งอนได้แต่อย่าเยอะ ตัวบ่อนทำลายความสัมพันธ์
เรื่องน่าปวดหัวเรื่องหนึ่งที่คนมีแฟนมักจะเจอเป็นประจำ มักเกิดขึ้นในเวลาที่ทะเลาะกันหรือมีเรื่องที่คุยกันแล้วไม่เข้าใจ คือการที่อีกฝ่าย “ขี้งอน” มากเกินไปหน่อย “เกิน” ในที่นี้คือเกินไปมากจริง ๆ อะไรนิดอะไรหน่อยก็งอน เหมือนคนที่จ้องหาจังหวะจะงอนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเหตุผลในการงอน หรืออะไรที่ไม่เป็นเรื่องก็สามารถทำให้เป็นชนวนเหตุแห่งการงอนได้ พอจะอธิบายอะไรให้ฟังก็ไม่ค่อยอยากจะฟัง ฟังแต่ความคิดของตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว จนอีกฝ่ายรู้สึกเหนื่อยที่จะง้อ และพอไม่ง้อ เรื่องก็ยิ่งบานปลายไปกันใหญ่ มีใครที่ติดอยู่ในวังวนแบบนี้บ้าง?
ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ในทุกวันจะวนอยู่แค่นี้ไม่จบสิ้น งอนแล้วก็ง้อ ดีกันได้ไม่กี่อึดใจ อะไรขัดใจนิดเดียวก็งอนใหม่แล้วก็ต้องง้อใหม่ ความสัมพันธ์ที่ต้องประคับประคองกันไปแบบนี้ ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อบ้างเหรอ ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกอย่างมันดีกว่านี้ได้ แค่พูดคุยกันแบบเปิดใจแล้วปรับคนละนิดคนละหน่อยเท่านั้นเอง
อาการ “งอน” คือการแสดงความโกรธเคืองหรือไม่พอใจเพื่อให้อีกฝ่ายง้อ ซึ่งมันมาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจว่าตัวเองได้รับความรัก ความสนใจ หรือความสำคัญจากคนที่รักน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ เป็นไปได้ทั้งจากการที่อีกฝ่ายให้ความรัก ความสนใจ ความสำคัญน้อยไปจริง ๆ หรืออาจจะเกิดจากการคิดมากไปเองว่ามันน้อยลง รวมถึงการละเลยเหตุผลที่อีกฝ่ายให้มา ว่าทำไมทุกอย่างมันถึงดูน้อยลง
ปกติแล้วเราก็มักจะงอนเฉพาะกับคนที่เรารักและเป็นคนที่เราให้ความสำคัญ เพราะกับคนแปลกหน้าหรือคนที่เราไม่ได้รู้สึกอะไรด้วย ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปอยากได้ความรัก ความสนใจ หรือความสำคัญอะไรจากพวกเขา พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเราจะไม่งอนกับคนที่เราไม่รักและไม่ให้ความสำคัญหรอก เพราะฉะนั้น อย่างน้อย ๆ เวลาที่มีคนงอนเรา เราก็ควรจะดีใจว่าที่อีกฝ่ายเขางอน แปลว่าเขารัก เขาสนใจ และเขาให้ความสำคัญกับเราอยู่นะ ที่สำคัญคือ เราอยากให้ง้อ เพื่อที่จะได้กลับมาดีกันเหมือนเดิม
แต่…อะไรที่มันมากเกินไป มันก็เป็นโทษ เป็นพิษ เป็นภัยได้ทั้งนั้น อย่างการงอนที่มักจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็เช่นกัน ไม่มีใครที่ชอบคนที่ขี้งอนพร่ำเพรื่อ ยิ่งถ้าเป็นคนที่งอนแบบไม่มีเหตุผลด้วยแล้วยิ่งแล้วใหญ่ แรก ๆ มันก็แค่น่าเบื่อ พัฒนาจนเป็นความเหนื่อย รำคาญ กัดกร่อนบ่อนทำลายความสัมพันธ์ จนในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเอาเสียเลย
ความสัมพันธ์ที่ดี ควรไปในทิศทางที่ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นที่พัก ที่พึ่งพิงทางใจให้แก่กัน แต่แบบนี้เหมือนจะยิ่งเหนื่อยกว่าเดิม ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามันมากเกินไป อาจต้องคุยให้เข้าใจแล้วปรับให้เข้ากัน อย่าคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะเอ๊ะแล้วคิดได้เอง ด้วยคนเรามีความสามารถในการคิดได้เองไม่เท่ากัน เมื่อคุยกันแล้ว การปรับตัวเข้าหากันใหม่อีกทีอาจเริ่มจาก
พยายามเป็นคนมีเหตุผลให้มากกว่าเดิม
คนที่ไม่มีเหตุผล ส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนไม่มีเหตุผล ดังนั้น แค่ความรู้สึกที่มันขัดใจตัวเอง ไม่ได้ตามที่ตัวเองต้องการก็งอนแล้ว หรือบางทีอาจเป็นการตั้งแง่บางอย่างกับอีกฝ่ายจนกลายเป็นทำอะไรก็ไม่ถูกใจก็ได้ ควรพยายามที่จะเป็นคนมีเหตุผลให้มากขึ้นกว่านี้ ฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามบอก มองโลกตามความเป็นจริง เข้าใจอะไรง่าย ๆ อย่าสะบัดสะบิ้งเพียงเพราะต้องการให้อีกฝ่ายง้อ มีอะไรคุยกันดี ๆ เลือกที่จะสื่อสารกันตรง ๆ 2 ฝ่ายดีกว่า แล้วก็ถ้าเลิกได้ก็เลิกซะ! ความคิดที่ว่าถ้างอนแล้วแฟนต้องง้อ เพราะบางทีมันอาจถึงจุดที่เขาไม่ง้อและพร้อมบอกเลิกอยู่ก็ได้
เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น
รู้ไหมว่าการงอนกันไปง้อกันมามันเสียเวลามากกว่าที่คิด เสียอารมณ์ความรู้สึกด้วย ถ้าจะไม่พอใจ แสดงออกมาว่าโกรธหรือต่อต้านเลยจะดีกว่าชัดเจนดี อย่างที่ฝรั่งบอกว่า “It’s okay to get upset, be mad but don’t sulk!” นึกถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายด้วย โดยลองเอาตัวเองเข้าไปแทนแฟน ไปอยู่ในจุดที่ต้องรับมือกับคนขี้งอนแบบนี้เป็นประจำ ถึงจะรู้ว่ามันประสาทแค่ไหน การเรียกร้องความสนใจแบบนี้บ่อย ๆ สร้างความอิดหนาระอาใจให้คนรอบข้าง แล้วถ้าต้องมาคอยรับมือแฟนขี้งอนวันละ 4 เวลา มันจะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษขนาดไหน ต้องเห็นใจกันด้วย
งอนแบบมีชั้นเชิง แค่พอหอมปากหอมคอ
เผื่อเข้าใจผิดว่าที่บอกมาทั้งหมดคือ “ห้ามงอน” คนรัก คนรักกันไม่ได้หมายความว่าจะงอนกันไม่ได้เลย การงอนง้อกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ถือเป็นสีสันและช่วยกระชับความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ควรจะรู้ขอบเขต งอนแบบไหนแล้วน่ารัก น่าง้อ หรืองอนแบบไหนแล้วงี่เง่า น่ารำคาญ พาลให้หงุดหงิด งอนอย่างพอดีก็คือให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราไม่พอใจ เขาควรทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่งอนพร่ำเพรื่อ ชอบวีนเหวี่ยงเกรี้ยวกราด เปิดช่องว่างให้เขามาเคลียร์ พออีกฝ่ายมาง้อแล้วหรือขอโทษแล้ว ก็พูดคุยปรับความเข้าใจ จบแล้วให้จบ อย่าต่อความยาวสาวความยืด อย่าขุดเรื่องเก่ามาพูด อย่าประชด
ทำความเข้าใจคนรักให้มากขึ้น
ต้องทำความเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายคนง้อประจำ อาจต้องมองให้เห็นปัญหาว่าคนขี้งอนก็คงจะมีสาเหตุเหมือนกัน อาจเป็นปมในวัยเด็กที่ขาดความรัก การเอาใจใส่ จนรู้สึกว่าต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้มาอยู่เสมอ อาจเคยเก็บกดเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีโอกาสได้เปิดเผยความรู้สึกของตัวเองตรง ๆ ไม่มีความมั่นใจและกล้าพอที่จะสื่อสารสิ่งที่ต้องการตรง ๆ จนต้องมีวิธีแสดงออกในลักษณะของการงอนเพื่อให้มีคนตามง้อ หรือในอีกกรณีคืออาจเคยโดนตามใจจนเคยตัว แล้วเมื่อแสดงอาการเอาแต่ใจตัวเองแล้วมีคนมาเอาใจ ก็จะแสดงออกแบบนี้ไปตลอดเพื่อให้ได้ดั่งใจ
ฝ่ายคนขี้งอน ก็ต้องเข้าใจทั้งพฤติกรรมของตนเองและของคนรัก จริง ๆ คนรักอาจจะรักและแคร์มาก แต่เขาแค่แสดงออกไม่เก่ง และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไรเพื่อเอาใจคนรักของตัวเอง หรือบุคลิกเขาอาจเป็นคนที่ง้องอนใครไม่เป็น ไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงง้อก็ได้ หรืออาจเป็นเพราะตัวเขามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ต้องทำ จนบางทีก็ละเลยคนรักไปบ้าง แต่ถ้าว่างเขาก็ไม่เคยขาดตกบกพร่อง การพยายามทำความเข้าใจกันและกันเพื่อยอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็น รับให้ได้ทั้งข้อดีข้อเสีย น่าจะทำให้ปัญหาน้อยใจหรืองอนเก่งค่อย ๆ หายไปได้เอง
คาดหวังในตัวคนรักให้น้อยลงอีกสักนิด
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะคาดหวังนู่นนั่นนี่ในตัวคนรัก แต่การที่เราคาดหวังสูงแล้วไม่ได้ตามที่หวัง ความผิดหวังมันก็จะยิ่งรุนแรง โดยพื้นฐานพวกอารมณ์น้อยอกน้อยใจหรือขี้งอนก็อยู่บนพื้นฐานของการคาดหวังอยู่แล้ว คาดหวังว่าจะได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ ความสนใจเท่านั้นเท่านี้ ถึงจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ หากไม่ได้ตามที่หวังก็คงรู้สึกน้อยใจหรืองอนได้ไม่แปลก หากรู้ดังนี้แล้ว ก็ลองคาดหวังให้น้อยลงมา จะได้ไม่ทุกข์เอง ต้องการอะไรก็บอกไปตรง ๆ อย่าคิดเยอะ อย่าคาดหวังว่าเขาจะรู้ได้เอง แบบนี้ชัดเจนกว่าเยอะ