เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้กดดันทั้งตัวเด็ก และพ่อแม่!
กลายเป็นประเด็นดราม่าบนโลกออนไลน์ เมื่อไลฟ์โค้ชชื่อดังให้ลูกเก็บขยะขาย เพราะลูกไม่อยากเรียนออนไลน์ เกิดเป็นข้อถกเถียงออกมา 2 ด้าน ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย!
เข้าใจเลยว่าช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อยเยอะกว่าเดิมหลายเท่า บางบ้านทั้ง WFH ตัวเองก็ต้องทำงานแล้วก็ต้องคอยมาคอยดูลูกเรียนออนไลน์ไปด้วย จนบางทีเกิดอารมณ์เหวี่ยงวีนลูกไปอยู่บ่อยๆ
แต่จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้พอดีในยุคนี้ คุณหมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ให้แนะนำไว้แล้วค่ะ
#ไม่อยากเรียนหนังสืองั้นเก็บขยะมั้ย?
“ไม่อยากไปโรงเรียน งั้นไปเลี้ยงควายมั้ย”
“ไม่เรียนหนังสือ เดี๋ยวก็ต้องไปเป็นกรรมกร”
“ถ้าหนูไม่เรียนไม่เป็นไร งั้นเราไปเก็บขยะกัน”
คำพูดที่เด็กๆ ได้ยินจากพ่อแม่อยู่บ่อยๆ….
การที่มีลูกคนหนึ่ง ตื่นสาย ไม่กระตือรือร้นในการเรียน ส่งงานไม่ทัน ไปถึงการดูไม่ตั้งใจเรียน
เข้าใจดีว่ามันคือความเครียดมหาศาลของคนเป็นพ่อแม่ และอาจจะผลักดันให้รู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาจัดการอะไรบางอย่าง
สิ่งที่ต้องระวัง... คือการสรุปความ "ไม่ส่งงาน" “ตื่นสาย” ของเด็กคนหนึ่งทันทีไปกับ "ความขี้เกียจ" หรือ “ไม่อยากเรียนหนังสือ”
เพราะหลายครั้งสิ่งที่เราเห็นออกมาว่า “ส่งงานไม่ทัน” “ตื่นสายไม่ทันเรียน” เป็นเพียงภาพสะท้อนของปัญหาที่อาจมี “ที่มา” มากกว่าแค่ “ความขี้เกียจ”
1. ปัญหาจากข้อจำกัดทางศักยภาพของตัวเด็ก อ่านไม่ออก เขียนไม่คล่อง เรียนไม่ทันเพื่อน เด็กหลายคนเผชิญกับปัญหาการอ่านเขียนบกพร่อง (LD)
2. ปัญหาสมาธิสั้น ทำให้การทำงานต่างๆ ทำได้ยากกว่าที่มันควรจะเป็น ซึ่งหลายครั้งพ่อแม่ไม่เคยรู้ว่าเด็กมีปัญหานี้สะสมมายาวนาน
3. ไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมจากครู หรือถูกกดดันด้วยการใช้วินัยเชิงลบ ดุ ด่า ประจาน เปรียบเทียบ ทำให้เด็กหลายคนอยากหนีหายไปจากการเรียน
4. มีปัญหาทางอารมณ์ ซึมเศร้า ข้อนี้กาสามดาว*** โดยเฉพาะในวัยรุ่น เพราะเป็นภาวะที่พบบ่อย ต้องมองหาอาการร่วมของภาวะซึมเศร้าด้วยเสมอ
5. เครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุข โดยเฉพาะในภาวะนี้ ที่จิตใจของเด็กๆ หลายคน ไม่อยู่ในภาวะปกติจากการห่างเพื่อน ห่างชีวิตที่ควรจะเป็น
6. “การเรียนออนไลน์” การเรียนออนไลน์ไม่ใช่คำตอบของการเรียนอันยาวนานของเด็กๆ เด็กหลายคนเรียนด้วยความเหนื่อยล้า ไม่มีความสุข ขาดแรงบันดาลใจ เรียนไม่เข้าใจ สมาธิไม่มี พ่อแม่ควรลุกขึ้นมาช่วยส่งเสียงและหาทางทำให้ลูกได้กลับโรงเรียน ให้กำลังใจ ไม่ใช่แค่พาลูกไปเก็บขยะ
7. “ติดเกม” “ติดหน้าจอ” จนไม่มีวินัย อันนี้ให้กาสี่ดาว**** โดยเฉพาะในช่วงนี้ เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากกก ซึ่งการแก้ไข คือ การสำรวจที่มา ตั้งกติการ่วมกัน และที่สำคัญนี่เป็นปัญหาที่ “พ่อแม่” ต้องลุกขึ้นมาจริงจังกับมัน
8. ปัญหาการนอน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ซ่อนเร้น เด็กหลายคนนอนดึก เด็กบางคนมีการนอนกรนตอนกลางคืน ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี ตื่นเช้าไม่ไหว กลายเป็นปัญหาพัวพัน ถ้ารีบแก้ไขลูกจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ฯลฯ
อีกสารพัดเหตุผล ที่อาจจะทำให้เด็กหนึ่งคน “ไม่ส่งงาน” “ตื่นสาย” หรือไปจนถึง “ไม่อยากเรียนหนังสือ”
หน้าที่ของพ่อแม่ที่สำคัญ คือ
“การรับฟังด้วยหัวใจ”
ลูกกำลัง “รู้สึก” อะไร
ลูกกำลังเผชิญความยากลำบากอะไร
ลูกกำลังต้องการความช่วยเหลืออะไร
ลูกมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
หา”สาเหตุ” เพื่อแก้ไข สิ่งที่เป็นปัญหานั้น
การสรุปความไปเอง แล้วให้ไปฝึกเก็บขยะ
ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะรู้ว่าที่มาของปัญหาเพื่อแก้ไขได้จริงๆ
ที่สำคัญการทำให้ลูกเข้าใจว่า …
การไม่เรียนหนังสือ = ต้องทำอาชีพเก็บขยะ
เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะนี่คือการสร้าง fixed mindset ให้กับลูก
อาชีพใช้แรงงานทุกอาชีพ คืออาชีพสุจริตและเป็นทางเลือกได้
อาชีพเก็บขยะขาย หลายครั้งสร้างรายได้มหาศาล
อาชีพใช้แรงงานหลายอาชีพ เงินเดือนดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี หลายครั้งมากกว่าคนที่มีความรู้และกินเงินเดือนประจำ
การใช้แรงงาน ไม่ได้แปลว่าเรียนน้อย หรือไม่มีทางเลือก หลายครั้งนี่คืออาชีพที่หลายคนเลือก (หลายคนเรียนสูงมา เพื่อจะพบว่าชีวิตกลับเลือกอะไรไม่ได้)
อาชีพเหล่านี้ คืออาชีพที่ค้ำจุนโครงสร้างทางสังคม
อย่าสร้างการตีตรา ทำให้ลูกมองอาชีพแบบตีบแคบ
และเกิดการดูแคลนอาชีพอื่นๆ
การมีความรู้ ไม่ได้เท่ากับความฉลาดรู้
และสมองที่เรียนรู้ได้ดี ไม่ใช่สมองที่ถูกผลักดันจากความกลัว แต่เป็นสมองที่เรียนรู้ด้วยความสุข
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้เชื่อว่าปัญหาจะแก้ไขขึ้นกับการมองหาไปที่สาเหตุ
ป.ล. หมอคิดว่าเรื่องเลี้ยงลูกคงเป็นวิธีการบ้านใครบ้านมันนะคะ อาจจะมีหลายประเด็นที่เราไม่ได้เห็นผ่านสิ่งที่ใครเขียน แต่เนื่องจากเรื่องนี้ถูกแชร์มากมายในโลกออนไลน์ เลยอยากแลกเปลี่ยนให้พ่อแม่ระวังที่จะไม่มองข้ามความสำคัญ ของการ ”ฟังลูก” เพื่อเข้าใจปัญหาและที่มาจริงๆ