พ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยง vs ลูกเลี้ยง ความท้าทายของการแต่งงานใหม่

พ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยง vs ลูกเลี้ยง ความท้าทายของการแต่งงานใหม่

พ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยง vs ลูกเลี้ยง ความท้าทายของการแต่งงานใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การหย่าร้างของคู่แต่งงานที่ไปกันไม่รอด และการแต่งงานใหม่ของคนที่เคยหย่าร้างแยกทางกับคนรักเก่าไปแล้ว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในสังคมปัจจุบัน หากความรักครั้งนี้ (และครั้งหน้า) เป็นเรื่องของคนเพียง 2 คน มันก็ไม่มีอะไรที่น่ากังวลอะไร แต่…การแต่งงานใหม่ของคนที่เคยหย่าร้างไปแล้ว แล้วมี “ลูกติด” จะกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามทันที และจะโกลาหลไปอีกขั้นเมื่อเกิดความสัมพันธ์แบบ “พ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยงใจยักษ์” กับ “ลูกเลี้ยงตัวแสบ จอมลามปามไม่มีมารยาท” ขึ้น

จริงๆ แล้ว การแต่งงานใหม่ทั้งที่มีลูกติดไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก ๆ คือ สภาพจิตใจของเด็กที่เป็น “ลูก” เพราะจิตใจของเด็กนั้นละเอียดอ่อน และยิ่งเป็นเรื่องชวนอ่อนไหวอย่างเรื่องพ่อแม่เลิกกัน พ่อแม่จะแต่งงานใหม่มีลูกใหม่ ตัวเองจะมีพ่อใหม่แม่ใหม่ ยิ่งทำให้เด็กคิดลึก คิดมาก กังวลใจมากเกินความเป็นจริงจนอาจกู่ไม่กลับ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับการแต่งงานใหม่ของพ่อหม้าย/แม่หม้ายลูกติด


เด็กไม่เปิดใจยอมรับ

ปัญหาสุดคลาสสิก คือการที่ลูกเลี้ยงไม่เปิดใจยอมรับสมาชิกใหม่ให้เป็นพ่อหรือแม่คนใหม่ เด็กโตจะแสดงออกชัดกว่าเด็กเล็ก เพราะพวกเขารู้เรื่องรู้ราวตั้งแต่ครั้งที่พ่อแม่บังเกิดเกล้าเลิกรากัน คุ้นเคยใกล้ชิดกับพ่อหรือแม่จริง ๆ ตั้งแต่เกิด การหย่าร้างทำให้พวกเขาเคว้งคว้างมากพอแล้ว พอมีคนพยายามจะเข้ามาแทนที่ เลยต่อต้านและปิดกั้น ระดับการไม่ยอมรับก็แตกต่างกันไป ตั้งแต่แสดงออกว่าเฉย ๆ แต่ห่างเหิน ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือ แสดงออกว่าไม่ชอบไม่พอใจ เข้ากันไม่ได้ มีคำพูดประชดเสียดสีบ้าง แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายกว่านั้น หรือขั้นปฏิเสธ ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์เลยก็มี


พยายามจะแทนที่พ่อแม่จริง ๆ
โดยทั่วไป คนเป็นลูกไม่มีใครอยากให้พ่อแม่จริง ๆ ของตัวเองหย่าร้างกันหรอก แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วพวกเขาก็ทำได้เพียงยอมรับความจริง หรือเด็กบางคนเสียพ่อหรือแม่ด้วยการจากไปก่อนวัยอันควร พวกเขายังรักคนที่จากไปอยู่มาก พอคนที่ยังอยู่แต่งงานใหม่หลังจากนั้นไม่นาน เด็กอาจคิดว่าคนที่อยู่ไม่ให้เกียรติคนที่จากไป หรือคิดว่าการเข้ามาของคนใหม่ทำให้พ่อหรือแม่คนเดิมของเขาต้องออกจากบ้านไป ในขณะที่สมาชิกใหม่ก็พยายามเหลือเกินที่จะเข้ามาแทนที่พ่อหรือแม่จริง ๆ ของเด็กโดยสมบูรณ์ จะมีเด็กกี่คนยอมรับได้ทันที มีแต่ยิ่งทำให้เด็กไม่พอใจ


กลัวว่าพ่อแม่จะรักพวกเขาน้อยกว่าสามีหรือภรรยาคนใหม่ (หรือลูกใหม่)
บ้านที่พ่อแม่หย่าร้าง มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่คิดและรู้สึกลึก ๆ ว่าการที่พ่อแม่แยกทางกันเป็นความผิดพวกเขาหรือไม่รักพวกเขาแล้ว พอพ่อหรือแม่แต่งงานใหม่ พาคนใหม่เข้าบ้าน อาจยิ่งตอกย้ำความคิดนั้นของเด็ก เหมือนเวลาที่เด็กได้ของเล่นใหม่ก็จะเห่อของใหม่ ทิ้งขว้างไม่เล่นของเก่า เด็ก ๆ เองก็อาจรู้สึกแบบนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อหรือแม่และพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงที่ต้องพยายามปรับให้เด็ก ๆ เชื่อใจและไว้ใจ รักและใส่ใจพวกเขาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่าให้พวกเขารู้สึกว่าคนในบ้านนี้ไม่มีมีใครรักเขาแล้ว เข้าข้างคนใหม่ดีกว่า สำคัญกว่าพวกเขาที่เป็นลูกแท้ ๆ


กลัวเจอพ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยงใจร้าย
นี่อาจจะดูเหมือนละครมากไปหน่อย แต่กรณีพ่อ/แม่เลี้ยงใจร้ายก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตจริง ใจร้ายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการทำความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจเด็กเวลาบันดาลโทสะเท่านั้น แต่มันคือความกลัวว่าคนใหม่จะมาแย่งความรักจากพ่อหรือแม่พวกเขาไปด้วย การจุ้นจ้านจับผิดเรื่องการใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาไม่เคยเผชิญ เพราะเด็กอาจจะสร้างภาพเกี่ยวกับสมาชิกใหม่สำหรับเขาขึ้นมาเองตามประสบการณ์ชีวิต เหมาว่าทุกอย่างที่คนใหม่ทำใจร้ายหมดหากมันส่งผลต่อตัวพวกเขา เขาจะระแวง หวาดกลัว และต่อต้านยิ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านั้น


พยายามเปลี่ยนชีวิตทุกสิ่งอย่างของเด็ก
ในกรณีนี้ เด็กอาจเกลียดสมาชิกใหม่ตั้งแต่พ่อหรือแม่พามาเปิดตัว ต้องไม่ลืมว่าความรู้สึกของเด็กเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน พวกเขาเคยชินกับมุมปลอดภัยเดิม ๆ แต่การปรากฏตัวของคนใหม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาปรับตัวและรับมือไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างที่เกิดขึ้น ยิ่งถ้าผู้ใหญ่คาดหวังให้เด็กรีบปรับตัว พวกเขาจะต่อต้านทันที ซึ่งประโยคเด็ดที่เด็กจะใช้นำมาโต้เถียงพ่อ/แม่เลี้ยงมากที่สุดเวลาที่ต่อต้านคำสอนหรือคำแนะนำก็คือ “คุณไม่ใช่พ่อ/แม่ของหนู/ผม” แล้วหลังจากนี้คุยกันดี ๆ ก็ยากแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook