เบื้องหลัง แพนเค้กสวยตะลึง! รำบวงสรวงท้าวมหาพรหมรับเปิดประเทศ
กลายเป็นกระแส ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เพียงชั่วข้ามคืน หลังแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดงสาวที่ได้ร่วมรำในพิธีสักการะท้าวมหาพรหมประจำปี 2564 เป็นคนแรกในรอบหลายสิบปีทีผ่านมา เนื่องจากงานที่จัดเพียงปีละครั้งและที่ผ่านมาเหล่าคนดังต่างๆ ที่เคยมารำถวายจะเป็นการรำแก้บนทั้งสิ้น วันนี้เราจะมาเผยเบื้องหลังความพิเศษของการรำในพิธีสักการะท้าวมหาพรหมของนางรำทั้ง 9 คน ในบทเพลงที่ประพันธ์ใหม่ประกอบท่วงท่ารำอ่อนช้อยที่ออกแบบขึ้น เพื่อใช้ในการสักการะท้าวหมาพรหมในปี 2564 นี้โดยเฉพาะ ซึ่งสาวแพนเค้กไม่ทำให้ผิดหวังสามารถสะกดผู้ชมในบริเวณงานและที่ชมผ่านออนไลน์ได้อย่างลืมหายใจ
เปิดเบื้องหลังชุดรำและเครื่องแต่งกายสุดจึ้งของแพนเค้กและนางรำทั้ง 8
ชุดของนางรำและเครื่องแต่งกายจัดเตรียมโดย จารุวรรณ สุขสาคร ครูภูมิปัญาละครชาตรี วิทยากรพิเศษ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย คณะจงกล โปร่งน้ำใจ บูรพศิลปินกระทรวงวัฒนธรรม ตัดเย็บสำเร็จเลียนแบบละครโบราณ ใช้วัสดุสมัยใหม่ที่ผ้ามีเลื่อมทองปักมาแล้ว (เป็นผ้าไหมอินเดีย) และตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเพชรพลอย และปักเพิ่มเป็นดอกด้วยมือ โดยใช้เลื่อมสีทองปักเป็นหลัก ทางคณะจะเรียกว่า "เครื่องเบา ลายแบบโบราณ” ปักด้วยมือโดยคุณรัตน์ วัชรพงศ์ ปานเสนชุติพันธุ์ แห่งบ้านเครื่องครูรัตน์ นนทบุรี ศิลปินดีเด่นจังหวัดนนทบุรี ส่วนยอดมงกุฏที่ใส่บนศรีษะ ทำด้วยโลหะประกอบเงินแท้ ลงลักปิดทองแท้ พร้อมห้อยอุบะดอกไม้ทัดยอดเราเรียกว่า "ศิราภรณ์" ในส่วนของเครื่องประดับทำมาจากเครื่องเงินแท้เกือบทุกชิ้น ประกอบไปด้วย จี้นาง หัวเข็มขัด (ปั่นเหน่ง), ทองกร (กำไลมือแผงฉลุ) ประดับด้วยพลอยสีทับทิม, สายเข็มขัดแบบ (ทางมะพร้าว) ชุบทองแท้, สะอิ้งทองพลอยสีทับทิม (สายสร้อยตัวใส่ก่อนห่มผ้านาง), ข้อมือประดับด้วย แหวนรอบ ปะวะหล่ำ กำไล สร้อยลูกไม้ปลายมือ ข้อเท้า กำไลข้อเท้าหัวบัว พร้อมแหวนรอบ (โลหะชุบทอง) รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1 แสนบาท
สำหรับชุดของนางรำอีก 8 คน เป็นการล้อมาจากชุดของนางรำละครชาตรีโบราณ ซึ่งดั้งเดิมใช้เครื่องปักด้วยดิ้นเลื่อมโลหะ ลวดลายเป็นลายชาวบ้าน ลายป่า แต่เมื่อวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป มีการนำเลื่อมพลาสติก ลูกแก้ว ลูกปัด นำมาปักเครื่องแต่งกายให้มีความสวยงามมากขึ้น โดยในวันที่ 9 พฤศจิกายนของทุกปี คณะจงกล โปร่งน้ำใจ บูรพศิลปินกระทรวงวัฒนธรรม จะทำการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของนางรำ เพื่อเป็นการถวายการสักการะแด่องค์ท่านท้าวมหาพรหม แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายโบราณ
เบื้องหลังการรำบวงสรวงถวายท้าวมหาพรหม หาชมยากเพียงปีละครั้ง
ในสมัยโบราณการรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะใช้การรำถวายมือ ประกอบไปด้วย 3 เพลง คือ เพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงลงลา แต่นับตั้งแต่ปี 2519 การรำถวายท่านท้าวมหาพรหม จะนำเอาชุดที่มีการร้องเข้ามาประกอบ อาทิ ระบำเทพบรรเทิง ระบำดอกบัว เพื่อที่จะมีการร้องและรำไปด้วยกัน
สำหรับการรำถวายในวันสักการะ 9 พ.ย. เพื่อสักการะท่านท้าวมหาพรหมและเป็นสัญญาณของการเปิด ‘เทศกาลราชประสงค์ 8 องค์เทพ’ นั้น ได้ใช้เพลงชื่อ “สักการะท่านท้าวมหาพรหม” ที่คณะจงกล โปร่งน้ำใจ บูรพศิลปินกระทรวงวัฒนธรรม ประพันธ์ขึ้นสำหรับท่านท้าวมหาพรหมโดยเฉพาะ รวมถึงท่ารำที่เรียงร้อยขึ้นมาใหม่ประยุกต์กับท่ารำแบบโบราณ จึงมีความพิเศษกว่าการรำปกติทั่วไป โดยเนื้อเพลงเป็นการไหว้ สักการะ สรรเสริญ ขอพร ให้องค์ท่านท้าวมหพรหม ได้ปกปักรักษาประชาชนผู้ที่มีความศรัทธาที่มาร่วมสักการะบวงสรวงในวันสำคัญนี้
การรำถวายในวันสักการะประจำปีจึงมีความแตกต่างจากการรำทั่วไปที่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างว่าจะถวายนางรำจำนวนเท่าไรเพื่อแก้บน แต่ในครั้งนี้เป็นการเจาะจงถวาย 9 นางรำ ซึ่งเลข 9 ถือเป็นเลขมงคลของคนไทย เพื่อความเจริญก้าวหน้า
ชุดนางรำเจน 1-3 (ตามลำดับ)
นางรำแก้บน’ การสืบสานงานศิลป์ของรากเหง้าวัฒนธรรมและความศรัทธา
แม้การรำบวงสรวงที่สาวแพนเค้ก เขมนิจ เป็นตัวแทนนำร่ายรำจะหาชมได้เพียงปีละ 1 ครั้ง (เฉพาะวันที่ 9 พ.ย.ของทุกปีเท่านั้น) หากแต่นางรำแก้บนที่ประจำอยู่ ณ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ โดยคณะจงกล โปร่งน้ำใจ บูรพศิลปินกระทรวงวัฒนธรรม ยังคงเป็นผู้สืบสานงานศิลปะดั้งเดิมและสืบทอดความเชื่อ ความศรัทธา เสมือนสะพานสื่อสารระหว่างผู้ศรัทธากับองค์เทพฯ มาตั้งแต่ปี 2519 โดยในทุกวันที่ 9 พ.ย.ของทุกปีจะถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ เหล่านางรำจะมีการเปลี่ยนชุดรำและเครื่องทรงเพื่อถวายให้แก่ท่านท้าวมหาพรหม สำหรับชุดล่าสุดนี้ถือเป็นเจนเนอเรชั่น 3 แล้ว
อัลบั้มภาพ 18 ภาพ