4 ผลเสียที่เกิดจากการอดนอนเรื้อรัง ส่งผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง
โดยปกติแล้วในแต่ละวันเราควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนสึกหรอได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันการใช้ชีวิตในปัจจุบันทำให้คนเรามีพฤติกรรมการอดนอนมากขึ้น จนกลายเป็นพฤติกรรมธรรมดาที่ทุกคนต่างเคยชินกันไปแล้ว วันนี้เราได้นำเอา 4 ผลเสียที่เกิดจากการอดนอนเรื้อรังมาแชร์ให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ ซึ่งผลเสียที่เกิดจากการอดนอนเรื้อรังมีดังนี้
1.เกิดอาการหลับกลางอากาศ
อาการงีบหลับสั้นๆ ที่หลายคนเคยเผชิญมีชื่อเรียกว่า “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน” ซึ่งเป็นผลกระทบที่ได้จากการอดนอนเรื้อรัง เกิดจากการที่สมองส่วน Thalamus ของคนที่อดนอนหรือนอนไม่เพียงพอหยุดทำงานช่วงสั้นๆ แบบชั่วคราว อาจมีระยะเวลาของการหลับประมาณวินาทีหรืออาจจะนานถึงครึ่งนาที ซึ่งอาการเช่นนี้ทำให้ผู้ที่อดนอนเรื้อรังเกิดอาการงีบหลับ ไม่ตื่นตัว รับรู้ช้า และไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใดๆ อาการนี้ถือเป็นอันตรายต่อผู้ที่กำลังขับรถหรืออยู่ในระหว่างการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วหรือความแม่นยำ
2.เกิดอาการทางจิต
แน่นอนว่าการอดนอนเรื้อรังมีส่วนทำให้เกิดภาวะโรคทางจิต หรือที่เรียกว่า Psychosis เช่น มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ระแวงกลัวว่าจะมีคนมาทำร้าย และหลงผิด บ้างก็มีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้ว หรือที่เรียกว่า Bipolar Disorder ซึ่งอาการของโรคอารมณ์สองขั้วจะมีลักษณะ อารมณ์ร่าเริงสนุกสนานผิดปกติ หรือมีอารมณ์เศร้าผิดปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย ซึ่งอารมณ์หงุดหงิดจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอดนอนด้วยเช่นกัน
3.ส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าการอดนอนแบบโดยทั่วไป ก็มีโอกาสส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ซึ่งแน่นอนว่าการอดนอนเรื้อรังย่อมให้ผลกระทบที่หนักกว่านั้นมาก เพราะการอดนอนเรื้อรังส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้ทำงานผิดไปจากเดิม เช่น สมองส่วนหน้าสุดจะทำให้การเรียนรู้จากคำพูดแย่ลง และส่วนของกลีบสมองบริเวณขมับจะทำให้การเรียนรู้ด้านภาษาช้าลง
4.เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ผลการศึกษาทางการแพทย์รายงานว่า ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะและความจำไม่ดีจำนวนหนึ่งนั้น เมื่อได้ทำการตรวจเอกซเรย์สมองพบว่ามีอาการหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งเมื่อได้สืบประวัติของผู้ป่วยย้อนหลังพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำนวนมากมีประวัติการนอนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการนอนหลับเพิ่มขึ้น ก็พบว่าหลอดเลือดสมองตีบตันมีอาการดีขึ้น
จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 ผลเสียที่เกิดจากการอดนอนเรื้อรังนั้นล้วนสร้างอันตรายต่อชีวิตของคนเราได้เสมอ ซึ่งวิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็คือการพยายามนอนให้เพียงพอ และไม่ควรอดนอนเหมือนที่ผ่านมา เพราะอาจทำให้อาการต่างๆ เกิดขึ้นอีกครั้งจนรักษาให้หายได้ยากนั่นเอง