากะทิ – อีกหนึ่งรสชาติที่คนทานเยอะที่สุด เพราะมันดูทานง่าย หลักๆส่วนผสมมาจาก ปลาช่อน ลูกชิ้นปลา กะทิ เคี่ยวจนจะเป็นเนื้อเดียวกัน
- น้ำพริกขยำ – สูตรน้ำยาทางใต้ มีการใส่กะปิ กลิ่นจะออกหอมๆ รสเค็มนิดๆ
- แกงป่า – เผ็ดร้อน แซ่บ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
หลักๆ ที่เห็นจะมีประมาณนี้ แล้วแต่ละภาคหรือแต่ละร้านก็จะผสมๆ กันไป เช่น แกงป่าก็มีใส่ไก่หรือตีนไก่ น้ำยากะทิก็มีสูตรของแต่ละภาค มีสูตรแต่ละร้านต่างกันไป
เกร็ดความรู้ส่งท้าย
- ขนมจีน ไม่น่าจะมาจากจีน แต่น่าจะเริ่มมาจากชาวมอญ
- คำว่า จีน น่าจะมาจากภาษามอญ
- คำว่า คนอมจิน หมายถึงการทำให้สุก 2 ครั้ง
- คนอม แปลว่า จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน
- จิน แปลว่า ทำให้สุก