ผู้หญิง พูดมากกว่า ผู้ชาย จริงหรือ?
คํากล่าวอ้างที่ระบุว่าผู้หญิงพูดมากกว่าผู้ชาย โดยอ้างอิงถึงจำนวนคำพูดที่ใช้ในแต่ละวันระบุว่าผู้หญิงพูดมากถึง 20,000 คำต่อวัน เปรียบเทียบกับผู้ชายที่พูดเพียง 7,000 ต่อวัน ถูกตีพิมพ์เผยแพร่และอ้างถึงในหนังสือฮาวทูเชิงจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาตนเอง รวมถึงหนังสือเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยมจำนวนหนึ่ง ตัวเลขดังกล่าวสนับสนุนบุคลิกปกติของผู้หญิงในสายตาของคนทั่วไป คือการที่มักใช้เวลาไปกับการพูดคุยซุบซิบนินทา คำถามก็คือตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ถูกต้องหรือไม่?
จากการรวบรวมผลการศึกษาพฤติกรรมเด็กจำนวน 73 ชิ้นของนักวิจัยสหรัฐ พบว่าเด็กผู้หญิงพูดมากกว่าเด็กผู้ชายเพียงเล็กน้อย และความแตกต่างดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นการสนทนากับผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาการพูดคุยกับเพื่อนแล้ว เด็กชายและเด็กหญิงกลับใช้คำพูดในจำนวนที่ไม่แตกต่างกัน ขณะที่ผลวิจัยบางชิ้นพบความแตกต่างที่สำคัญก็เฉพาะในช่วงวัย 2 ขวบครึ่ง ซึ่งนั่นก็สะท้อนเรื่องความรวดเร็วในการเรียนรู้ภาษาระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงเท่านั้น
นอกจากผลการศึกษาในเด็กแล้วแคมเบลล์ ลีปเปอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทำวิจัยในผู้ใหญ่กลับพบว่าผู้ชายพูดมากกว่าผู้หญิงด้วยความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าผู้ชายกลับพูดมากกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจนจากการทดสอบในห้องทดลอง
การค้นพบของลีปเปอร์ยังสอดคล้องกับผลทบทวนงานวิจัยจำนวน 56 ชิ้น โดย เดโบราห์ เจมส์ นักวิจัยด้านภาษา และ เจนิส ดราคิช นักจิตวิทยาสังคม ตีพิมพ์ลงในหนังสือเรื่อง ?รูปแบบการสนทนาของชายและหญิง? พบว่ามีงานวิจัยเพียง 2 ชิ้นเท่านั้นที่พบว่าผู้หญิงพูดมากกว่าผู้ชาย ขณะที่ 34 ชิ้นพบว่าผู้ชายพูดมากกว่าผู้หญิง
แม้ว่าการทดสอบการพูดในชีวิตจริงจะเป็นการยากในการที่จะบันทึกเสียงการสนทนาทั้งหมด แต่ เจมส์ เพนเนเบเกอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้บันทึกเสียงสนทนาเป็นเวลา 30 วินาทีทุกๆ 12.5 นาทีตลอดวัน จนได้เป็นผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารไซน์ส เมื่อปี 2550 พบว่าตลอดช่วงเวลา 17 ชั่วโมงขณะที่ตื่นอยู่ กลุ่มตัวอย่างจากสหรัฐและเม็กซิโกที่เป็นผู้หญิงพูดโดยเฉลี่ย 16,215 คำต่อวัน ขณะที่ผู้ชายพูด 15,669 คำต่อวัน ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นเคย
นอกจากการสนทนาธรรมดาแล้ว เจเน็ต โฮล์มส จากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียออฟเวลลิงตัน ประเทศนิวซีเแลนด์ ยังได้ศึกษาพฤติกรรมระหว่างชายและหญิงในการร่วมการชุมนุมในที่สาธารณะด้วย และพบว่าผู้ชายจะถามคำถามมากกว่าผู้หญิง และสัดส่วนยังคงเป็นไปในแนวทางเดิมแม้ว่าจะแบ่งผู้เข้าฟังเป็นชายและหญิงในจำนวนเท่าๆ กันก็ตาม
แม้ว่าข้อมูลหลักฐานต่างๆ จะมีความขัดแย้งกันไปมา ในขณะที่หลักฐานบางอย่างจะโน้มเอียงไปตามความคิดที่ว่าผู้หญิงพูดมากกว่าผู้ชาย แต่เมื่อนักวิจัยนำหลักฐานทั้งหมดมาวิเคราะห์รวมกันกลับพบว่าพฤติกรรมการพูด การสนทนาระหว่างชายและหญิงไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นความคิดที่ว่าผู้หญิงพูดมากกว่าผู้ชายในระดับ 20,000 ต่อ 7,000 คำนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สมมติฐานดังกล่าวถูกขยายเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อมีการรายงานผลการศึกษาซึ่งพบว่าเด็กหญิงวัย 4 ปี มีโปรตีนในสมอง ที่สำคัญกับการเรียนรู้ภาษาและการพูดมากกว่าเด็กผู้ชายถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้สื่อที่ได้รับความนิยม ตีความผลการทดลองดังกล่าวอ้างว่าผลการทดลองเป็นข้อพิสูจน์ว่าผู้หญิงนั้นพูดมากกว่าผู้ชาย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการศึกษาดังกล่าวมีลูกหนูเป็นกลุ่มตัวอย่างหลัก และไม่ได้อธิบายถึงสมมติฐานว่าผู้หญิงพูดมากแต่อย่างใด
ขณะที่ตัว เลข 20,000 และ 7,000 คำต่อวัน ปรากฏในหนังสือเรื่อง เดอะฟีเมลเบรน ตีพิมพ์เมื่อปี 2549 โดยนักจิตประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งในเวลาต่อมามาร์ค ลีเบอร์มานน์ ศาสตราจารย์ด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลข ดังกล่าวซึ่งมีพื้นฐานที่ไม่ชัดเจนไปยังผู้เขียนและผู้เขียนก็เห็นด้วยกับ ข้อโต้แย้งและยินดีที่นำตัวเลขดังกล่าวออกไปจากหนังสือในการตีพิมพ์ครั้งต่อ ไป
ท้ายที่สุดลิเบอร์มานได้สืบย้อนกลับไปหาที่มาของตัวเลขดังกล่าวอีกครั้งกลับพบว่ามีปรากฏในแผนพับแนะนำการแต่งงานที่ตีพิมพ์เมื่อปี2536
ซึ่งการค้นพบดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้แต่อย่างใด
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com/