ชฎา รำไทย เคยอยู่ในมิวสิคพอปสตาร์ระดับโลก ไมเคิล แจ็คสัน Black or White
วัฒนธรรมไทยเปิดตัวสู่วัฒนธรรมพอปอย่างเป็นทางการพร้อมความฮิตของซิงเกิลเพลง Black or White ของ พอปสตาร์ระดับโลก ไมเคิล แจ็คสัน (Michael Jackson) ซึ่งทำยอดขายอันดับ 1 ในบิลบอร์ด ชาร์ต ตั้งแต่เริ่มวางแผงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1990 และยืนหนึ่งต่อเนื่องนานถึง 7 สัปดาห์ใน 20 ประเทศ ครองอันดับเพลงขายดีที่สุดในปี ค.ศ.1992 จากการรวมยอดขายจากทั่วโลก
นอกจากความสำเร็จของเพลงแล้ว มิวสิควิดีโอในรูปแบบหนังสั้นก็ยังได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง หลังการเปิดตัวรอบพรีเมียร์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 ฉายทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ทั้ง MTV, BET, VH1 และ Fox พร้อมกับอีก 25 ประเทศทั่วโลก ทำสถิติเรตติ้งด้วยจำนวนผู้ชมสูงสุดเท่าที่เคยมีมาโดยสามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในมิวสิควิดีโอเพลงนี้มีการนำความหลากหลายวัฒนธรรมและเชื้อชาติจากทั่วโลกเข้ามาเป็นคีย์ และในนั้นก็มีซีนนางรำไทยใส่ชฎาทัดมาลัยดอกไม้เข้ามาสร้างความฮือฮาด้วยเช่นกัน
เบื้องหลังความสำเร็จ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของ Black or White คือผู้กำกับ จอห์น แลนดิส (John Landis) ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด เจ้าของผลงานภาพยนตร์แนวแฟนตาซีระทึกขวัญที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นยุค 80 อย่าง An American Werewolf in London ที่ซ่อนนัยแห่งความเป็นคนประหลาดอยู่ผิดที่ผิดทางและต้องการการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม และในครั้งนี้ จอห์น แลนดิส ได้ร่วมกับไมเคิล แจ็คสัน สร้างตำนานมิวสิควิดีโอเพลงมารองรับการเกิดของสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ MTV (Music Television) ที่ออกแบบรายการมาเพื่อเผยแพร่ภาพและเสียงที่เรียกว่ามิวสิควิดีโอโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ที่ฮิตมากในต้นยุค 80
จอห์น แลนดิส และ ไมเคิล แจ็คสัน พลิกประวัติศาสตร์วงการเพลงไปตลอดกาลด้วยการทำมิวสิควิดีโอเพลงที่เรียกว่า ทริลเลอร์ (Thriller) เป็นเพลงเปิดตัวของ ไมเคิล แจ็คสัน ในฐานะศิลปินเดี่ยวหลังจากที่เขาแยกตัวมาจาก The Jackson 5 วงพออปโซลร้องประสานเสียง 5 พี่น้องของตระกูลแจ็คสัน ซึ่งไมเคิลเป็นนักร้องนำเสียงใสมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ โดยทริลเลอร์เป็นรูปแบบของมิวสิควิดีโอที่เล่าเรื่องชนิดเป็นเรื่องเป็นราวในรูปแบบหนังสั้น ประสานกับช่วงลิปซิงค์และเต้นรำ เหมือนละครเพลงหรือมิวสิคัลขนาดสั้นก็ว่าได้
สำหรับมิวสิควิดีโอเพลงนี้เป็นเพลงโปรโมทจากอัลบั้ม Dangerous เปิดตัวปี ค.ศ. 1991 ถือเป็นอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 8 ของไมเคิล แจ็คสัน โดยในปี ค.ศ. 1991 ตรงกับยุคที่ ไมเคิล แจ็คสัน ก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินพอปที่ดังที่สุดในโลกก็ว่าได้ วัดจากสถิติยอดขายทั้งงานเพลงในยุคที่ยังเป็นแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ท (ยังไม่มีดาวน์โหลดฟรี) และยอดขายบัตรคอนเสิร์ตทั่วโลก อีกทั้ง ไมเคิล แจ็คสัน ได้รับฉายาว่าเป็น King of Pop และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินพอปที่เน้นการร้องกับการเต้น มาจนถึงยุค K-Pop ในปัจจุบัน
ขณะที่ในชีวิตจริง ไมเคิล แจ็คสัน เชื้อสายแอฟริกันอเมริกันผู้มีผิวสีเข้มได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ ทั้งการศัลยกรรมจมูกและริมฝีปากให้เรียวเล็กลง และเปลี่ยนสีผิวจากดำเป็นขาว จนทำให้เกิดข้อกังขาว่า ไมเคิลอาจไม่พอใจอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและสีผิวในเรือนร่างของเขาหรือเปล่า แม้ไมเคิลจะมีเอกสารทางการแพทย์รองรับว่า ผิวที่เปลี่ยนสีอย่างสิ้นเชิงของเขา เป็นผลลัพธ์ของอาการของโรคด่างขาว ซึ่งเป็นโรคผิดปกติทางผิวหนัง แต่เขากลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ นินทา หรือสมัยนี้ก็คือ บูลลี่ อย่างหนักผ่านสื่อถึงอัตลักษณ์ของเขา และไมเคิลเลือกที่จะตอบโต้ด้วยการเขียนเพลงพร้อมจัดแพคเกจมิวสิควิดีโอ สื่อสารด้วยภาพและเสียงในเพลง Black or White ดนตรีที่มีทั้งเบรกบีต ร็อค การร้องทั้งแร็พและโซล กับท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งวิธีการร้องที่ใส่ฟีลมากกว่าเทคนิค โดยเนื้อเพลงได้โยนคำถามกับคนฟังว่า มันจะยังสำคัญอยู่ไหมที่เราต้องแบ่งแยกกันด้วยความขาวความดำ
เนื้อหาในมิวสิควิดีโอ ยังถ่ายทอดความหมายของเพลงที่พุ่งเป้าไปที่ความหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว เผ่าพันธุ์ สื่อสารความคิดความในใจของเขา ช่วงที่ชีวิตของเขาเผชิญกับคำถามเรื่องอัตลักษณ์ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติและสีผิวของเขาว่า ตกลงเขาเป็นคนขาวหรือคนดำ เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เป็นชนเผ่าหรือเป็นชาวเมืองศิวิไลซ์ ทั้งนี้มิวสิควิดีโอเพลง Black or White ตอกย้ำสารของการให้ความหมายการเป็น มนุษย์พลเมืองโลก มีหลากหลาย โดยราชาเพลงพอปคนนี้ได้ตะโกนบอกโลก และทวงถามสังคมในการเป็นพลเมืองโลก ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว อยู่ในส่วนไหน หรือวัฒนธรรมใด หรือเพศใด ทุกคนก็ล้วนเป็นพลเมืองโลกไม่ใช่หรือ ไม่เกี่ยวว่าจะขาวหรือดำ
“And I told about equality and it’s true
Either you’re wrong or you’re right
But, if you’re thinkin’ about my baby
It don’t matter if you’re black or white.”
อัตลักษณ์ที่หลากหลายของพลเมืองโลกที่ไมเคิล แจ็คสัน เลือกใส่ในมิวสิควิดีโอของเขา สื่อผ่านศิลปะการเต้นรำและเครื่องแต่งกายแนวประเพณีนิยมของชาติพันธุ์ต่างๆ อีกทั้ง ไมเคิล แจ็คสัน เจ้าของท่าเต้นเป็นเอกลักษณ์ก็ได้ร่วมเต้นรำกับท่ารำประเพณี เหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าในแอฟริกา ชนเผ่าอินเดียนแดงพื้นเมืองอเมริกัน นาฏศิลป์อินเดีย และนางรำไทยในชุดผสมผสานระหว่างนางรำฟ้อนเล็บ กินรี และรำฉุยฉายมิกซ์กับความพอปของดนตรี เป็นการสื่อสารที่บ่งบอกถึงความหลากหลายและการสอดประสานกันระหว่างผู้คนอย่างไม่แบ่งแยก
ในช่วงสุดท้ายของมิวสิคเพลง Black or White หลังจบเพลงมีฉากเสือดำกลายร่างเป็นไมเคิล แจ็คสัน และไมเคิล สาธิตท่าเต้น โดยไม่มีเสียงเพลง ถ่ายทอดอารมณ์จากภายในด้วยท่วงท่าเคลื่อนไหว พลังที่พุ่งออกมาปะทะทำลายวัตถุในซอยมืดและแคบ ก่อนที่จะคืนร่างไปเป็นเสือดำ เป็นการให้คำตอบเชิงเปรียบเปรยถึงอัตลักษณ์ตัวตนที่เป็นมากกว่าแค่ ผิวหนัง ร่างกายภายนอก
นิตยสาร โรลลิง สโตน (Rolling Stone) สื่อมวลชนสายดนตรีทรงอิทธิพลของอเมริกา ได้ยกให้เพลง Black or White เป็นเพลงยอดเยี่ยมที่สุดของไมเคิล แจ็คสันในยุค 90 ทั้งด้านดนตรีและเนื้อเพลงที่ส่งสารเรียกร้องให้ยอมรับความหลากหลายของเชื้อชาติสีผิว นี่ไม่ใช่เพลงประท้วงแต่เป็นเพลงป็อปที่ฮิตติดหู แฝงพลังแห่งการคิดบวก ส่วนไทยเราเอง Black or White คือเพลงพอปเพลงแรกที่นำอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมออกไปปรากฏให้คนทั่วโลกได้เห็น
ชมมิวสิควิดีโอเบื้องหลัง การถ่ายทำ Black or White Michael Jackson – The making of Black or White – Complete Film โดย Mike Smallcombe ได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=kpOblKVixEY&t=8s