ชาวจีนวัย "Millennial" เปลี่ยนลุครักชาติ! ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณพุ่งขึ้น 50%

ชาวจีนวัย "Millennial" เปลี่ยนลุครักชาติ! ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณพุ่งขึ้น 50%

ชาวจีนวัย "Millennial" เปลี่ยนลุครักชาติ! ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณพุ่งขึ้น 50%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยอดขายเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นที่ประณีต ดอกไม้สวยๆ อย่าง โบตั๋น หรือสัตว์ที่เป็นสิริมงคลต่างๆ เช่น มังกรและนกยูง กำลังได้รับความนิยมจากชาวจีนวัย Millennial และโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุราว 20 – 30 ปี เป็นอย่างมาก

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองคำในจีนนั้นพุ่งสูงขึ้นถึง 2 เท่าภายในครึ่งแรกของปี 2021 นี้เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีก่อนหน้านี้ ทำให้ตลาดทองที่ซบเซาในช่วงการระบาดของโควิดเริ่มกลับมามีสีสันอีกครั้ง

นักวิเคราะห์ตลาดอธิบายว่าเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณ (heritage gold) นั้นต้องใช้ฝีมือการผลิตจากช่างอัญมณีที่มีทักษะสูง ราคาของสวยงามประเภทนี้จึงแพงกว่าเครื่องประดับทองคำทั่วไปอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์

ทางด้าน ฉาว ไท ฟุค บริษัทผลิตเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน บอกว่าเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณของบริษัทนั้นทำยอดขายภายในประเทศได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในปีงบประมาณล่าสุด ซึ่งยอดดังกล่าวนั้นสูงกว่าของปีก่อนหน้าถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงถือว่าเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณ มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเครื่องประดับประเภทอื่นๆ

เพราะเหตุใดเครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณจึงได้รับความนิยม?

เหตุผลข้อแรกที่ทำให้ความต้องการในตลาดสูงขึ้นนั้น นักวิเคราะห์บอกว่าเกิดจากกระแสรักชาติจีนที่กลุ่ม Millennial ในประเทศจีนซึ่งเป็นประชากรที่เกิดระหว่างช่วงปี 1985-1995 ต้องการแสดงออก โดยโรแลนด์ แวง ผู้อำนวยการของ World Gold Coucil China บอกว่า กลุ่มผู้บริโภควัย Millennial ใส่ทองพวกนี้เพื่อตอบโต้แบรนด์ทางฝั่งตะวันตก ที่มักออกมากล่าวหารัฐบาลจีนถึงการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและมักแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานและการปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง

เหตุผลข้อต่อไป คือการช้อปออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคโควิด ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ชาวจีนเข้าถึงเครื่องประดับประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่กลุ่มผู้บริโภควัย Millennial อยู่อย่างหนาแน่น อย่าง กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้

คุณ เกา ซึ่งเป็นนามสมมุติของสตรีวัย 29 ปีคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นผู้บริหารในมณฑลเจียงซู บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “การระบาดของโควิดนั้นทำให้มีการทำไลฟ์ขายเครื่องประดับทองคำมากขึ้นบนโลกออนไลน์ ซึ่งฉันก็ยอมรับว่ามันทำให้ฉันควักเงินซื้อของพวกนี้มากขึ้นจริงๆ” โดยปีนี้ เธอใช้เงิน 30,000 หยวน หรือ ราวๆ 150,000บาทไทยเพื่อซื้อสร้อยข้อมือและปิ่นปักผม ที่มีลายเส้นจีนมาใส่ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังบอกด้วยว่าเธอมีแผนจะมอบเครื่องประดับเหล่านี้ให้บุตรสาวของเธอไว้ใช้ต่อไป

ทั้งนี้สภาวะเศรษฐกิจของจีนและการจับจ่ายของคนในประเทศจีนที่คึกคักทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองคำพุ่งสูง ในช่วงเวลาเดียวกับที่ความต้องการทองคำในประเทศอินเดียลดลงอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของโควิดในอินเดียชะลอการจัดงานแต่งงานและการให้สินสอดที่ส่วนใหญ่เป็นทองคำ ซึ่งอินเดียนั้นก็เป็นประเทศที่ซื้อทองมากที่สุดเป็นอันดับสองในโลกรองจากจีน

ทิศทางของ Heritage Gold ในระยะยาว

สำหรับการคาดการณ์ถึงความต้องการเครื่องประดับทองคำสไตล์โบราณในระยะยาวนั้น ผู้จัดการของบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งในเซิ่นเจิ้นบอกว่าบริษัทของเขาทำยอดขายของเครื่องประดับประเภทนี้ในช่วงตรุษจีนได้ดีมาก มากกว่าเครื่องประดับทองแบบธรรมดาด้วยซ้ำ บริษัทจึงขยายหน่วยการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ด้านดีไซน์ของเครื่องประดับทองคำแบบจีนโบราณขึ้น และว่าพูดได้เลยว่าบริษัทผู้ผลิตอื่นๆ ในเซิ่นเจิ้นเองก็กำลังทำแบบนี้เช่นกัน

ขณะนี้สมาคมทองแห่งประเทศจีน (The China Gold Association) บอกว่า เครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณนั้นเป็นตัวผลักดันหลักของตลาดทองในจีนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะการระบาดของโควิด ซึ่งทางสมาคมคาดว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดเครื่องประดับประเภทนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

บริษัทวิจัยตลาดทองของจีน Beijing Zhiyan Kexin Consulting ก็พูดในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่า เครื่องประดับทองคำสไตล์จีนโบราณได้ขยายตัวขึ้นถึง 10 เท่าในช่วงปี 2017 ถึง 2019 และคาดว่าภายในปี 2024 ตลาดของเครื่องประดับชนิดดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท เลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook