คุณหมอเด็ก แนะนำ "ลูกหายป้องกันได้ เริ่มที่..."

คุณหมอเด็ก แนะนำ "ลูกหายป้องกันได้ เริ่มที่..."

คุณหมอเด็ก แนะนำ "ลูกหายป้องกันได้ เริ่มที่..."
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องหัวใจสลายตามแน่ๆ เมื่อได้ติดตามข่าวของ น้องจีน่า วัย 1 ขวบ 11 เดือน ที่หายตัวไปช่วงเย็นวันที่ 5 ก.ย. ขณะเล่นอยู่หน้าบ้าน กลับมาคิดว่าถ้าลูก หรือพี่น้องในครอบครัวของตัวเองหายไปจะทรมานแค่ไหน คุณหมอวิน ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ จาก เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ได้แนะนำไว้ว่า เมื่อลูกหาย ป้องกันได้ เริ่มที่... 

>> จับแล้ว เพื่อนพ่อรับ อุ้ม “น้องจีน่า” ไปปล่อยหน้าถ้ำบนดอย สังเวยผีถ้ำ

รู้หรือไม่ ในแต่ละปีมูลนิธิกระจกเงารับแจ้งเด็กหายถึง 200-400 คนต่อปี … นี่คือเฉพาะกลุ่มที่เด็กหายไปจากบ้านโดยตามไม่ได้ ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร …

ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มาถึงมูลนิธิกระจกเงา ก็คือ ‘เด็กเล็ก’ ที่เสียชีวิตจากการหายไปจากบ้าน แล้วมาพบกันอีกทีก็คือ #เสียชีวิตแล้ว โดยส่วนหนึ่งที่พบเห็นตามหน้าข่าวก็คือ #การจมน้ำตาย (ไม่ตายก็โชคดีไป) … ประวัติที่พบบ่อยมากก็คือ #การไม่มีผู้ใหญ่คอยประกบเด็กให้อยู่ในสายตา แล้วผู้ใหญ่เดินออกจากบ้านไปด้วยความประมาท อาจจะเพราะเห็นว่า เด็กหลับอยู่ โดยเฉพาะหากอยู่ในห้องที่ปิดได้ก็จะชะล่าใจเป็นพิเศษ … จากนั้นเมื่อเด็กตื่นไม่เจอใคร เด็กก็จะเริ่มเดินหา เปิดประตูออกจากบ้านมา แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันต่อจากนั้น ตกบ้านจากที่สูงบ้าง จมแหล่งน้ำใกล้บ้านบ้าง (ห้วย หนอง คลอง บึง รวมถึงแหล่งน้ำในบ้านอย่างตุ่ม ถัง ก็มีข่าวนาน ๆ ครั้ง) …

นี่เป็นสาเหตุที่พ่อหมอบอกเสมอว่า #เด็กต่ำกว่า_10_ควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ตลอดเวลา (หากทำได้) ตัวเลขอายุไม่มีเขียนไว้ชัดเจนแต่พ่อหมออ้างอิงตามตัวเลขของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เขาจะยอมให้เด็กอยู่คนเดียวได้หากจำเป็น และหากเป็นเด็กเล็ก #ห้ามคลาดสายตาโดยเด็ดขาด เพราะไม่กี่วินาทีที่คลาดสายตา อาจเปลี่ยนชีวิตเด็กและพ่อแม่ไปตลอดกาลได้เลยครับ …

ตัดภาพกลับมาที่เรื่องของ “เด็กหาย”

เมื่อพูดถึง ‘เด็กหาย’ หลายคนอาจจะเริ่มคิดถึงแก๊งลักพาตัวเด็ก ที่มาตีสนิท ล่อลวงเด็กด้วยขนม เงิน ของเล่น เกม หรือเข้ามาให้ไว้เนื้อเชื้อใจ แล้วลักพาตัวออกไปจากครอบครัว … โดยกลุ่มเป้าหมายของแก๊งหรือกลุ่มคนชั่วเหล่านี้คือเด็กอายุ 3-12 ปี … บ้างเอาไปกระทำทางเพศ บ้างเอาไปขอทาน บ้างล่อลวงไปเพราะความสิเหน่หา … และสำหรับประเด็นนี้ การป้องกันก็เริ่มที่ผู้ใหญ่อย่างเราอีกนั่นแหละ ที่หัวใจหลักเดิมก็คือ “เด็กต้องอยู่ในสายตาเสมอ” + #ภูมิคุ้มกันจากการถูกล่อลวง เพิ่มเติมอย่างการสอนและปลูกฝังเรื่อง #คนแปลกหน้า #พื้นที่สงวนของร่างกาย และ #การร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เข้าไป (ลองหาอ่านเรื่องนี้ในเพจได้ เคยเขียนไว้แล้วครับ) …

ห้ามประมาทโดยเด็ดขาด แม้สักวินาที เพราะขนาดอยู่ในบ้าน ไอ้พวกนี้ยังมีมาเตร็ดเตร่หน้าบ้านชวนลูกเราคุยด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วพาหายไปเลยจากหน้าบ้านก็มีครับ … แก๊งรถตู้ที่เปิดมาจับอุ้มขึ้นไปเลยตอนนี้ยังมีอยู่ไหมไม่รู้เนอะ แต่สมัยพ่อหมอเด็กๆ พ่อแม่เตือนตลอดว่าต้องระวังตัว …

แต่นั่นก็ยังเป็นส่วนน้อยนะครับ 555 หลายคนคงคิดในใจว่า นี่อุตสาห์อ่านมาถึงตรงนี้ … หมอพูดแต่ส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่ออะไร !? อย่าเพิ่งด่าครับ … ที่พูดก่อน ก็เพราะเหตุที่พูดมาก่อนหน้านี้ พวกเราในฐานะพ่อแม่ต่างสยองขวัญเนอะ กลัวคนมาลักพาตัวลูกไป … แต่หาใช่ ‘สาเหตุหลัก’ ที่เด็กหายในสังคมไทยนะครับ …

สาเหตุหลักที่เด็กหายออกจากบ้าน ก็คือ #เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน นั่นเอง โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 13-15 ปี ฟังดี ๆ นะครับ เด็กผู้หญิงหนีออกจากบ้านมากกว่าเด็กผู้ชาย … แน่นอนแหละว่า ‘สมัครใจ’ ในที่นี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการล่อลวง พาไปเล่นเกมบ้าง เที่ยวบ้าง หรือถูกใจกันผ่านโลกออนไลน์แล้วหนีไปหากันบ้าง โดยข้อมูลชัดเจนว่า #วัยรุ่นที่หนีออกจากบ้านมีแนวโน้มที่จะมีเซ็กส์กับบุคคลที่ไปด้วย … และนำไปสู่ปัญหาอีกมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นการท้องในวัยรุ่น การไม่ได้รับการศึกษา และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

และแน่นอน … ปัญหาเหล่านี้แก้ไม่ได้ด้วยการเซ็นเซอร์หน้าอกชิซูกะในการ์ตูนโดเรมอน หรือความดัดจริตทางสังคมของไทยเรื่องเพศศึกษา (ซึ่งควรจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ได้แล้ว) …

#ทำบ้านให้น่าอยู่และปลอดภัย ไม่ใช่ที่ที่กลับไปเจอแต่พ่อแม่ทะเลาะกัน เด็กทำอะไรก็ผิดไปหมด โดนด่าตั้งแต่หน้าบ้านยันท้ายบ้าน … เขาจะได้ไม่ต้องไปหาความอบอุ่นจาก ‘คนอื่น’ นอกบ้าน … #เรื่องเพศต้องพูด ตั้งแต่เล็ก ๆ และเพิ่มดีกรีตามอายุที่เหมาะสม สุดท้ายคือ #ปลูกฝังหัวคิดให้คิดเป็น ทันคนทันโลกทันข่าวสาร หรือศัพท์สวย ๆ ก็คือ Critical Thinking หรือความคิดเชิงวิพากษ์ ไม่ใช่ใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด รู้เท่าทันคนแปลกหน้า … และแน่นอน #รับฟังลูกให้มากแบบไม่ต้องตัดสินเสียหมด เขาจะได้เล่าเรื่องราวชีวิต ความเห็น ความชอบให้เราฟัง จะได้เจอสัญญาณอันตรายในชีวิตของลูกได้เร็ว … #รู้จักเพื่อนลูกให้ครบ หากทำได้ลามไปครอบครัวเพื่อนลูกด้วยก็ดี เวลาเกิดอะไรขึ้นจะได้รู้ว่าต้องตามที่ใครก่อน … ไม่ใช่เพื่อนลูกคือใครก็ไม่รู้ ลูกทำอะไรก็ไม่รู้ ไปไหนก็ไม่รู้ เวลามีอะไรขึ้นทีก็ยากล่ะเนอะ

อ้อ ลืมพูดเรื่องเด็กพลัดหลงกับพ่อแม่ในที่สาธารณะด้วยเนอะ ประเภทสะบัดมือพ่อแม่แล้ววิ่งหนีหายไปเลย อันนี้เจอไม่บ่อย ส่วนใหญ่หาเจอ แต่ยังไงก็ต้องระมัดระวังด้วยนะครับ … ส่วนตัวเวลาออกไปนอกพื้นที่บ้านและหมู่บ้านปิด ไม่นั่งรถเข็น ก็จูงมือ อุ้ม หรือไม่ก็ใช้สายจูงเด็กเสมอ กลัวเกิดอุบัติเหตุ ตกบันไดห้าง ตัดหน้ารถ มากกว่าลูกหายเนอะ … ใด ๆ ก็ป้องกันลูกหายด้วยแหละ …

แจ้งคนหายโทรศูนย์ประชาบดี 1300

ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา 1900-190-199

ไม่ต้องหายครบ 24 ชม. ก็แจ้งได้เลยครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook