"เอแคลร์ จือปาก" จากชีวิตติดลบ สู่บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง ได้ดีเพราะมี "แม่"
เบื้องหลังจากแนวคิดดีๆ เบื้องหลังความสำเร็จของหลายคน หลายครั้งมักมาจากผู้หญิงที่เรียกว่า "แม่" อย่าง "เอแคลร์ จือปาก" หรือ "ชาติศักดิ์ มหาทา" ที่แม้จะเกิดและเติบโตในชุมชนแออัด แต่ด้วยการเลี้ยงดูของผู้เป็นแม่ ที่มอบทั้งความคิดบวก มองการณ์ไกลในการใช้ชีวิต สอนการต่อสู้ดิ้นรน จนสิ่งเหล่านั้นหล่อหลอมให้ในเวลาต่อมา จนกลายเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง เจ้าของเพจ "จือปาก" ยูทูบเบอร์ที่มีคนติดตามกว่าครึ่งล้าน สู่ความประสบความสำเร็จ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง และเป็นเจ้าของบ้านมูลค่า 30 ล้านบาท ภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี
ถามว่าความสนิทกัน เต็ม 10 ให้กันเท่าไหร่ "แม่-ลูก" ตอบแบบไม่ต้องคิดเยอะว่า "ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้ 11 เลยค่ะ สนิทกันมาก คุยกันได้ทุกเรื่อง ตัวติดกันมาตั้งแต่เด็ก จนทุกวันนี้ยังต้องนอนกับคุณแม่และคุณยายอยู่เลย"
ย้อนกลับไป ตอนเด็กๆ คุณแม่เลี้ยงลูกแบบไหน
คุณแม่ : กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ เลี้ยงลูกแบบปล่อย แม่ไม่ค่อยดุ
เอแคลร์เองมองตัวเองอย่างไร ตอนเด็ก เป็นเด็กแบบไหน
เอแคลร์ : กล้าแสดงออกตั้งแต่เด็ก เราไม่เข้าใจเรื่องของความอายของเพื่อนเรา เราสงสัย เช่น เวลาไปเสนองานหน้าห้อง เพื่อนจะเกี่ยงกัน จะอาย เราจะบอกเพื่อนเสมอว่า ไปคนแรกก็ดี ถ้าผิดจะได้แก้ไข พยายามบอกเพื่อนว่าอย่าอาย สุดท้ายก็เป็นตัวเราเองที่ได้ออกไปเป็นคนพรีเซนต์หน้าห้อง พอโตขึ้นมาสังเกตลักษณะการทำงานต่างๆ เพิ่งรู้ว่าคนแบบเรา เรียกว่ามีความมั่นใจ
จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตที่มีมากกว่าหนึ่งครั้ง
เอแคลร์ : ตอน ป. 1 ใกล้สอบปลายภาคคุณพ่อเสีย แต่ตอนนั้นไม่รู้จักการเสียชีวิต มันเด็กมาก พอ ป. 4 มีกิจกรรมวันพ่อ เริ่มเรียนรู้ว่าพ่อไม่กลับมาแล้ว ก็นั่งร้องไห้ในพิธี บอกตัวเองว่าเราต้องโตแล้ว เราจะสานต่อพ่อเอง พอถึงช่วง ป.6 มีความใฝ่ฝันอยากเข้าสาธิตจุฬา เพราะอยากเป็นหมอ และมีข่าวใหญ่เลย คือไฟไหม้สลดรับวันวาเลนไทน์ ไฟไหม้ช่วงตี 2 เหมือนในละครมาก ผู้หญิงแบกโอ่ง ไฟแดงไปทั่ว บ้านเราเป็นบ้านไม้ เราก็โกยเอกสาร หนังสือเรียน ไฟไหม้เกลี้ยงเลย ทำให้มีหนี้ที่ติดตัวเพิ่ม ต้องหากู้เงินเพิ่ม เป็นหนี้ก้อนใหญ่แบบก้าวกระโดด
จุดไหนที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จัก
เอแคลร์ : ด้วยความที่เอแคลร์บ้านอยู่ชุมชนแออัดคลองเตย อีเวนต์ใหญ่คืองานทอดกฐิน ที่บ้านมีการจัดทุกปี มีปีหนึ่งจัดโดยเช่ารถบัสมา แล้วบนรถมีดีเจเปิดเพลงบนรถ เราจำเสียงดีเจที่เค้าพูดได้ เป็นคำพูดที่ว้าวมาก พอมีจังหวะเลยให้คุณแม่ไปผ่อนกล้องดิจิตอลที่สยาม เพราะเราไม่เคยได้ของขวัญตั้งแต่เด็ก เราบอกแม่ว่า หนูเรียนเก่ง ไม่เคยขอของขวัญสักชิ้น แม่เลยพาไปผ่อนกล้อง ราคา 23,000 บาท เราอยากได้มาก ที่สยามมีแต่คนรวย เราไปนั่งกรอกเอกสารเยอะมาก สำหรับการกู้เงิน ลุ้นมากว่าจะผ่านไหม สรุปก็ได้กล้องตัวนั้นมา เราก็พูดกับแม่ไปว่า "กล้องตัวนี้จะหาเงินให้เรา" สรุปเราได้มาทำคลิปแต่งหน้า
ตอนนั้นสงกรานต์กำลังจะมา เลยทำคลิปแต่งหน้าสงกรานต์ แล้วทำเสียงเหมือนดีเจบนรถบัส เป็นคอนเทนต์ไม่เหมือนคนอื่น พอลงคลิปไปในเพจเฟซบุ๊ก ภายในคืนเดียวคนดูเป็นล้านวิว ตั้งแต่วันนั้นมาเอแคลร์เลยได้มาเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ มีงานมาจองคิว จ่ายเงินให้เรารีวิวสินค้า จองข้ามปี ตั้งแต่สงกรานต์ปีนั้น ยันสงกรานต์อีกปีหนึ่งมีงานทุกวัน และได้เป็นบิวตี้บล็อกเกอร์คนแรกๆ ที่ได้ออกรายการทีวีเยอะมากจนถึงปัจจุบัน คลิปนั้นคือจุดเปลี่ยนของชีวิต
ย้อนไปช่วงที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน เอแคลร์เคยคิดบ้างไหม ว่าเราตัดสินใจถูกหรือผิด
เอแคลร์ : เราอยากเข้าเรียนมหาลัยรัฐบาล คณะอักษร แต่เอกอะไรก็ได้ ตอนแอดมิชชั่นเราสอบติดคณะเลขานุการแพทย์ พอติดเรามานั่งดูวิชาที่ต้องเรียน รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา เราตั้งใจจะเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลอย่างเดียว แต่ไม่ติด เลยพยายามหามหาวิทยาลัยเอกชนที่มันน่าจะตอบโจทย์เราได้บ้าง เลยได้มหาวิทยาลัยรังสิต เราไม่รู้จักที่นี่เลย สรุปวันที่ไปสมัคร เพื่อนพาไปแบบงงๆ เลือกเรียนคณะที่กู้เรียนได้ คือคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จ่ายไปประมาณ 5-6 หมื่น เป็นเงินที่เยอะมาก ที่มาของเงินก้อนนี้ จริงๆ บ้านเราไม่มีเงินเลย เรานำบัตรสินเชื่อที่มีทั้งหมดในบ้านมารูดแล้วรวมกัน แล้วเรารู้ ก่อนหน้านี้เราทำงานทุกอย่าง ทำงานห้าง ล้างจาน แพ็กของ พนักงานโบกธงตามคอนโค ทำหมดทุกอย่าง ก็เก็บเงินมาเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย บวกกับแม่เอาบัตรสินเชื่อมารูดเอาเงินออกมา ยืมเงินป้าด้วยไปสมัครเรียน เรารู้สึกว่าเราเลือกแล้วที่ต้องเรียนที่นี่ รู้ว่าต้องตื่นให้เช้ากว่าคนอื่น แล้วเสาร์ อาทิตย์ก็ต้องไปหางานทำ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย ขอให้ได้เรียนก่อน
เป็นการตัดสินใจที่ถูกมาก ถ้าวันนั้นไปเรียนที่อื่นมหาวิทยาลัยที่คุณภาพเด็กแบบเดียวกันไปอยู่รวมกัน วันนั้นเอแคลร์ก็อาจจะมีความคิดที่เป็นแบบเพื่อน แบบที่เราโตมา แต่ที่รังสิต ต้องยอมรับว่ามีแต่เด็กรวยมาอยู่รวมกัน ดังนั้นชีวิตของเอแคลร์เลยได้เห็นโลกใหม่ๆ พออยู่ไป มันทำให้เรารู้ว่าเด็กธรรมดาแบบเรา สามารถอยู่กับเขาได้นะ และคนกลุ่มนี้เขายอมรับเพื่อนแบบเราได้ ทำให้รู้ว่าตัดสินใจถูกที่ข้ามกระโดดมาอยู่แบบนี้ รู้สึกดีมากๆ
คุณแม่ลำบากขนาดไหน ช่วงที่เอแคลร์เรียน
คุณแม่ : ต้องกู้เงินนอกระบบ จ่ายรายวันทุกวัน เงินไม่พอ เอาบัตร ATM ไปจำนำ พอเงินเดือนออกก็ต้องหักหนี้ก่อน
เอแคลร์ : แต่ละเดือนแม่จะเหลือเงินประมาณ 4 พันบาทมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งไม่พอ สิ่งที่แม่ทำได้คือ 5 โมงเย็นก็ออกตระเวนยืมเงิน ยืมท้ายซอย โป๊ะหน้าปากซอย เป็นแบบนี้ทุกวัน แม่เป็นสาวโรงงาน ลำบากมาก แต่สิ่งหนึ่งที่แม่ไม่ยอมคือ ไม่ยอมให้ลูกไปลำบากหาเงิน แม่อยากเลี้ยงลูกให้ได้ อยากส่งเสียลูกให้ได้ สิ่งที่เอแคลร์ทำได้ คือแอบไปหาทำงาน แอบขายเสื้อผ้าตามห้าง เป็นพนักงานห้าง เงินที่กู้ กยศ. มา มันเพียงพอต่อค่าเทอม แต่มันยังมีค่าส่วนอื่นด้วย เราเลยต้องหามาจ่ายเพิ่มเติมไป
เราเห็นว่าแม่ไปหากู้เงินทุกวัน เราสงสารแม่ แต่ถามว่าคิดผิดไหม ทุกวินาทีที่เรียนรู้สึกว่าเลือกไม่ผิดเลย ทุกอย่างมันตอบโจทย์ทางใจเรามาก สังคม เพื่อนรอบตัวคือดีมากๆ คือเข้าใจมาโดยตลอดว่าเขาจะเหม็นกลิ่นคนแบบเรา สรุปไม่เลย เพื่อนดีมาก เราชื่นใจมากที่มีเพื่อนที่ดี เราหางานทำเพิ่ม ทำทุกอย่าง และเรียนไปด้วย
เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ท้อไหม ที่ต้องเลี้ยงลูก 3 คนเพียงคนเดียว
คุณแม่ : บางทีก็ท้อ แต่มันก็ต้องทำ อยากให้ลูกเรียนสูงๆ ต้องทน ทำงานก็ยืนคิดเหมือนกันว่าทำงานก็ต้องส่งดอกเขาหมด แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ ตอนนั้นลูกกำลังเรียนอยู่ กู้เงินหมุนเวียนไป จนกว่าลูกๆ จะเรียนจบ
อะไรคือแรงผลักดันในการใช้ชีวิตทั้งของคุณแม่ และเอแคลร์
เอแคลร์ : สำหรับเอแคลร์เราเห็นแม่เรา แม่เราเป็นแค่สาวโรงงาน พยายามส่งเราไปอยู่ในจุดที่ดี ทุกสเต็ปในชีวิต ตั้งแต่เกิดมาเลย ตอนเด็กรู้ว่าชอบเต้น ก็ส่งไปเรียนเต้น คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนทุกอย่างเต็มที่ตั้งแต่เด็ก พอคุณพ่อเสียชีวิต คุณแม่ต้องกลายมาเป็นเสาหลัก เราเห็นแม่ทำงานหนัก สิ่งที่เราตอบแทนคุณแม่ได้ คือการตั้งใจเรียน ทุกครั้งที่เอแคลร์ไปเรียน จะนึกถึงภาพแม่ที่ทำงานอยู่ในโรงงาน แม่เราเหนื่อย แม่เรายืนทำงานในโรงงาน
คุณแม่ : เราอยากให้เรียนก็ต้องขยันทำงานทุกวัน วันไหนหยุดก็ต้องไปทำงาน เพราะได้ 2 แรง ได้เงิน 2 เท่า
คิดไหมว่าจะมาถึงจุดนี้
เอแคลร์ : หลายคนถามนะ เราไม่เชิงคิด แต่ก็คิดมาโดยตลอดว่าคนที่มีความสามารถจะต้องมีคนเห็นค่าในความสามารถของตัวเรา ถ้าเราตั้งใจทำอย่างต่อเนื่องมันต้องมีคนเห็น และสุดท้ายก็มีคนเห็นจริงๆ ค่ะ
มีอะไรประทับใจที่สุดในตัวลูกคนนี้
คุณแม่ : เขาขยันมาก รู้ว่าเราลำบากก็ดิ้นรนหางาน เราไปแอบดูเวลาลูกทำงาน ก็แอบสงสารลูกเหมือนกัน
สิ่งที่เอแคลร์คิดว่าเหตุการณ์ไหนดีใจที่สุดที่ได้เกิดมาเป็นลูกของแม่
เอแคลร์ : ดีใจทุกวันที่เกิดเป็นลูกแม่ ตั้งแต่เกิดมาเลย ดีใจทุกสเต็ปที่เกิดมาเลย
สิ่งที่เอแคลร์คิดว่าทำให้แม่ภูมิใจที่สุดในชีวิตคืออะไร
เอแคลร์ : ถ้าคนอื่น อาจจะตอบว่าหนีออกจากชุมชนแออัดมาซื้อบ้าน 30 ล้านได้ อาจจะเป็นจุดนี้ แต่สำหรับเอแคลร์แค่เป็นคนดีของแม่ แม่ก็น่าจะดีใจแล้ว เพราะเราเป็นคนที่โตมาในชุมชนแออัด ภาพจำของคนอื่น อาจจะต้องติดยาเสพติด แต่เราไม่เป็นแบบนั้น นั่นคือสิ่งที่แม่น่าจะภูมิใจที่สุดแล้ว
คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้างที่วันนี้เอแคลร์ สามารถประสบความสำเร็จได้ แม้ว่าต้นทุนเราอาจจะไม่ได้มาก
คุณแม่ : ดีใจ แม่ไม่รู้ด้วยว่าลูกซื้อบ้าน ไม่คิดว่าลูกจะซื้อบ้าน ไม่คิดว่าลูกจะทำได้
เอแคลร์ : ชีวิตเอแคลร์ตั้งแต่เป็นบิวตี้บล็อกเกอร์มา 5 ปี ไม่เคยบอกแม่ว่าเราทำงานอะไร ตอนที่ดังข้ามคืนเราก็ไม่เคยพูดไรเลย เรารู้สึกว่าตอนเด็กไปทำงานห้าง ทำงานโบกธง ตอนนี้เราแค่เปลี่ยนสายงานมาทำงานหน้ากล้อง มันก็คืองาน ทุกวันนี้เราบอกกับแม่ทุกวันว่าเราไปทำงาน เอแคลร์ทำธุรกิจหลายอย่างมาก ร้านเล็บ เครื่องสำอางมากมาย มีอยากทำอสังหาริมทรัพย์ แต่พอโควิดรอบแรกที่เข้าเมืองไทย เราหลอนมาก เดินอยู่คนล้มตาย เราเลยเป็นภาพจำ คุณยายเราป่วย ยายก็ต้องเดินเยอะมากเพื่อไปลานจอดรถ บ้านเราอยู่ชุมชนแออัด บ้านกับลานจอดรถอยู่ไกลกันมาก เราก็มองภาพ ทำไมยายเราต้องมาเดินอยู่ในที่แบบนี้อยู่ เราเลยเปลี่ยนแผนไม่ซื้อบ้านเพราะขาย แต่ซื้อบ้านเพราะอยู่ แต่เราคาเกินความฝันไปหน่อย แต่มันใช่มาก เราสามารถต่อยอดมาทำคอนเทนต์ได้
ด้วยความที่ชีวิตผ่านอะไรมาพอสมควร เอแคลร์ อยากบอกอะไรกับลูกๆ ที่เกิดมาในครอบครัวที่อาจจะไม่ได้พร้อม
เอแคลร์ : มีคนมาถามหากำลังใจจากเราเยอะ เราเป็นหนึ่งคนที่เกิดมากับความไม่พร้อม ทำไงให้ชีวิตมันดีขึ้น แต่คำว่าไม่พร้อม บางทีมันอาจไม่มีอยู่จริงก็ได้ ไม่มีใครเกิดมาไม่พร้อม แค่เราเกิดมาแล้วพูดได้ สื่อสารได้ เกิดมาครบ 32 คือเราพร้อมแล้ว ถ้าเกิดในชุมชนแออัด สิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากคนอื่นคือการตั้งใจเรียน เอแคลร์จะบอกกับรุ่นน้องเสมอว่า เราเรียนเพื่อให้รู้ว่านี่คือการเรียน ไม่ต้องสนใจว่าเราจะเรียนได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ ต้องเรียนเพื่อให้ได้สังคมใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต พัฒนาชีวิต เอาตัวเองออกมาจากจุดเดิมให้ได้ พยายามฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาว่าเป็นแค่เด็กสลัมทำไมฝันเกินตัว ทำไมซื้อบ้าน 30 ล้าน ไม่มีคำว่าเกินตัว ความฝันก็คือความฝัน ก็ฝันให้มันยิ่งใหญ่ จะมีใครอยากเกิดมาเดี๋ยวเรียนจบสร้างกระต๊อบอยู่ สร้างสังกะสี ถ้าเราจะฝันต้องฝันให้ใหญ่และต้องเชื่อว่าเราทำได้ และจะไปถึงเอง
คุณแม่มีอะไรที่อยากฝากในมุมมองของแม่ แม่ในยุคปัจจุบันควรเป็นอย่างไร
แม่ : พอเห็นอนาคตลูก ชีวิตมันก็ชื้นขึ้นมาหน่อย ตอนแรกก็คิดว่าทำยังไง อยากให้ชีวิตลูกดีขึ้นมา แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราหนี้เยอะ เราไม่ต้องอะไรกับลูกมาก แค่บอกให้ลูกตั้งใจเรียนพอ เป็นความหวังของแม่
เอแคลร์ : ต่อให้เราจนจริง แต่สิ่งที่เราได้รับคือ ได้รับพลังงานบวกจากแม่ตลอด แม่ไม่เคยพูดว่าบ้านเราจน แม่พูดเสมอว่าบ้านเราไม่มีตังค์ จนคือไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ไม่มีตังค์แค่ไปหาตังค์จะได้มีตังค์ ตั้งใจทำงาน สิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่เด็กคือ การที่แม่ชมลูก แต่ไม่ได้หลับหูหลับตาชมนะ ชมลูกในทางที่ดี ลูกจะมีกำลังใจในการใช้ชีวิตไปเองค่ะ
วันแม่ในความรู้สึกของเอแคลร์ และคุณแม่คืออะไร
เอแคลร์ : มันเป็นแค่วันวันเดียว เป็นวันที่เราอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน มีให้ทุกวันอยู่แล้ว
แม่ : รักลูกทุกวัน ไม่มีคำว่าวันไหนวันแม่
วันแม่ปีนี้อยากบอกอะไรลูก และอยากบอกอะไรคุณแม่
คุณแม่ : อยากบอกลูกว่า ความฝันของเขาที่อยากจะทำอะไร ก็ขอให้สมปรารถนา อยากสู้อะไร ก็สู้ไปสุดๆ อยากให้ลูกได้ดิบได้ดี พอเห็นลูกมีก็ดีใจแล้ว
เอแคลร์ : อยากบอกว่า แม่ก็เหนื่อยมาทั้งชีวิตแล้ว เราเห็นมาตลอดว่าแม่เหนื่อย แม่ทำงานพระราม 2 มีโควิดระบาดหนัก ก็เลยบอกว่าออกจากงานได้แล้ว แม่เพิ่งออกจากงานเลย อยากให้แม่ได้นอนพักอยู่บ้านแล้ว
ด้วยความพยายามของตัวเอง บวกกับแรงสนับสนุนเกินร้อยจาก "แม่" ทำให้ "เอแคลร์" จากชีวิตติดลบ ล้มลุกคลุกคลาน เรื่องจริงมีชีวิตที่ไม่ต่างจากในละคร สู้ไม่ถอย จนผลักดันตัวเองและครอบครัวสู่ความสำเร็จได้ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ