“แม้อ่านหนังสือถึง 2 ชั่วโมงก็สูญเปล่าเพราะสมาร์ทโฟน!” ผลเสียของเกมต่อสมองของเด็ก
การเล่นสมาร์ทโฟนและเกมทั้งวันเป็นภาพปกติในยุคปัจจุบัน เด็กๆ จะจำและเลียนแบบภาพที่พ่อแม่ดูหน้าจอจนคิดว่าการเล่นเกมหรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานเป็นเรื่องปกติไม่มีผลเสียหายแต่อย่างใด ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการอ่านของเด็กชาวญี่ปุ่นได้เตือนถึงผลเสียของสมาร์ทโฟนและเกมต่อพัฒนาการเรียนรู้และทางปัญญาของเด็กๆ ไว้ดังนี้ค่ะ
การติดเกมมีผลต่อสมองของเด็กอย่างไร
การติดเกมนั้นเกิดจากการที่ในระหว่างเล่นเกมสมองหลั่งสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า โดพามีน ออกมา สารชนิดนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวตื่นเต้น หากปล่อยไว้ไม่แก้ไขเด็กที่เล่นเกมตั้งแต่เล็กจะติดไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ จนเกิดโรคติดเกมที่ต้องการการบำบัดตามมา
ในการสำรวจในเด็กญี่ปุ่นอายุ 10-17 ปีพบว่า ร้อยละ 80 เล่นเกม และพ่อแม่ร้อยละ 80 จะควบคุมเวลาเล่นเกมของลูก จากงานวิจัยศึกษาผลของเกมต่อสัณฐานวิทยาของสมองและหน้าที่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในเด็กช่วงวัย 5-18 ปี โดยการถ่ายภาพสมองและวัดระดับเชาว์ปัญญาเป็นช่วงๆ ในเวลา 3 ปี พบว่า การเล่นเกมเป็นเวลานานจะส่งผลต่อความฉลาดทางภาษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำศัพท์และเหตุผลทางภาษา และทำให้การพัฒนาของเนื้อเยื่อในสมองชะลอตัวด้วย โดยจากภาพถ่ายพบว่าความหนาแน่นของเซลล์ที่ควบคุมความจำ การควบคุมตัวเอง และแรงจูงใจจะต่ำ ซึ่งจะส่งผลในการยับยั้งพัฒนาการ นอกจากนี้ยังพบว่าเปลือกสมองส่วนหน้าสุด (Prefrontal cortex) จะไม่ทำงานภายในเวลา 30-60 นาทีหลังจากเล่นเกมเป็นเวลานาน และแม้ว่าอ่านหนังสือก็จะจำและเข้าใจเนื้อหาได้น้อย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าระหว่างการเล่นเกมจะมีเลือดไหลไปเลี้ยงเปลือกสมองส่วนหน้าสุดซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดและควบคุมพฤติกรรมบุคคลได้น้อยลงจนขัดขวางการทำหน้าที่ของมัน แตกต่างจากการอ่านหนังสือที่จะส่งเสริมการสร้างเส้นใยประสาท ส่งผลให้สามารถจำคำศัพท์ อ่านจับใจความ และมีพัฒนาการด้านภาษาที่ดี
เกมและสมาร์ทโฟนกับผลการเรียน
จากงานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างเวลาการใช้สมาร์ทโฟนและความสามารถในด้านการเรียนด้านวิชาการของเด็กญี่ปุ่นตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงมัธยมปีที่ 3 พบว่า แม้จะเรียนหรืออ่านหนังสือวันละมากกว่า 2 ชั่วโมง แต่หากเล่นเกมและใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 4 ชั่วโมง เด็กจะมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟนที่อ่านหนังสือวันละประมาณ 30 นาที ซึ่งอธิบายผลเสียที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลดังนี้ คือ การเล่นเกมหรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานส่งผลให้เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าไม่ทำงานในเวลา 30-60 นาทีหลังจากการเล่นเกมเป็นเวลานาน และแม้ว่าจะอ่านหนังสือก็จะจำและเข้าใจเนื้อหาได้น้อย อีกเหตุผลคือ การไม่มีสมาธิเพราะคิดเรื่องเกม หรือหากไลน์คุยกับเพื่อนก็จะกังวลในเรื่องราวที่สนทนากันระหว่างตนและกลุ่มเพื่อน หรือตั้งหน้าตั้งตารอข้อความตอบรับที่ส่งไปหาเพื่อน เป็นต้น
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ใหญ่ยื่นสมาร์ทโฟนให้เด็กเป็นทางเลือกในการคลายเหงามากขึ้น พ่อแม่และผู้ใหญ่หลายท่านคิดว่าเป็นการฝึกการใช้เทคโนโลยีให้แก่เด็กในการเรียนรู้ในยุคที่มีการระบาดของไววัส การใช้เพื่อการศึกษาอาจจะจำเป็น แต่การให้เด็กเล่นเกมหรือเล่นไลน์เป็นเวลานานก็อาจจะส่งผลเสียต่อการเรียนได้ นอกจากนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจะเห็นถึงโทษของสมาร์ทโฟนที่มีต่อลูกหลานแล้ว ผู้ก่อตั้งเทคโนโลยี IT อย่างสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ก็ไม่เคยวางไอแพดของเขาไว้ใกล้ลูก และบิล เกตส์ (Bill Gates) ก็ไม่ยอมให้ลูกชายของเขาใช้สมาร์ทโฟนก่อนอายุ 14 ปี
เหรียญมีสองด้านเช่นเดียวกับอุปกรณ์เครื่องใช้เทคโนโลยีที่มีทั้งคุณและโทษอยู่ที่เราจะเลือกใช้ให้เป็น หากลูกหลานอายุยังน้อยอยู่ก็หลีกเลี่ยงการยื่นหน้าจอให้เขา แต่ให้เขาออกกำลังกายโดยการวิ่งเล่นและอ่านหนังสือกันไปก่อน หรือหากให้เล่นก็ควรกำหนดเวลาเล่นเกมและใช้สมาร์ทโฟนที่ชัดเจนค่ะ