No Bra เทรนด์แฟชั่นที่ไม่ใช่แค่ความสบายแค่คือหมุดหมายแห่งอิสรภาพของสตรี
คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าทำไมผู้หญิงต้องใส่เสื้อชั้นใน? นี่คือเหตุผลง่ายๆ ที่กระแส No Bra หรือ Braless เกิดขึ้นมาบนโลกนี้กว่า 60 ปีแล้ว ความจริงแล้วมีการศึกษาว่าสตรีเริ่มเปลี่ยนจากการใส่คอร์เซทมาเป็นนวัตกรรมจัดรูปทรงทรวงอกในสมัยปลายยุควิกตอเรียนเนื่องมาจากเหตุผลเรื่องสุขภาพที่ว่าคอร์เซทรัดเกินไปและเริ่มคิดค้นแฟชั่นใหม่ๆ เพื่อความสบายมากขึ้น ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ Modern Bra หรือบาร์สมัยใหม่ขึ้นมาโดย Herminie Cadolle ในปี 1889 ที่นำเอาคอร์เซทมาแยกเป็นสองส่วน ก่อนจะเริ่มขายแยกแค่ส่วนบนที่มีลักษณะแบบเสื้อชั้นในในปัจจุบันในอีก 6 ปีต่อมา
จะว่าไปแล้วเทรนด์ Braless นั้นก็เป็นหนึ่งในประเด็นย่อยของแนวคิดเรื่องเฟมินิสม์หรือแนวคิดสตรีนิยมที่เกิดขึ้นหลังสตรีมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้งแล้ว ราวปี 1960-1980 ในช่วงรุ่งเรืองของยุคเสรีนิยม พวกเธอเริ่มมีคำถามถึงสังคมชายเป็นใหญ่ที่ผู้ชายเป็นคนออกกฎเกณฑ์มากมายมาเพื่อควบคุมความเป็นไปของสังคม รวมทั้งการแต่งกายของสตรีด้วย หนึ่งในผลลัพธ์ของอิทธิพลแฟมินิสต์ในช่วงนั้นก็คือผู้หญิงเริ่มมีโยนบราทิ้งไป เพราะพวกเธอมองว่านอกจากมีค่าใช้จ่ายสูงที่จะหาบราที่พอดีตัวแล้ว บรายังเปรียบเสมือนสิ่งที่มีมาเพื่อควบคุมร่างกายของผู้หญิงให้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและเพื่อความสบายใจของสังคมที่ถูกควบคุมโดยเพศชาย เราจะเห็นได้ว่าดาราดังๆ ในยุคนั้นอย่าง Farrah Fawcett และสองสาว Kate Jackson และ Jaclyn Smith จากซีรี่ส์เรื่องนางฟ้าชาร์ลีต่างก็ No Bra ออกสื่อเป็นประจำรวมทั้งในซีรีส์เองด้วย ต่อมาในยุค 90s เราก็ได้เห็นแฟชั่นเฮ้าส์หลายแห่งทั้ง Chanel, YSL, Prada ต่างโชว์นางแบบ No Bra บนรันเวย์มาแล้ว
Corbis via Getty Images
ส่วนในช่วงปี 2000s เป็นต้นมา การโนบราเริ่มถูกมองแยกออกมาจากแนวคิดเรื่องเฟมินิสม์ แต่กลายมาเป็น “ตัวเลือก” ในการใช้ชีวิตของสตรีในยุคใหม่โดยเฉพาะสาวยุคมิลเลนเนียมที่พวกเธอมองว่าการจะใส่หรือไม่ใส่บรานั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมัน การมองร้ายผู้หญิงที่โนบราเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งก็ตรงกับเทรนด์การเปิดรับความหลากหลายในสังคมที่ไม่ได้หมายถึงแค่ความหลายหลายของเพศหญิงแต่หมายถึงความหลากหลายในทุกรูปแบบ
ปี 2021 นี้เราได้เห็นแฟชั่นหวาบหวามมากมายจากเหล่าดาราดัง และล่าสุดสังคมไทยก็ได้เกิดการถกเถียงเรื่องสตรีอีกครั้งเมื่อมีแม่ค้าเครปในเชียงใหม่หยิบเอาเสื้อสเวตเตอร์ตัวจิ๋วซิกเนเจอร์ลุคของสาว Bella Hadid มาใส่ทำอาหารจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมอย่างรุนแรง บ้างก็เห็นด้วยว่าไม่เหมาะสม ขัดกับประเพณีอันดีงามของเชียงใหม่และประเทศไทย บ้างก็เห็นว่านั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลอีกทั้งยุคสมัยก็เปลี่ยนไปแล้วและเธอก็ไม่ได้แต่งตัวไปในที่ๆ ไม่ควรแต่งแต่แค่แต่งขายของในร้านตัวเอง ในความเห็นเรา หากอ่านมาทั้งหมดก็ย่อมจะเดาได้ว่าเราไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่แต่อยากให้ระวังเรื่องความสะอาดด้วยการรวบผม ส่วนเรื่องการแต่งกายของเธอนั้นเราเห็นว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลมากๆ
Madonna วิจารณ์ Instagram ที่ลบรูปเธอเพราะเห็นหัวนมว่าคือความไม่เท่าเทียมทางเพศ
GETTY IMAGES
Getty Images
หากจะมองในด้านกฎหมายมาตรา 388 ที่ว่าด้วยเรื่องการกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล สิ่งนี้ใช้การตีความว่าประชาชนส่วนมากเห็นว่าเป็นการกระทำที่น่าอับอายหรือไม่เป็นตัวตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด จากตรงนี้เราก็จะเห็นได้แล้วว่าสังคมโลกและสังคมไทยเปลี่ยนไปเพราะความเห็นของคนที่มีต่อเรื่องนี้แทบจะแบ่งออกว่าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
สุดท้ายแล้วในยุคที่โลกหมุนเปลี่ยนไปด้วยความรวดเร็ว มนุษย์ถูกสอนให้ยอมรับความหลายหลายในทุกรูปแบบที่ไม่ขัดต่อกฏหมาย แม้แต่ตัวจารีตและกฎหมายเองก็ถูกเปลี่ยนแปลงและแก้ไขไปตามกาลเวลา ไม่ว่าผู้หญิงจะอยากแต่งตัวหวาบหวาม แต่งตัว No Bra เพื่อบริหารเสน่ห์หรือแค่มองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติเหมือนการเปลือยอกของผู้ชาย สิ่งเดียวที่จะตัดสินได้ว่าการกระทำเหล่านั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรเป็นความพึงใจของตัวเธอเอง ไม่ใช่คำวิจารณ์ของคนอื่น
ในปี 2018 ซุเปอร์โมเดล Kate Moss ให้สัมภาษณ์ถึงการถ่ายแฟชั่นเปลือยอกของเธอ ซึ่งเธอตอบว่าถูกกดดันให้ทำและเธอไม่ชอบและอยากบอกกับนางแบบรุ่นใหม่ๆ ว่าตัวเองไม่อยากทำก็ไม่จำเป็นจะต้องทำ
หมายเหตุ
ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์มากพอที่จะยืนยันได้ว่าการไม่สวมบราจะทำให้ทรวงอกหย่อนหยานหรือเปลี่ยนรูปร่าง ในขณะที่การสวมบราไม่ถูกไซซ์มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการปวดหลัง