สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ทำไมคนจึงจะแห่ลาออกหลังหมดโควิด-19

สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ทำไมคนจึงจะแห่ลาออกหลังหมดโควิด-19

สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ทำไมคนจึงจะแห่ลาออกหลังหมดโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหลืออีกเพียงไตรมาสเดียวเท่านั้น เราก็จะพ้นจากปี 2021 เข้าสู่ปี 2022 กันแล้ว และนี่อาจเป็นปีใหม่ครั้งที่สอง ที่เราไม่สามารถจัดงานปีใหม่ได้อย่างสนุกสนาน อย่างช่วงที่โบกมือลาปี 2020 เข้าสู่ปี 2021 ชาวโลกก็อยู่ในสภาพแบบนี้ ซึ่งเมื่อดูจากสถานการณ์ ณ เวลานี้ ก็คงไม่แคล้วต้องเคาท์ดาวน์อย่างโดดเดี่ยวในห้องสี่เหลี่ยมซ้ำรอยปีที่ผ่านมา ทำได้แค่เปิดดูภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอเฉลิมฉลองเก่า ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศวนไป

อย่างไรก็ดี เกือบ 2 ปีที่ผ่านมานี้ วิถีชีวิตของชาวโลกก็อยู่ในลักษณะที่ไม่ปกติ แม้ว่าเราจะมีนิยามชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal มาใช้กัน แต่ใครหลายคนกลับอยากได้วิถีชีวิตแบบก่อนหน้าจะมีโรคระบาดมากกว่า อย่างน้อย ๆ ก็คือไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน หรือไม่ต้องรีบกลับบ้านให้ทันสามทุ่มก่อนเวลาเคอร์ฟิว เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มันเลยดูเหมือนความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แค่สองเรื่องนี้ยังเป็นปกติไม่ได้ ก็คงจะถามหาความหวังหรือความเป็นปกติจากอะไรไม่ได้อีกแล้ว

และอีกอย่างที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ โควิด-19 เปลี่ยนโลกของการทำงานไปมากเช่นเดียวกับวิถีชีวิตประจำวันอื่น ๆ สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ทำให้รูปแบบชีวิตการทำงานของผู้คนทั่วทั้งโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เปลี่ยนไปจนคนเริ่มปรับตัวได้และชินกับชีวิตการทำงานรูปแบบใหม่ (ถึงจะไม่ค่อยเต็มใจนัก) เมื่อมันกำลังจะจะดีขึ้น หรือเพราะเราเริ่มหาวิธีอยู่กับมันได้แล้ว หลาย ๆ ประเทศก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติแบบก่อนหน้าการแพร่ระบาด ยกตัวอย่างการทำงาน คือจากที่เรา Work from Home กันแรมปี เราก็กำลังจะได้กลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง

ทว่าการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกลับสร้างความกังวลใจมากกว่าดีใจ ลึก ๆ แล้วเราอาจรู้สึกดีที่จะได้ชีวิตปกติกลับมา แต่เพราะเราทำงานอยู่ที่บ้านมานานจนไม่ชินว่าการเข้าออฟฟิศเป็นอย่างไร หลายคนมีคำถามต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและงานที่กำลังทำอยู่ ว่าการทำงานแบบเดิม (เข้าออฟฟิศ) ยังเหมาะกับเราอยู่ไหม แล้วจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องตื่นแต่เช้ามืด โหนรถเมล์ไปทำงานแบบที่เคยทำ ความสงสัยนี้อาจนำมาซึ่งปรากฏการณ์ประหลาดสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจ คือ คนแห่กันลาออก เพราะเปลี่ยนใจจากงานที่ทำอยู่ เมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมกันจริง ๆ

เนื่องจากมีผลสำรวจจากหลายที่ที่ระบุไปในทิศทางเดียวกัน ว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว (ถึงแม้ว่าโรคระบาดจะยังไม่หมดไป) คนจะพากันลาออกจากงานเดิมเพื่อไปหางานใหม่ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “The Great Resignation” บ้างก็ว่า “Turnover Tsunami” ซึ่งมันก็คือ “การลาออกครั้งใหญ่โตมโหฬารของบรรดามนุษย์เงินเดือน”

คำถามคือ ทำไมคนถึงอยากจะแห่กันลาออก ทั้งที่ก็รู้ดีว่าสถานการณ์มันเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเพิ่งเริ่มดีขึ้น อะไร ๆ ก็ยังคาดการณ์ไม่ได้มาก หลายสิ่งหลายอย่างยังไม่เข้าที่ แต่ก็ขอลาออกดีกว่า สบายใจกว่า!

ตกงาน/ว่างงานกันก็เยอะ แต่ก็ขอลาออกดีกว่า
มีข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ที่ระบุว่ามีพนักงานองค์กรต่าง ๆ ลาออกจากงานมากกว่า 4 ล้านคนในเดือนเมษายน และอีกกว่า 3.6 ล้านคนในเดือนพฤษภาคม ขณะที่พนักงานอีก 48 เปอร์เซ็นต์ กำลังอยู่ในระหว่างการหางานใหม่ ที่สำคัญ ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ในประเทศอื่น ๆ ที่กำลังเริ่มฟื้นตัวก็มีปรากฏการณ์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น ในอังกฤษและไอร์แลนด์ พบว่าพนักงานมากถึง 38 เปอร์เซ็นต์ วางแผนจะลาออกภายในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งตัวเลขที่เห็นนี้ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งที่สิ่งต่าง ๆ กำลังฟื้นตัว ทุกอย่างกำลังเริ่มจะเข้าที่เข้าทาง ทำไมคนถึงแห่กันลาออก! สาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่พนักงานหลายคนพิสูจน์แล้วว่าโลกของการทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเดิม ๆ แบบเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ เข้างานแปดโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็น แต่การทำงานที่บ้านก็สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานได้ สำหรับพนักงานหลาย ๆ คน การทำงานที่บ้านไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน ตรงกันข้าม พวกเขากลับได้ชีวิตที่ยืดหยุ่น เป็นอิสระ มีความสุขขึ้นด้วยซ้ำ สามารถจัดการอะไรต่ออะไรได้เอง ลงตัวดี

ผลการสำรวจจากหลายแหล่งจึงระบุไปในทิศทางเดียวกันอีกเช่นกัน ว่าพนักงานหลายคนยืนยันที่จะลาออก หากบริษัทเร่งรัดให้กลับเข้าออฟฟิศในช่วงที่โรคระบาดยังไม่หมดไป

แต่ก็มีพนักงานบางส่วนที่รู้สึกว่าการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก จึงพร้อมจะลาออกไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า ทันทีที่อะไร ๆ ดีขึ้น เนื่องจากพนักงานบางบริษัทถูกเมินเรื่องสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ นโยบายที่ไม่อำนวยความสะดวกให้พนักงานได้ทำงานที่บ้านอย่างราบรื่น บางบริษัทสร้างกฎ ข้อบังคับ เงื่อนไขต่าง ๆ สารพัด ที่เป็นการกดขี่ เอาเปรียบลูกจ้าง เพราะคิดว่าอย่างไรพนักงานก็ต้องง้อถ้าไม่อยากตกงาน ทั้งที่เวลานี้ควรจะเห็นอกเห็นใจและนึกถึงสภาพความเป็นจริงว่าใคร ๆ ต่างก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า เมื่อทุกอย่างเริ่มดีขึ้น พนักงานจึงโบกมือลาไปหาที่ที่ดีกว่า

หรืออย่างการปฏิบัติต่อพนักงานในช่วงที่ทุกคนต้องทำงานที่บ้าน หลายคนเจอมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดและตึงเครียดขั้นสุดกับการทำงานที่บ้าน ทั้งที่มันไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นเวลาเข้าออกงานที่ต้องเป๊ะ และรายงานตัวตลอดทุกชั่วโมง แบบเด็ก ๆ ที่ต้องเช็กชื่อเข้าเรียนทุกคาบ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้แอบออกไปไหนระหว่างวัน การประชุม (ออนไลน์) ที่ถี่ยิบ ตารางงานต่าง ๆ ที่แน่นกว่าเดิม จนเวลางานเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าพนักงานไม่ต้องใช้เวลาเดินทางไปและกลับ หรือการจู้จี้ตามงานเหมือนไม่ไว้ใจพนักงานที่ทำงานนอกสถานที่ ไม่อยู่ในสายตาผู้จ้างงาน

ทั้งที่พนักงานแต่ละคนต่างก็โต ๆ กันแล้ว พวกเขารู้หน้าที่และมีความรับผิดชอบ (อาจจะมีก็แค่บางส่วนที่ไม่!) เพราะฉะนั้น พวกเขารู้ดีว่าเวลาทำงานก็ต้องทำงาน แต่การตามจี้ตามจิกจนเกินขอบเขต มันสร้างความอึดอัดลำบากใจ ความเครียด ความกดดัน และนานาปัญหาที่ส่งผลต่อความสุขของพนักงาน ถ้าจะทำงานแล้วไม่มีความสุข ทำงานให้ขนาดนี้แต่ไม่เชื่อใจกัน ต้องทนทุกข์ทรมานสุด ๆ แบบนี้ ขอลาออกดีกว่า!

โลกการทำงานและความคิดคนทำงานเปลี่ยนไป
อย่างที่เรารู้กันดี ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานของคนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน (Work from Home) การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) หรือการทำงานจากระยะไกล (Remote Working) เมื่อทุกคนสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ และคนเริ่มชินกับวัฒนธรรมนี้แล้วด้วย จนเริ่มมีแนวคิดว่าการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้ หลายคนเริ่มมองหางานใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งไม่ต้องการทำงานกับบริษัทที่จะให้ทำงานในออฟฟิศตลอดเวลา พวกเขาไม่อยากต้องเข้าออฟฟิศทุกวันเหมือนเมื่อก่อน เพราะรู้ว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวันถึงจะได้งานดี ๆ จริง ๆ แล้วอยู่ที่ไหนก็ทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ อีกทั้งการทำงานระยะไกล ทำให้พวกเขาจัดสรรเวลาในแต่ละวันได้เอง ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร รวมถึงไม่ต้องเผชิญกับเรื่องน่ารำคาญในออฟฟิศ หรือเรื่องที่ไม่น่าพิสมัยระหว่างทางไปทำงาน

การที่คนเริ่มคุ้นชินกับรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย มีอิสระ ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ทำให้มุมมองเรื่องการทำงานของมนุษย์เงินเดือนหลายคนเปลี่ยนไป พวกเขารู้สึกว่ามันไม่จำเป็นเลยที่ต้องยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ เพราะคนเริ่มเคยชินกับรูปแบบการทำงานแบบนี้ ยืดหยุ่น มีอิสระ รวมถึงบางส่วนก็เห็นช่องทางในการหารายได้แบบอื่น ซึ่งอาจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศ

ภาวะไม่มีความสุขกับการทำงาน
ช่วงที่ผ่านมา เราอาจได้รู้จักกับคำนิยามถึงปัญหาที่ไม่มีความสุขกับการทำงานหลายคำ ซึ่งก่อนหน้านี้เราเองอาจไม่รู้ว่าจะอธิบายมันว่าอย่างไร รู้เพียงแค่ว่ารู้สึกแย่ เช่น Burnout (หมดไฟ) Brownout (หมดใจ) หรือ Boreout (เบื่อ) เมื่อเผชิญกับปัญหาเหล่านี้หนักเข้า ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่แคร์กับคำว่าตกงานอีกต่อไปแล้ว เพราะคิดว่าการเลือกเดินออกมาจะทำให้หลุดพ้นจากความรู้สึกนั้น และจะมีความสุขมากกว่า

ก่อนนี้หลายคนใช้เวลาราว ๆ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเดินทางไป-กลับที่ทำงาน เมื่อเราทำงานจากที่บ้าน เราใช้เวลาดังกล่าวไปกับเรื่องใดบ้าง? หลายคนบอกว่าได้เวลาส่วนตัว ได้อิสระมากขึ้น แต่บางคนไม่! เพราะคนจำนวนมากยังคงใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นให้เป็นชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น พวกเขาใช้เวลาทำงานยาวนานกว่าเดิม!

ความเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข กังวล เบื่องานสามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ไม่สามารถแบ่งเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนส่วนตัว เพราะการทำงานที่บ้านทำให้เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน หลายคนหักโหมทำงานหนักมาก เพราะหวังว่าประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้น รวมถึงความกังวลว่าอาจถูกไล่ออกในช่วงเวลาแบบนี้ หรือการประกาศปิดตัวของกิจการต่าง ๆ การไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จึงง่ายมากที่จะทำให้จิตตก แล้วกลายเป็นแรงกดดัน ความเครียด นอนไม่หลับ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และอยากลาออกในที่สุดนั่นเอง

หลายคนถูกภาวะไม่มีความสุขกับการทำงานเล่นงานอย่างหนัก เพราะที่ผ่านมาทำได้แค่อดทน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ จึงไม่ใช่เรื่องดีที่จะว่างงาน งานก็หายาก แถมคนก็ตกงานกะทันหันกันเป็นว่าเล่น เศรษฐกิจก็ไม่ดี จึงจำเป็นต้องกอดงานประจำไว้ให้แน่นที่สุดทั้งที่ไม่มีความสุขก็ตาม หลายคนปลอบใจตัวเองว่าไม่มีความสุขเพราะการทำงานยังดีกว่าไม่มีความสุขเพราะตกงานและไม่มีเงินกินข้าว จึงต้องกัดฟันทน แต่พอเหตุการณ์เริ่มดีขึ้น หลายคนจึงตัดสินใจลาออก แล้วไปหาตายเอาดาบหน้าดีกว่า อย่างน้อยก็ดูมีความหวังกว่าช่วงที่สถานการณ์กำลังวิกฤติขั้นสุด

นี่ยังไม่รวมความเหนื่อยหน่ายจากภาวะโรคระบาด เพราะเราทุกคนต้องปรับตัวมาใช้ชีวิตทำงานอยู่กับบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น ออกข้างนอกน้อยลงภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ชีวิตขาดการเข้าสังคม ขาดการพักผ่อนท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ วนเวียนอยู่แต่กับการเสพข่าวที่ไม่เจริญตาเจริญใจ แถมยังไม่รู้ด้วยว่าต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปอีกถึงเมื่อไร ขณะเดียวกันก็ต้องเจอกับการทำงานที่ดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด การต้องนั่งหน้าจอทั้งวัน การสื่อสารที่เด้งเตือนตลอดทั้งวัน จนหลายคนเกิดอาการหลอนเสียงแจ้งเตือน ยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนเลือกที่จะลาออกจากระบบลูกจ้างประจำดีกว่า

เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าสุขภาพ (จิต) ของตัวเองสำคัญที่สุด
คนวัยทำงานทุกวันนี้ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพทั้งกายและจิตมากกว่าเดิม หลายคนจึงไม่ขอแลกสุขภาพกายและสุขภาพจิต กับการทำงานที่นับวันมีแต่ทำให้สุขภาพแย่ลง ๆ จนติดลบ เพราะประเมินแล้วว่าหากยังอยู่ต่อ ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ทั้งถูกเอาเปรียบเรื่องเวลางาน ค่าแรงไม่คุ้มเหนื่อย ไหนจะความจู้จี้จุกจิกแบบไม่ไว้ใจในตัวพนักงาน นั่งหน้าจอทั้งวันไม่ได้ขยับไปไหน มันจึงไม่คุ้มค่า ขอไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า

อันที่จริง คำว่า Work-Life Balance เหมือนมันจะไม่มีอยู่จริง การทำงานที่บ้านอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยกับการทำงานมากกว่าเดิมด้วยซ้ำในพนักงานบางคน เพราะหลายบริษัทคาดหวังว่าพนักงานจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอเมื่ออยู่บ้าน สำหรับหลาย ๆ คน เส้นแบ่งระหว่างการทำงานและเวลาส่วนตัวหายไป เวลาเลิกงานก็ยังต้องทำงาน ยังต้องคุยงาน ภาวะหมดไฟ หมดใจ เบื่องาน บางคนต้องการเวลาพัก เพื่อเว้นวรรคชีวิตตึงเครียดนี้สักหน่อย แต่ถ้าขอลาพักร้อนมันยาก กฎนู่นนั่นนี่เยอะแยะ งั้นลาออกเลยแล้วกัน

เมื่อโลกการทำงานนับจากนี้มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย อีกทั้งยังเผชิญหน้ากับวิกฤติต่าง ๆ มามากพอแล้ว ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขารู้สึกมีทางเลือกมากขึ้นที่อาจเหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตของตนเอง พวกเขาจะทำทุกอย่างที่มันทำให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น

วิธีที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง
อันที่จริง ก่อนจะมีโรคระบาด พนักงานหลายคนอาจรู้สึกอยากลาออกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโอกาส เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่พวกเขารับไม่ได้ การมาของโควิด-19 ทำให้อะไร ๆ มันชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง มันจึงมาสู่จุดแตกหักเร็วขึ้นง่ายขึ้นอีก หลายคนไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป หรือหลายคนรู้สึกว่าอยู่ไปก็ขาดโอกาสเติบโต รายได้ไม่คุ้มกับแรงงานที่ทำแลก บริษัทดูไม่มีความมั่นคง รวมถึงอยากเปลี่ยนงานไปหาอะไรที่มันดูเหมาะกับตัวเองมากขึ้น

สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่ดี หรือการที่นายจ้างปฏิบัติกับลูกจ้างแบบไม่ดีนัก เช่น การทำงานที่ไม่มีมาตรการความปลอดภัย ไม่มีหลักประกันค่าจ้างหากลาป่วย การข่มขู่ให้พ้นสภาพพนักงานกรณีที่ติดโรค การไม่ใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพกายสุขภาพจิตของพนักงาน ทำให้พนักงานต่างก็รู้สึกแย่จนอยากลาออก ปกติพนักงานก็คาดหวังเรื่องสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติที่ดีจากนายจ้างอยู่แล้ว อยากให้นายจ้างทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเวลาแบบนี้ หรืออย่างน้อยก็รับทราบความกังวลใจของพนักงานบ้าง ยิ่งสถานการณ์แย่ความคาดหวังก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

แต่พอพวกเขาไม่ได้รับในสิ่งที่ควรได้รับ ก็คงไม่มีใครอยากจะทนอยู่ พวกเขาทำงานแลกเงิน แต่สิ่งที่ได้มาไม่คุ้มค่ากับแรงที่เสียไป ก็ไม่จำเป็นที่พวกเขาต้องทน! ลาออก จึงเป็นคำตอบสุดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook