7 สิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนลูก เพื่อเสริมสร้างสภาพจิตใจเด็ก
พ่อแม่ผู้ปกครอง มักจะมีความกังวลในความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเองเสมอ หลักๆ ก็คือ พวกเขาจะสอนเด็กๆ ให้เติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพ ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร
ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้คนเราสามารถก้าวข้ามความกลัว อุปสรรค และผ่านพ้นความท้าทายที่ยากที่สุดในชีวิตไม่ใช่ความสามารถของคนคนนั้น แต่เป็นสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งต่างหาก! ต่อให้เป็นคนที่มีความสามารถเก่งกาจแค่ไหน แต่ถ้าใจไม่สู้ ก็ไปไม่รอด
ฉะนั้น การเสริมสร้างสภาพจิตใจให้แข็งแกร่งตั้งแต่วัยเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอน ฝึกฝน และอดทนอย่างมาก เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาสภาพจิตใจให้แข็งแกร่งและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นธรรมชาติ เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นมาอยู่ในวัยหนุ่มสาวและประสบความสำเร็จ พวกเขามีพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็ง และมีสิ่งที่พวกเขามักจะทำอยู่เสมอ หากคุณต้องการเสริมสร้างสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งให้กับบุตรหลาน คุณควรสอนอะไรพวกเขาบ้าง
1. สอนให้พวกเขาเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง
หากลูกของคุณกลับมาจากโรงเรียน แล้วบอกว่าตัวเขารู้สึกแย่ที่เห็นเพื่อนได้คะแนนดีกว่า พวกเขากำลังให้คนอื่นเข้ามามีอำนาจ มีอิทธิพลเหนืออารมณ์ของตัวเอง ขณะเดียวกัน เด็กที่ไม่เอาอารมณ์ตัวเองไปผูกไว้กับคนอื่นหรือสิ่งอื่น สิ่งนั้นก็จะไม่มีอิทธิพลเหนืออารมณ์ของพวกเขา พวกเขายังอารมณ์ดี และไม่ได้โทษตัวเอง แม้ว่าเพื่อนจะสอบได้คะแนนดีกว่าตัวเองก็ตาม
ไม่ว่าลูกของคุณจะต้องทำงานกับใครในสังคม สอนให้พวกเขารับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง ด้วยความสามารถที่ดีที่สุดของตัวเองก็พอ ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครทั้งนั้น เช่น “ฉันทำได้” “ฉันกำลังพยายามอย่างหนักอยู่” “ฉันมั่นใจ” “ฉันจะสนุก” เสียงความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองนี้ จะกลบความรู้สึกเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นมาด้อยค่าด้อยศักยภาพของตัวเด็กเองได้ พวกเขาจะเห็นคุณค่าและนับถือตัวเอง และทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ
2. สอนให้พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
การที่คนเราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องใช้เวลาสักพักในการปรับตัว อย่างเด็ก ๆ ที่ต้องย้ายโรงเรียน สำหรับเด็กบางคนมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก เดี๋ยวเดียวก็ปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ ครูใหม่ โรงเรียนใหม่ได้ แต่กับเด็กอีกหลาย ๆ คน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ว่าจะทำให้ชีวิตของพวกเขาแย่ลง คุณต้องสอนให้ลูกของคุณรู้จักกับอารมณ์ของตัวเอง ณ เวลานั้น การเปลี่ยนแปลงทำให้รู้สึกไม่สบายใจอย่างไร การรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จะบรรเทาความกังวลลงได้
เด็ก ๆ ที่ปรับตัวเข้ากับโรงเรียนใหม่ได้ง่าย แรกเริ่มพวกเขาก็มีความกลัว ความกังวลเหมือนกัน เพียงแต่พวกเขารู้ว่าตอนนี้ตัวเองกำลังกลัว แต่ก็เข้าใจดีว่าการย้ายโรงเรียน พบเจอคนใหม่ ๆ สามารถช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นได้อีกขั้น แต่ปกติเรามักไม่ค่อยใช้เวลาในการพิจารณาความรู้สึกตัวเอง ก็เลยระบายออกมาไม่ถูกวิธี ถ้าลูกของคุณต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หาเวลาพูดคุยกับพวกเขาอย่างละเอียดว่าตอนนี้พวกเขารู้สึกอย่างไร (หรือช่วยพวกเขา) และพยายามอธิบายออกมาเป็นคำที่เหมาะสม เช่น เศร้า มีความสุข หงุดหงิด ประหม่า สนุก แล้วแก้ไปทีละจุด
3. สอนให้พวกเขาพูดปฏิเสธเมื่อถึงคราวจำเป็น
หลายคนมีปัญหาในการปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น รวมถึงมีปัญหาในการแสดงความรู้สึกเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองไม่พอใจ ไม่เต็มใจ แล้วความหนักหนาทั้งหมดก็มารวมไว้อยู่ที่ตัวเอง ฉะนั้น ต้องสอนให้เด็ก ๆ พูดปฏิเสธให้เป็นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กล้าหาญที่จะพูดว่า “ไม่” จะทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น แรก ๆ พวกเขาอาจรู้สึกว่ามันยากและอึดอัดที่ต้องพูดปฏิเสธ แต่ถ้าคุณฝึกฝนพวกเขาบ่อย ๆ พวกเขาจะรู้สึกว่ามันง่ายขึ้น การที่พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธในสถานการณ์ที่อึดอัดหรือไม่เต็มใจ จะช่วยลดความเครียดจากการผูกมัดจากสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการทำ
คุณต้องฝึกให้ลูกของคุณลองเผชิญหน้ากับการตัดสินใจว่าจะ ตกลง หรือ ปฏิเสธ พวกเขารู้สึกเป็นทุกข์ไหมถ้าต้องตอบตกลง แล้วพวกเขาเต็มใจไหมที่จะต้องไม่มีความสุขหากตอบตกลง ถ้าพวกเขาไม่ต้องการที่จะเป็นทุกข์เพราะตกลงรับเงื่อนไขมา ก็ให้กล้าหาญที่จะพูดว่า “ไม่” แต่ถ้าไม่ได้รู้สึกว่าทุกข์ร้อนอะไร ก็ตอบ “ตกลง” ได้เลย ทั้งนี้ ต้องสอนวิธีตอบปฏิเสธแบบสุภาพให้พวกเขาด้วย และการปฏิเสธบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลเสมอไป
4. สอนให้พวกเขาผิดพลาดเป็น และยอมรับความผิดพลาด
เด็กหลายคนมักจะเก็บซ่อนและปฏิเสธความผิดพลาด เพราะพวกเขาคิดว่ามันจะเป็นปัญหาให้พวกเขาถูกตำหนิ เช่น การลืมทำการบ้าน หรือทำของมีค่าหาย มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะปิดปากเงียบ เพราะกลัวว่าจะต้องถูกดุหากพ่อแม่รู้ ซึ่งมันจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีติดตัวไปในอนาคต พ่อแม่จึงต้องสอนให้พวกเขากล้าหาญที่จะรู้ว่าตัวเองกำลังทำผิด เมื่อรู้ว่าผิด ก็ต้องเตรียมใจที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดด้วย พวกเขาจะขอโทษเป็น และหลีกเลี่ยงที่จะผิดพลาดแบบเดิมอีกครั้ง
วิธีการ คือ คุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ถ้าลูกของคุณเป็นเด็กที่ขี้ลืม ก็เป็นไปได้ว่าจะลืมทำการบ้านอยู่บ่อย ๆ หรือการที่มีขนมกรุบกรอบเต็มบ้าน ก็อาจจะห้ามใจเรื่องการกินขนมได้ยาก ดังนั้น เมื่อเขาผิดพลาด ให้เตือนว่าพวกเขาจะแก้ปัญหานั้นอย่างไรจะได้ไม่ผิดซ้ำสอง ถ้ากลัวจะลืมทำการบ้าน ให้พวกหาสมุดมาจดทันทีที่ครูมอบหมายงาน หรือพยายามไม่ซื้อขนมที่ทำลายสุขภาพเข้าบ้าน อย่างน้อยพวกเขาก็หากินได้ยากขึ้น
5. สอนให้พวกเขารู้จักชื่นชม ยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น
เป็นเรื่องปกติที่เด็ก ๆ จะรู้สึกอิจฉาเมื่อเพื่อนได้ของเล่นชิ้นใหม่เป็นรางวัลที่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่คุณควรรู้ก็คือ ความรู้สึกในแง่ลบที่ลูกของคุณมีต่อเพื่อนคนอื่นนั่นแหละที่ทำร้ายตัวลูกของคุณเอง ในขณะที่เพื่อนของพวกเขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย คุณจึงต้องสอนให้พวกเขารู้จักการชื่นชม สนับสนุน และยินดีกับความสำเร็จของคนอื่น ๆ เมื่อเห็นว่าเขาสำเร็จได้ก็เพราะพยายามทำงานอย่างหนัก เมื่อถึงเวลาของลูกของคุณ พวกเขาก็จะตั้งใจทำเรื่องของตัวเองให้ดีที่สุด โดยไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่น
วิธีสอน คุณอาจต้องให้ลูกของคุณหาต้นแบบที่พวกเขาชื่นชม แล้วลองทำหลาย ๆ วิธี เพื่อที่จะเป็นเหมือนต้นแบบของพวกเขา (แต่ไม่ใช่การเลียนแบบ) สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขามั่นใจในตัวเอง มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณสมบัติแบบนั้นอยู่แล้ว เพียงแค่พยายามดึงออกมาใช้ ขณะเดียวกัน ระวังการเลียนแบบ เพราะการเลียนแบบ พวกเขาจะกลายเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง การมองคนอื่นเป็นต้นแบบคือความต้องการที่จะประสบความสำเร็จแบบต้นแบบ ด้วยวิธีการของตัวเอง และเมื่อพวกเขารู้สึกดีกับตัวเอง การยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นก็จะง่ายขึ้น
6. สอนพวกเขาว่าถ้าล้มเหลว ก็แค่ลองอีกครั้ง
นิยามของคำว่าล้มเหลวที่พวกเราเข้าใจกันดีก็คือ มันเป็นความเจ็บปวด ทำให้รู้สึกอับอาย ผิดหวัง รู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ต้องไม่ลืมว่ากว่าจะประสบความสำเร็จ คนทุกคนเคยล้มเหลวกันมาก่อนแล้วทั้งนั้น เช่นเดียวกัน เด็กที่จิตใจเข้มแข็ง พวกเขาจะสนใจว่าจะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นสาเหตุของความล้มเหลวอย่างไร โดยที่ไม่จมอยู่กับความผิดหวัง พวกเขาจะมีกรอบความคิดที่จะเปลี่ยนความล้มเหลวให้เป็นประสบการณ์และการเรียนรู้เชิงบวก จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจ หากพวกเขาได้เกรดวิชาภาษาต่ำ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เก่งวิทยาศาสตร์!
คุณสามารถสอนพวกเขาได้ โดยที่คุณต้องสอนให้พวกเขาเข้าใจว่าเรื่องราวความสำเร็จมากมายนั้นล้วนเริ่มต้นด้วยความล้มเหลวมาก่อน พวกเขาต้องมุ่งไปที่การแก้สิ่งที่ผิดพลาด วิธีการเดิม ๆ ไม่อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ใหม่ ลองให้พวกเขารู้จักคนที่เคยผิดพลาดมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็ยังทำอะไรบางอย่างสำเร็จ เช่น ทอมัส เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ และสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมอื่น ๆ อีกมากมาย ทว่า เขาก็มีสิ่งประดิษฐ์อีกนับพันรายการที่เขาทำมันไม่สำเร็จ
7. สอนให้พวกเขารู้จักให้กำลังใจตัวเอง
กว่าจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งระหว่างนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกท้อแท้ เหนื่อย อยากพัก สมองจะเริ่มสั่งการให้เราหยุดพยายามแล้วยอมแพ้ ในขณะที่เด็กที่มีสภาพจิตใจเข้มแข็ง พวกเขาจะยังอดทนอย่างมุ่งมั่นต่อไป แม้ว่าจะรู้สึกเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม และเมื่อพวกเขาทำอะไรได้สำเร็จ พวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองเก่งและแข็งแกร่งกว่าที่คิดไว้ในตอนแรก
เพราะฉะนั้น คุณควรสอนให้ลูกของคุณ เขียนจดหมาย หรือ เขียนบันทึก ส่งถึงตัวเอง จะสั้นหรือยาวก็ได้ ซึ่งข้อความในนั้นก็เป็นข้อความที่ให้กำลังใจตัวเอง ขอบคุณตัวเอง และใจดีกับตัวเองให้มาก ๆ เช่น “ฉันรู้นะว่าสิ่งต่าง ๆ มันยาก แต่เชื่อสิว่าฉันทำได้ เพราะฉันเคยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายมาแล้ว ครั้งนี้ฉันก็จะทำได้เหมือนกัน” ทุกครั้งที่พวกเขารู้สึกอยากจะยอมแพ้ ก็บอกให้พวกเขากลับไปอ่านจดหมายที่เขียนหาตัวเอง มันจะช่วยให้พวกเขาเข้มแข็งและมั่นคงในการยืนหยัดมากขึ้น