7 ความจริงเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดขอดที่ต้องระวัง ป้องกันไม่ให้เป็นแผลเรื้อรังได้ผล

7 ความจริงเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดขอดที่ต้องระวัง ป้องกันไม่ให้เป็นแผลเรื้อรังได้ผล

7 ความจริงเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดขอดที่ต้องระวัง ป้องกันไม่ให้เป็นแผลเรื้อรังได้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทราบหรือไม่ว่าโรคเส้นเลือดขอดมักถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ท้ายๆ ของปัญหาสุขภาพ ซึ่งบางคนมักคิดว่าเป็นปัญหาเล็ก จนเกิดการละเลยและไม่ได้รับการรักษา จนทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรัง ดังนั้นเราจึงนำความจริงเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดขอดมาบอกสาวๆ ทุกคนเพื่อที่จะสามารถระมัดระวังและหมั่นสังเกตอาการให้ดี จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นแผลเรื้อรังตามมาได้ จะมีอะไรบ้างนั้นไปอ่านพร้อมๆ กันเลยค่ะ


1.ยาทาหรือครีมภายนอกรักษาไม่หาย
เส้นเลือดขอดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้จากการทายาหรือทาครีมภายนอก เพราะโรคชนิดนี้ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค และตรวจร่างกายด้วยอัลตราซาวนด์แบบพิเศษสำหรับหลอดเลือดโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อสามารถประเมินหาสาเหตุที่แอบแฝง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำหลังจากรักษาหายแล้ว


2.เกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย
เส้นเลือดขอดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบมากที่สุดคือบริเวณขา ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและกำลังตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนปกติ และจากตัวเลขของคนไข้ที่เข้ารับการรักษาโรคเส้นเลือดขอดจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ทั้งนี้ผู้ชายที่เป็นโรคเส้นเลือดขอดและเข้ารับการรักษามักมาด้วยอาการที่รุนแรง


3.นั่งหรือยืนนานๆ เสี่ยงเป็นได้
พฤติกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่อาศัยการนั่งหรือยืนนานๆ เสี่ยงต่อการทำให้เป็นโรคเส้นเลือดขอด โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ทำอาชีพเป็นครู พยาบาล แอร์โฮสเตส และสาวออฟฟิศที่นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ


4.เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้
แม้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ก็ยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยผู้ที่ต้องอยู่ในท่ายืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ควรหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ และหมั่นออกกำลังกายทุกวันเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และยังเป็นการบีบตัวให้เลือดเกิดการไหลเวียนดีขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายมีน้ำหนักมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดๆ และใส่ส้นสูง จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคเส้นเลือดขอดได้


5.มีสัญญาเตือนแสดงอาการ
โรคเส้นเลือดขอดมีสัญญาณเตือนแสดงอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น เริ่มจากมีอาการปวดตึง รู้สึกหนักหน่วงบริเวณขา และมีอาการบวมที่ขาส่วนล่าง หากมีอาการดังกล่าวนี้ควรพบแพทย์ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้อาการหนักแล้วจึงค่อยไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจทำให้อาการยิ่งลุกลามได้


6.ระดับความรุนแรงแตกต่างกัน
โรคเส้นเลือดขอดมีความรุนแรงในระดับที่ต่างกัน เริ่มตั้งแต่มีให้เห็นเส้นเลือดฝอยเล็กๆ เห็นหลอดเลือดโป่งพองลักษณะคดเคี้ยวคล้ายตัวหนอน สีผิวเปลี่ยนจนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผิวหนังแห้งแข็ง ถึงขั้นเกิดอาการอักเสบจนเป็นแผล


7.การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง
การรักษาโรคเส้นเลือดขอดแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคด้วยเช่นกัน มีตั้งแต่การรักษาแบบประคับประคอง ฉีดยาที่เส้นเลือดขอด ใช้เลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูง ไปจนถึงวิธีผ่าตัด


7 ความจริงเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดขอดที่เราได้กล่าวไปข้างต้น อาจจะช่วยให้หลายๆ คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกาย และหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่อาจทำให้เป็นโรคชนิดนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะใครที่กำลังเผชิญกับโรคชนิดนี้อยู่แต่อาจจะยังไม่มีอาการที่รุนแรง ก็สามารถรับการรักษาจากแพทย์ได้ทันท่วงที เพราะโรคเส้นเลือดขอดไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook