Tanee Siam กระเป๋าหนังกาบกล้วย จากความเชื่อสู่งานแฟชั่น

Tanee Siam กระเป๋าหนังกาบกล้วย จากความเชื่อสู่งานแฟชั่น

Tanee Siam กระเป๋าหนังกาบกล้วย จากความเชื่อสู่งานแฟชั่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • Tanee Siam (ตานีสยาม) เกิดจากความตั้งใจของ กอล์ฟ-ธนกร สดใส หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ บ้านนี้มีปราชญ์ ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี โดยตั้งใจนำคุณสมบัติของวัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง กล้วยตานี มาอนุรักษ์และต่อยอดพัฒนาให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้
  • แฟชั่น คือหนึ่งในสิ่งที่กอล์ฟผลักดันโดยใช้ความรู้ด้านเคมีสิ่งทอมาผสานกับวิถีที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษนั่นคือช่างสกุลบายศรี
  • กาบกล้วย เป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่ถูกหยิบจับมาทดลองร่วมกับนวัตกรรมเกิดเป็น หนังกาบกล้วย ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับหนังทั่วไป

หากผู้อ่านได้ไปเยือนตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผู้อ่านมีจุดหมายเดินทางไปที่ไหนกันบ้าง สำหรับสายกระเพาะร้องหาของกินอย่างเรา ๆ คงต้องไปหยุดที่ไชโป๊หรือเค้กมะพร้าวก่อนเลย แต่หลังจากได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน บ้านนี้มีปราชญ์ หมุดหมายแห่งใหม่ของชุมชนเจ็ดเสมียนที่ตั้งใจนำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านรูปแบบ Art Market แล้ว ก็ได้พบว่าที่นี่เป็นเสมือนศูนย์กลางที่รวบรวมของดี วัฒนธรรมและความมีฝีมือของคนในชุมชนมาต่อยอดและนำเสนอให้เราได้รู้จักตำบลเจ็ดเสมียนกันเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในของดีที่ว่านั้นมี ‘กล้วยตานี’ หรือกล้วยที่ได้รับฉายาว่า ‘ราชินีกล้วย’ อยู่ด้วย แต่จะดีอย่างไรเราขอชวนนั่งลงฟัง กอล์ฟ-ธนกร สดใส หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้านนี้มีปราชญ์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Tanee Siam (ตานีสยาม) ไปพร้อมกัน


จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

เกริ่นก่อนว่า ตานี หรือ Tanee Siam คือสิ่งที่กอล์ฟตั้งใจนำวัสดุธรรมชาติที่ผูกพันกับวิถีชีวิตมายาวนานมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์และความร่วมสมัยมากขึ้น จากกล้วยตานีที่ปลูกในชุมชนจึงได้รับการสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรมสู่ ‘หนังกาบกล้วย’ ที่สามารถนำไปผลิตเป็นกระเป๋า หมวกหรือผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ได้ โดยมีคุณภาพทัดเทียมกับหนังในอุตสาหกรรม ซึ่งมีอายุการใช้งานราว 5-10 ปีเลยทีเดียว 

“แบรนด์ตานีเกิดจากวิถี ผมอยู่ในตระกูลช่างสิบหมู่คือ การทำบายศรี การแทงหยวกหรือเครื่องสักการะต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องสด ผมเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ที่ได้รับตกทอดมา ตอนแรกผมก็หนีไปพึ่งเทคโนโลยี ไปทำงานที่นั่นที่นี่มาก่อน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าผมขออยู่บ้านตัวเองและทำอะไรที่บ้านตัวเองให้ชัดเจนขึ้นดีกว่า เลยกลับมาทั้งอนุรักษ์และพัฒนา โดยใช้คำว่า ตานี เป็นตัวขับเคลื่อนให้คนรู้จักผ่านนวัตกรรมราชินีกล้วย” 


นอกจากงานบายศรีที่ยังคงอนุรักษ์ให้คงอยู่ ควบคู่กันไปแล้ว กอล์ฟก็ได้หยิบคุณสมบัติเด่นของกล้วยตานีที่เรียนรู้จากบรรพบุรุษซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวเขมรที่อพยพมาอยู่เจ็ดเสมียนโดยกล่าวว่ากล้วยตานีมีความเหนียว ความสวย เงางามและมีลวดลายเฉพาะตัวมาตกผลึก ผสมผสานกับความรู้ด้านเคมีสิ่งทอที่ได้ศึกษา เกิดเป็นไอเดียหนังกาบกล้วยที่มีโจทย์ตั้งต้นคือ ความต้องการลดทอนสารเคมีและต่อยอดมูลค่าของกล้วยตานีให้เป็นศิลปะที่จับต้องได้ คล้ายเป็นสะพานเชื่อมที่ส่งต่อความเชื่อจากพิธีกรรมที่เป็นรากเหง้าของชุมชนสู่งานแฟชั่นที่กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ทั้งยังได้ใช้ประโยชน์จากกล้วยครบทุกส่วนไม่เหลือทิ้งให้เป็นขยะอยู่ต่อไป กาบกล้วยจึงเป็นวัตถุดิบหลักของแบรนด์ตานี โดยปัจจุบันมีแหล่งวัตถุดิบในชุมชนที่ปลูกเพื่อส่งต้นกล้วยให้ Tanee Siam ราว 100 ไร่และได้เริ่มขยับขยายออกสู่ภายนอกชุมชนแล้ว แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือการยึดในคุณภาพการปลูกว่าต้องเป็นสายพันธุ์จากแปลงแม่ในชุมชนเจ็ดเสมียนเท่านั้น

“สิ่งนี้ทำให้เกิดวิถีแบบ Circular Economy ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของคนในชุมชนมาช่วยเหลือกัน คนนี้ถนัดภาคเกษตรก็ช่วยขับเคลื่อนว่าจะทำให้ตานีเป็นสายพันธุ์ที่มีความเข้มแข็งและมีลวดลายขึ้นมาได้อย่างไร เป็นต้นน้ำแจกจ่ายให้ชุมชนนำไปปลูกโดยมีสายพันธุ์จากแปลงแม่ของตานีที่เราดูแลอยู่ ทั้งแจกจ่ายและเก็บเกี่ยวจากชาวบ้าน เราใช้ได้ตั้งแต่ยอดจดโคนตั้งแต่ใบตองที่สามารถทำบายศรี จานหรือตลาดออนไลน์ส่งออก ส่วนก้านนำมาจักสานใช้งานเป็นบรรจุภัณฑ์ ต้นนำมาทำเป็นกระเป๋าหนัง เชือกกล้วย งานจักสาน ยางกล้วยก็สามารถนำมาสกัดเป็นสีเพนต์ สีย้อมได้ ต่อไปจะได้เห็นเครื่องนุ่งห่มที่มีลายอัตลักษณ์เป็นสีซีเปีย (Sepia) โดยใช้ยางกล้วยในการทำ”


Derived from Nature

คอลเลกชันแรกของตานี เกิดจากการลองผิดลองถูกมาร่วม 8 ปีของกอล์ฟที่มีคำว่า ตานี อยู่ในใจมาตลอด จึงเลือกหันหลังให้คำว่าทำไม่ได้ เดินหน้าหยิบจับต้นทุนที่มี นั่นคือการเก็บเกี่ยวกล้วยตานีที่มีอยู่รอบบ้านมาทดลอง และหาจุดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์จนสำเร็จและเริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจังเมื่อราว 3 ปีที่ผ่านมา

“กระเป๋าหนังกาบกล้วยเราใช้ตานี 1 ต้น ต่อกระเป๋า 1 ใบ คือลวดลายแต่ละใบจะไม่เหมือนกันเลย เป็นลวดลายที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ผมเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ก็จะบอกว่าธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ ตานีเป็นผู้เขียน เจ็ดเสมียนเป็นผู้เรียบเรียง คือเราเป็นผู้เรียบเรียงลวดลายเพื่อพรีเซนต์ลวดลาย ตานี แต่ละต้นให้ออกมาเป็นโมเดลของกระเป๋าแต่ละใบจากสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาอยู่แล้ว”



กว่าจะออกมาเป็นกระเป๋าหนังกาบกล้วยแบบที่เห็น กอล์ฟเล่าว่าต้องผ่านกระบวนการผลิตถึง 16 ขั้นตอนโดยมีคีย์หลักคือการ “กรีด ตาก รีด ต่อ” ที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตัว เพราะแต่ละขั้นตอน ผลิตผ่านสองมือช่างที่นอกจากทักษะฝีมือต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติอยู่ด้วย เช่น การตากที่มีตัวแปรคือแสงอาทิตย์ที่อาจส่งผลต่อสีของกาบกล้วย หรือการต่อที่ต้องอาศัยจินตนาการในการวางเรียงลวดลายจากกล้วยแต่ละต้นให้ออกมาสวยงาม ส่วนนี้ใครอยากเห็นกระบวนการจริง ๆ สามารถเข้าชมที่สตูดิโอของตานีสยามในโครงการได้เลย

นอกจากลวดลายกระเป๋าแต่ละใบที่ต่างกันอย่างแน่นอนแล้ว เอกลักษณ์ของตานีคือการใช้เทคนิคการพับ จับและจีบในงานใบตอง เช่น การทำบายศรีหรือการห่อขนมไทย มาผสมผสานลงในดีไซน์ส่วนรอยพับกระเป๋าด้วย ทั้งนี้ยังมีความตั้งใจชูลวดลายและวัตถุดิบให้เป็นจุดเด่น จึงเป็นเหตุผลที่ตานีไม่ใส่ตราสัญลักษณ์ใด ๆ ลงไปในผลิตภัณฑ์เลย ถึงตรงนี้ใครที่เริ่มสนใจแต่ยังติดขัดอยู่ว่าวัสดุธรรมชาติจะคงทนไหม ใช้งานได้ดีหรือเปล่า จุดนี้ต้องยกเวทีให้แก่นวัตกรรมที่อาศัยคุณสมบัติทางธรรมชาติของยางกล้วยที่มีสารต้านเคมีและเชื้อรา ผสานกับยางพาราที่ให้คุณสมบัติด้านความยืดหยุ่นและกันน้ำมาใช้ในกระบวนการคล้ายกับการเคลือบทำให้หนังกาบกล้วยสามารถใช้งานได้ดีเทียบเท่ากับหนังทั่วไป ส่วนด้านในของกระเป๋าตานีซับด้วยผ้าคอตตอนแคนวาสอย่างดี ทั้งรูปแบบและประเภทของกระเป๋าในคอลเลกชันแรกยังดีไซน์ขึ้นมาให้ตอบโจทย์การใช้งานในไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย สนนราคาเริ่มต้นที่ 500 ถึงราว 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและดีไซน์ สำหรับใครที่อยาก Customized เลือกลวดลายเฉพาะของตัวเองก็สามารถพูดคุยสอบถามกับทางแบรนด์ได้โดยตรงเช่นเดียวกัน (กอล์ฟเล่าว่ามีการจองตั้งแต่ต้นกล้วยกันเลย)


ปัจจุบันในพาร์ตของการจำหน่าย เบื้องต้นตานีสยามเปิดจำหน่ายผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและสตูดิโอตานีเท่านั้น เพราะอยากให้คนได้เข้าไปสัมผัสเรื่องราวและคุณค่าว่ากว่าจะออกมาเป็นกระเป๋าหนึ่งใบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในปัจจุบันกอล์ฟจึงมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารเรื่องราวให้เกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของท้องถิ่นก่อน โดยกล่าวว่าคอลเลกชันและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จะมีตามมาอีกแน่นอนแบบค่อยเป็นค่อยไป 

“เราไม่ได้เน้นตัวยอดขาย แต่อยากเน้นให้คนเห็นคุณค่ามากกว่า ผมไม่อยากวางหน้าร้านที่ไหนเลย อยากดึงคนเข้ามาที่นี่ให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้ทำยากนะ เราไม่ได้ขายกระเป๋า เราขายงานศิลปะครับ” 

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของ ตานี หรือ Tanee Siam ได้ทาง Facebook : Tanee Siam
  • Instagram : taneesiam
  • โทรศัพท์ : 099-149-9746 หรือ Line: @Taneesiam
  • เที่ยวชมโครงการ บ้านนี้มีปราชญ์ และ สตูดิโอตานี ได้ที่ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดวันจันทร์) โดยวันเสาร์-อาทิตย์สุดท้ายของเดือนขยายเวลาเปิดถึง 20.00 น.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook