รวมวิธีออมเงินเพื่อลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

รวมวิธีออมเงินเพื่อลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่

รวมวิธีออมเงินเพื่อลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่คู่รักตกลงปลงใจแต่งงานกันเพื่อสร้างครอบครัวและเริ่มต้นชีวิตคู่ หลายคู่คุยกันแล้วว่าไม่ต้องการจะมีลูก ส่วนอีกหลายคู่ก็เริ่มวางแผนที่จะมีลูกคนแรกเมื่อเห็นว่าทุกอย่างพร้อม เนื่องจากว่าที่คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่หลายคนรู้ดีว่าการมีลูกในขณะที่อะไรหลาย ๆ อย่างไม่ลงตัว ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อตัวเด็กและสภาพต่าง ๆ ในครอบครัวในอนาคต รวมถึงรู้ดีว่าการไม่วางแผนเรื่องมีลูกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยเฉพาะเรื่องของการเงิน ภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร

เพราะการมีลูก คือ การที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อหนึ่งชีวิตที่เกิดมาใหม่ นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายในบ้านจะสูงขึ้นตาม เพราะการเตรียมเงินให้พร้อมสำหรับชีวิตใหม่อีกหนึ่งชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญมากในการสร้างเด็กที่เกิดใหม่กลายเป็นเด็กที่มีคุณภาพ นอกเหนือไปจากความรักและความอบอุ่นในครอบครัว

จริงๆ แล้ว การวางแผนเรื่องการเงินสำหรับคู่สามีภรรยาที่ตั้งใจจะมีลูกนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ว่าที่คุณแม่ยังไม่ตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ เพราะต้องไม่ลืมว่าในช่วงตั้งครรภ์ คนเป็นแม่จะไม่สามารถทำงานหนักได้เท่ากับตอนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ จึงอาจส่งผลต่อการหารายได้ อาจขาดรายได้ไปบางส่วน อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดด้วย ทั้งการบำรุงร่างกายก่อนคลอดและหลังคลอด ค่าทำคลอด ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายของทารกเลยด้วยซ้ำไปตั้งแต่การฉีดวัคซีนที่ต้องมีระยะเวลาในการฉีด ค่าผ้าอ้อม ค่านม ค่าอาหารเด็ก ค่าอาหารเสริม ฯลฯ

หลังจากเด็กลืมตาดูโลกแล้ว พ่อแม่ก็ต้องมั่นใจว่ามีทุนทรัพย์มากพอที่จะส่งเสียลูกได้ในระยะยาว อย่างน้อย ๆ ก็จนกว่าจะอายุบรรลุนิติภาวะ นั่นก็คืออีก 20 ปีต่อจากนั้น และต้องไม่ใช่ส่งเสียโดยเน้นเรื่องหนึ่งแต่ด้อยอีกเรื่อง การส่งเสียให้เรียนโรงเรียนดี ๆ เพื่อสังคมและการเรียนที่ดี ส่งเสียให้ได้เรียนสูง ๆ เท่าที่จะทำให้เด็กไม่ลำบากในอนาคต รวมถึงการที่เตรียมทุกอย่างให้พร้อม ว่าลูกของคุณจะต้องไม่ด้อยกว่าลูกคนอื่นจนเกิดปมในใจ (ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นของแพง แต่ควรต้องมีพร้อม) ในสังคมยุคนี้เราต้องยอมรับว่ามันมีผลต่อจิตใจเด็กหลายอย่าง

เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะได้มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายเมื่อลูกน้อยเกิดมาและเลี้ยงดูไปจนกว่าเขาจะเลี้ยงดูตนเองได้ มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับอนาคตของเขา ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือการที่เขาต้องดูแลตนเองในวันที่ไม่มีพ่อหรือแม่อยู่ข้าง ๆ เขาจะต้องไม่ลำบาก คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงต้องออมเงินและวางแผนการใช้จ่ายตั้งแต่แรก Tonkit360 มีวิธีในการออมเงินเพื่อลูกน้อย สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มาฝาก

1. ออมก้อนแรกก่อนตั้งครรภ์
อย่างที่บอกว่าพ่อแม่ควรเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่ตั้งใจว่าจะมีลูก ซึ่งการออมเงินก็ต้องเริ่มออมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์นั่นเอง เพราะมันมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอด รวมถึงช่วงเวลาระหว่างตั้งครรภ์ ไปหมอแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงิน และยังมีค่าใช้จ่ายของเด็กทารกแรกคลอดด้วย ช่วงที่แม่ต้องหยุดงานขาดรายได้หรือไม่สามารถทำงานได้หนักเท่าเก่า หากพ่อแม่เตรียมเงินก้อนนี้ไว้ล่วงหน้าแล้วก็จะคลายความกังวลและแนวโน้มที่จะขัดสนในช่วงนั้นลงไปได้มาก นี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการวางแผนการเงินก่อนมีลูก ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาการเงินตามมา


2. ออมแบบฝากประจำ
แต่ก่อนหน้าจะเปิดบัญชีธนาคาร วางแผนและตั้งเป้าหมายก่อนว่า ภายใน…ปี ต้องมีเงินเก็บแล้ว…บาท และเงินก้อนนี้จะเอาไว้ใช้จ่ายอะไร จากนั้นค่อยเปิดบัญชีออมทรัพย์แบบฝากประจำ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างง่าย ความเสี่ยงต่ำ และสร้างวินัยการออมเงินได้เป็นอย่างดี เนื่องจากต้องฝากเงินในจำนวนเท่ากันทุกเดือน โดยแนะนำให้เลือกบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี ปลอดภาษีดอกเบี้ยแล้วก็ยังให้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากประจำธรรมดาอีกด้วย พ่อแม่จะฝากให้อย่างเดียวหรือจะให้ลูกมีส่วนร่วมด้วยก็ได้ สอนให้ลูกเริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อย จะได้มีเงินก้อนไว้ใช้จ่ายในอนาคต

มีเงื่อนไขบางประการสำหรับการออมเงินให้ลูกโดยการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อฝากเงิน คือ

  • เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์
    ต้องเปิดในนามของพ่อหรือแม่เพื่อลูก, พ่อและแม่เพื่อลูก, เปิดบัญชีชื่อลูก โดยพ่อหรือแม่ ผู้ปกครองจะเป็นผู้มีอำนาจลงนามในการเบิกถอนเงินจากบัญชี

  • เด็กอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์
    เปิดบัญชีเป็นชื่อเด็กได้เลย โดยมีพ่อหรือแม่เซ็นยินยอมให้เปิดบัญชี

  • เด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
    เด็กสามารถเปิดบัญชีธนาคารเป็นชื่อของตนเองได้


3. ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
สำหรับพ่อแม่ที่มองการณ์ไกลและวางแผนระยะยาวเป็นสิบ ๆ ปี ประกันชีวิตรูปแบบนี้จะออกแบบมาเพื่อการออมเงินสำหรับอนาคต ขณะเดียวกันก็ครอบคลุมการดูแลแบบประกันชีวิตด้วย นอกจากนี้ ระหว่างการทำประกันถ้าจำเป็นต้องการใช้เงินจริง ๆ ก็สามารถกู้ประกันชีวิตของตนเองได้ (ปรึกษาตัวแทน) เมื่อคุณส่งเบี้ยประกันครบตามระยะเวลาในกรมธรรม์ ประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินคืนให้ กรณีที่คุณเกิดเสียชีวิตขึ้นมา ลูกที่คุณใส่ชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินก้อนนี้ด้วย นี่จึงถือเป็นการออมเงินที่เป็นหลักประกันที่มั่นคงให้กับลูกได้ หากพ่อแม่จากไปก่อนวัยอันควร


4. ซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
จริง ๆ แล้ว การซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ก็มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เป็นมรดกแก่คนข้างหลัง นี่จึงเป็นการออมเงินแบบที่วางแผนรับมือเรื่องไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ หากคนเป็นพ่อเป็นแม่ซื้อประกันชีวิตตลอดชีพไว้ เมื่อจ่ายเบี้ยประกันไปสักระยะหนึ่งตามสัญญาในกรมธรรม์ ก็จะได้ทุนประกันไปตลอดชีวิต คุ้มครองยาว สามารถมั่นใจและอุ่นใจว่าหลักประกันที่เตรียมไว้จะสามารถส่งต่อให้กับลูกได้ในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว ทุนประกันควรวางแผนอยู่ที่ 10 เท่าของรายได้ต่อปี โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายที่ลูกต้องใช้นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook