คำแนะนำในการพูดคุยกับ "ลูกวัยรุ่น" เข้าให้ถึงใจและไม่ทะเลาะกัน

คำแนะนำในการพูดคุยกับ "ลูกวัยรุ่น" เข้าให้ถึงใจและไม่ทะเลาะกัน

คำแนะนำในการพูดคุยกับ "ลูกวัยรุ่น" เข้าให้ถึงใจและไม่ทะเลาะกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิทยา หลัก ๆ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ที่ทำให้พวกเด็ก ๆ ค่อย ๆ พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ด้วยความที่เป็น “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” หลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาเคยเป็นตอนเด็กจึงหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยความสับสน ใจร้อน อารมณ์แปรปรวน นำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้พวกเขากลายเป็นเด็กมีปัญหาและผู้ใหญ่ที่เป็นปัญหาของสังคมในอนาคตได้

อีกทั้งวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง มักจะอยากรู้อยากเห็นในทุก ๆ เรื่อง มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อเพื่อนมากกว่าใคร ๆ จุดนี้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างลูกและพ่อแม่ที่อยู่ที่บ้าน ยิ่งถ้าพวกเขารู้สึกว่าการคุยกับพ่อแม่เป็นเรื่องที่ยากลำบากและน่ารำคาญ พวกเขาก็จะแสดงออกโดยการต่อต้านทุกอย่างที่มาจากพ่อแม่ รวมถึงกลายเป็นเด็กดื้อที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่อีกต่อไปก็เป็นได้

แต่สิ่งเหล่านี้สามารถไประงับที่ต้นเหตุได้ เพราะส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่ ก็มาจากพ่อแม่เองที่ไม่ปรับตัวที่จะพยายามเข้าใจบุตรหลานที่เติบโตขึ้น ถ้าพ่อแม่ไม่อยากเสียลูกที่น่ารักไปนับตั้งแต่พวกเขาเป็นวัยรุ่น Tonkit360 มีคำแนะนำในการพูดคุยกับลูกวัยรุ่น เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน เข้าไปให้ถึงใจของพวกเขาโดยไม่ทะเลาะกันเสียก่อน

อย่าเริ่มต้นด้วยอารมณ์
เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่น คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องปรับวิธีการเข้าหาและพูดคุยกับลูก ด้วยพวกเขาไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไป เขาต้องการอิสระ มีความคิดเป็นของตัวเองสูงมาก ทั้งยังอารมณ์ซับซ้อน พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนกับพวกเขามากกว่าตอนที่เขาเป็นเด็ก และอย่าใช้อารมณ์เด็ดขาด ไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นฝ่ายหัวร้อนก่อนหรือลูกหัวเสียก่อนก็ตาม มันเท่ากับเป็นการตัดบทสนทนาให้จบลงเท่านั้น พวกเขาจะไม่คุยต่อ ดีไม่ดีจะทะเลาะกันใหญ่โตด้วย โมโหแค่ไหนก็ต้องเก็บอารมณ์ คุยกันดี ๆ ถกกันด้วยเหตุผล บรรยากาศในการคุยกันก็จะดีตาม อาจจะหม่น ๆ นิดหน่อยแต่ก็คุยจนจบได้

พยายามเข้าใจในจุดของลูก
เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น อารมณ์ของพวกเขาจะเปลี่ยนไปชัดเจน หากการสนทนาไม่ได้ดั่งใจ มักจะตามมาด้วยการทะเลาะกันเสมอ อันที่จริง พ่อแม่น่าจะเข้าใจลูกได้ง่ายกว่าลูกเข้าใจตัวเองด้วยซ้ำไป เพราะพ่อแม่เคยผ่านช่วงเป็นวัยรุ่นมาก่อน เคยอยู่ในจุดนี้มาเหมือนกัน ผ่านอะไรต่ออะไรในช่วงวัยรุ่นมาตั้งมาก แต่ลูกเพิ่งเคยเป็นวัยรุ่น หลาย ๆ อย่างพวกเขาก็ไม่เข้าใจ ดังนั้น คุณต้องเอาใจลูกมาใส่ที่ใจคุณ ทำความเข้าใจว่าลูกคิดหรือสิ่งที่ลูกรู้สึกอยู่ขณะนี้ มันกำลังเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เขาต้องการคนช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่คนที่ทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้น


ฟังให้มากกว่าพูด
ปัญหาคลาสสิกของความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก คือการที่พ่อแม่ตั้งแง่กับลูกก่อนที่เขาจะอ้าปากพูดด้วยซ้ำ พ่อแม่หลายคนมักไม่ใจเย็นพอที่จะฟังลูกพูดให้จบ ชอบสวนขัดจังหวะ จับผิด ด่วนตัดสิน ฟังแบบตัดรอน ชอบเทศนาแทรก มันทำให้พวกเขาไม่อยากจะคุยหรือปรึกษาอะไรกับพ่อแม่อีก ยิ่งถ้าเป็นลูกวัยรุ่น นั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะยอมคุย เพราะหลังจากนี้เขาจะหันไปหาเพื่อนแทน พ่อแม่แค่ใจเย็นขึ้นอีกสักนิด พูดให้น้อยลงฟังให้มากขึ้นและฟังอย่างตั้งใจ จนกว่าจะรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร จะได้เข้าใจลูกจริง ๆ ด้วย คุยกันแบบนี้ได้ประสิทธิภาพมากกว่าเยอะ

เคารพและให้เกียรติลูกให้มากขึ้น
เพราะเวลานี้เขาเติบโตจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว ความคิดความอ่านหลาย ๆ อย่างของพวกเขาจะมีแนวโน้มไปทางผู้ใหญ่ ที่ก็ไม่มีใครในโลกชอบการถูกหักหน้า หักหลัง ประจานความลับ หรือถูกเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คนเป็นพ่อแม่อาจจะคิดว่ามันเป็นการหยอกล้อด้วยความเอ็นดู รักหลอกจึงหยอกเล่น แต่พวกเขาอาจไม่รู้สึกสนุกด้วย และยิ่งรู้สึกแย่มากขึ้นตรงที่เป็นพ่อแม่ทำ ธรรมชาติของวัยรุ่นมักจะปรึกษาเรื่องต่าง ๆ กับเพื่อน ถ้าเขาลดอีโก้มาปรึกษาพ่อแม่ แสดงว่าเป็นเรื่องสำคัญ เขาจึงต้องการความจริงจัง เชื่อใจไว้ใจได้ และความเคารพให้เกียรติแบบคนคนหนึ่งในสังคม


อย่าละเลยการสร้างความสัมพันธ์อันดี
หลาย ๆ บ้าน พ่อแม่ลูกห่างเหินกันไปเลยเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น (และยาวไปจนพวกเขาเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่สนิทกับพ่อแม่อีก) ทั้งที่เมื่อตอนเด็ก ๆ เขาอาจจะสนิทกับพ่อแม่มากกว่านี้หลายเท่า จุดนี้น่าจะเริ่มมาจากการที่พ่อแม่เห็นลูกโตแล้ว เลยปล่อย ๆ แล้วต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ตัวเอง ไม่ค่อยมีเวลาสานสัมพันธ์กันในบ้าน ห่างหายจากการทำกิจกรรมร่วมกัน จนกลายเป็นว่าพวกเขาสนิทกับคนนอกบ้านมากกว่า ฉะนั้น อย่าละเลยการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน สร้างความเชื่อใจ ไว้ใจ ความรักความผูกพัน ซึ่งจุดนี้จำเป็นต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ


อย่าเริ่มต้นด้วยคำว่า “ทำไม”
คำว่า “ทำไม” บ่อยครั้งมันมีนัยยะหลากหลายตามน้ำเสียง จนทำให้หลาย ๆ กรณี มันเป็นคำอันตรายที่จุดชนวนความไม่เข้าใจกันและทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่ายมาก อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพ่อแม่ถามลูกว่า “ทำไม” มันคือการถามเหตุผล เด็กหลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกตั้งแง่ ด้วยคำถามมันต้องการคำตอบที่ค่อนข้างล้วงลึก พวกเขาจะพยายามหาเหตุผลที่เข้าข้างตนเองมาก เพื่อที่จะยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองคิดหรือทำนั้นถูกต้อง ดังนั้น การถามคำถามจึงไม่ควรจำกัดที่การให้พวกเขาให้เหตุผล แต่ให้พวกเขาพูดในสิ่งที่อยากพูด จากการถามอย่างสร้างสรรค์ของพ่อแม่


ชื่นชมบ้าง ให้กำลังใจเสมอ ดีกว่าเอาแต่พูดบั่นทอน
ไม่มีลูกคนไหนบนโลกนี้อยากได้ยินพ่อแม่พูดถึงตัวเองในด้านลบ พวกเขาก็อยากให้พ่อแม่ชื่นชมบ้างเวลาที่พวกเขาประสบความสำเร็จ แต่ที่ได้ยินมักจะเป็นถ้อยคำบั่นทอนกำลังใจมากกว่า วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เป็นวัยที่พวกเขากำลังค้นหาสิ่งต่าง ๆ อาจมีอะไรที่ไม่ถูกที่ถูกทาง พอถูกตำหนิ จะทำให้พวกเขารู้สึกต่อต้านและท้าทายอำนาจผู้ใหญ่ ฉะนั้น เปลี่ยนจากคำเชิงลบมาเป็นเชิงบวกดีกว่า (แต่ไม่ใช่การอวย) เช่น คำแนะนำ คำพูดให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมความภาคภูมิใจและความมั่นใจ หรือถ้าจะตำหนิก็ทำอย่างมีศิลปะ แบบนี้รื่นหูกว่าตั้งเยอะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook