เปลี่ยนสีผมอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันการเปลี่ยนสีผมเป็นแฟชั่นยอดฮิต มีให้เลือกหลากสี บางคนเปลี่ยนสีผมเพื่อเสริมสร้างบุคลิกใหม่ ในขณะที่บางคนเปลี่ยนสีผมเพื่อให้ทันสมัยตามกระแสนิยม แต่เบื้องหลังสีผมสวยโดดเด่นเป็นสง่า คุณรู้หรือไม่ว่าน้ำยาเปลี่ยนสีผมหรือยาย้อมผมมีกี่ชนิด? และแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร? มีคุณสมบัติอะไรที่ทำให้เปลี่ยนสีผมเราได้? และที่สำคัญก่อนตัดสินใจเปลี่ยนสีผมเราควรระวังอะไรบ้าง?
น้ำยาเปลี่ยนสีผมหลากประเภท หลายจุดเด่น
น้ำยาเปลี่ยนสีผมหรือยาย้อมผมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามความคงทนของสีผมที่เปลี่ยน ได้แก่ ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว กึ่งถาวรและถาวร
ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว มีโมเลกุลขนาดใหญ่ สีจึงเคลือบบนชั้นนอกของเส้นผมเท่านั้น ล้างออกได้ง่ายหลังจากสระผมด้วยแชมพูครั้งแรก ผลิตภัณฑ์น้ำยาเปลี่ยนสีผมชนิดนี้มักเป็นแบบพร้อมใช้ไม่ต้องผสมเองให้ยุ่งยาก มักเป็นเฉดแม่สี มีจำหน่ายในรูปแบบคัลเลอร์ รินส์ (Color Rinse) สามารถทาหรือพ่นบนผมที่แห้ง ชโลมหรือทาทิ้งไว้ประมาณ 2-5 นาทีและล้างออก เช่นเดียวกับรูปแบบสเปรย์ (Color Sprays)
ยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวร มีโมเลกุลขนาดเล็ก สีจึงเคลือบบนชั้นนอกและกลางของเส้นผม แต่ไม่ซึมลึกถึงโปรตีนของเส้นผม อันจะมีผลเปลี่ยนสีผมเดิมตามธรรมชาติได้ ยาย้อมผมกึ่งถาวรจึงติดคงทนในการสระผมอยู่ประมาณ 6-8 ครั้ง มีจำหน่ายในรูปแบบแชมพ
ูสระผม แวกซ์ โลชั่น โฟมย้อมสี ทั้งนี้วิธีใช้ก็แตกต่างกันตามลักษณะของผลิตภัณฑ์
ยาย้อมผมชนิดถาวร ไม่สามารถล้างออกได้ด้วยการสระผม สีจะติดคงทนและไม่ซีดจางง่าย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการย้อมผมขาว แบ่งประเภทหลักๆ ออกเป็น 2 ชนิดคือ
* ยาเคลือบผม (Coating Tints) เช่น สมุนไพรย้อมผม (Vegetable Dyes) เปลี่ยนสีผมด้วยการเคลือบเฉพาะบนชั้นนอกของเส้นผมแต่ไม่ทำลายโครงสร้างของเส้นผม ได้มาจากการสกัดของสมุนไพรตามธรรมชาติ เช่น เฮนนา ซึ่งจะให้สีแดงอมส้มหรือน้ำตาล และดอกคาโมมายด์ ที่ให้สีทอง
ยาย้อมผลชนิดซึมสู่เส้นผม เป็นน้ำยาเปลี่ยนสีผมที่คนส่วนใหญ่คุ้นตากัน ภายในกล่องประกอบด้วยน้ำยา 2 ขวด คือ สีออกซิเดชั่นและน้ำยาโกรก หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
สีออกซิเดชั่น (Colorant) หรือสีพารา เป็นครีมหรือของเหลวบรรจุในหลอด มีโมเลกุลขนาดเล็ก ไม่มีสี มีแอมโมเนียเป็นส่วนผสมหลักเพื่อให้มีสภาวะเป็นกรด-ด่างประมาณ 8-11 ความเป็นด่างของแอมโมเนียนี้มีคุณสมบัติทำให้เส้นผมชั้นนอกบวมและพองขึ้นมาก เมื่อบวกกับส่วนผสมของสารลดแรงตึงผิวจะทำให้สีซึมเข้าไปสู่เส้นผมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากสีออกซิเดชั่นมีความเป็นด่างมากก็จะทำลายส่วนชั้นนอกของเส้นผมบางส่วนทำให้ผมหยาบ กระด้าง สีออกซิเดชั่นที่นิยมใช้ในประเทศไทยคือ พาราฟีนีรีนไดอะมีนและพาราโทลูอีนไดอะมีน
น้ำยาโกรก (Developer) หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ มีลักษณะเป็นครีมหรือของเหลวใส ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาด 6% เพราะหากไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มากกว่า 6% จะทำให้ผมแห้ง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่หนังศีรษะ แต่ถ้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์น้อยกว่า 6% ก็จะไม่สามารถออกซิไดซ์สีอย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการเกิดสีผมสวย
หลักการทำงานพื้นฐานของน้ำยาเปลี่ยนสีผมชนิดถาวร ที่ทำให้สีผมของเราเปลี่ยนไปคือ การทำปฏิกิริยาระหว่างสีออกซบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (ขวดที่2) หลังจากเทส่วนผสม 2 ชนิดและเขย่าให้เป็นเนื้อเดียวกันจนข้นแล้วนำไปชโลมบนเส้นผม สารประกอบที่อยู่ในน้ำยา 2 ขวดจะเกิดปฏิกิริยาต่อกันทำให้เกิดออกซิเจน เปลี่ยนขนาดโมเลกุลของสีให้จับตัวใหญ่ขึ้น มีผลทำให้สีที่ได้ถูกกักเก็บอยู่ในชั้นกลางของเส้นผม นอกจากนี้ออกซิเจนยังทำปฏิกิริยากับสีผมตามธรรมชาติ เกิดเฉดสีที่อ่อนลง ทำให้สีที่ผสมขึ้นใหม่ตามความเข้ม-อ่อนบนฉลากผลิตภัณฑ์เห็นเด่นชัดเจนขึ้น
ข้อควรระวังที่ต้องรู้ก่อนทำสีผมทุกครั้ง
ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมไม่ว่าจะมาจากการสังเคราะห์ทางเคมี หรือได้มาจากสารสกัดจากธรรมชาติ หากต้องสัมผัสต่อผิวหนังหรือเยื่อบุโดยตรง ร่างกายของเราอาจต่อต้านก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น แต่จะแพ้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทั้งนี้อาการแพ้ก็ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเวลา เช่น บางคนเคยใช้น้ำยาชนิดนี้เป็นประจำแต่อยู่ๆ เกิดแพ้ขึ้นมา หรือเคยใช้น้ำยานานแล้วแต่อยู่ดีๆ ก็แพ้ขึ้นมา สรุปแล้วอาการแพ้ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ ดังนั้นก่อนใช้น้ำยาเปลี่ยนสีผมโดยเฉพาะยาย้อมผมชนิดกึ่งถาวรและชนิดถาวร เราจึงจำเป็นต้องทดสอบอาการระคายเคืองก่อนทุกครั้งดังนี้
ถอดต่างหูออกและทำความสะอาดบริเวณหลังใบหูและเช็ดให้แห้ง
บีบสีออกซิเดชั่นและน้ำยาโกรกออกมาเล็กน้อยนำมาผสมกัน และใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำยาที่ได้ทาบริเวณหลังใบหูประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร ทิ้งไว้ 48 ชั่วโมง โดยไม่ต้องล้างออกหรือใช้ผ้าปิดทับ
ถ้าเกิดรอยแดง รอยไหม้ คัน พุพองหรือบวมในบริเวณสีที่ทาทิ้งไว้ แสดงว่าแพ้ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมนั้นๆ ไม่ควรใช้อีกต่อไป
ห้ามใช้น้ำยาเปลี่ยนสีผม เปลี่ยนสีขนคิ้ว ขนตา เพราะอาจทำให้ตาบอดได้
เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้น้ำยาย้อมผม
ขั้นตอนต่อไปหลังจากการทดสอบการแพ้หรือระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมคือ การเตรียมความพร้อมก่อนใช้ ได้แก่
ไม่เกา หรือแกะหนังศีรษะจนเป็นแผลหรือรอยถลอกก่อนทำสีผม รอจนกว่าสภาพหนังศีรษะจะเป็นปกติจึงค่อยเปลี่ยนสีผม
สระผมก่อนทำสีผม เพื่อขจัดความสกปรกบนหนังศีรษะหรือน้ำมันบนเส้นผม เพื่อให้แน่ใจว่าสีผมจะซึมถึงเส้นผมอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ไดร์เป่าผมด้วยลมเย็นจนแห้งหมาดๆ แบ่งผมออกเป็นช่อๆ
สวมถุงมือทุกครั้ง เพื่อป้องกันน้ำยาสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรง
บีบสีออกซิเดชั่นผสมกับน้ำยาโกรก เขย่าแรงๆ จนสีเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และตั้งทิ้งไว้ 3 นาที หรือจะเทส่วนผสมทั้งหมดลงชามผสมสี และใช้แปรงทาคนผสมให้เข้ากันก็ได้
จับผมที่แบ่งไว้เป็นช่อๆ ดึงขึ้นด้านบน แล้วทาน้ำยาเปลี่ยนสีผมจากโคนผมถึงปลายผม ในทิศทางออกนอกตัว ห้ามขยี้หรือถูน้ำยาบนหนังศีรษะแรงๆ และเว้นการทาน้ำยาห่างจากหนังศีรษะประมาณ 1 นิ้ว จนกระทั่งครบทั้งศีรษะ สุดท้ายค่อยหันกลับมาทาน้ำยาเปลี่ยนสีผมบริเวณโคนที่เว้นไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ใช้ก้อนสำลีชุบน้ำอุ่น เช็ดทำความสะอาดน้ำยาเปลี่ยนสีผมที่เลอะบนผิวหนังออกให้หมด
ล้างผมด้วยน้ำอุ่นให้สะอาด โดยใช้มือนวดศีรษะเบาๆ สระผมให้สะอาดด้วยแชมพูทั่วไป หรือน้ำยาปรับสภาพเส้นที่บรรจุมาในกล่องผลิตภัณฑ์ประมาณ 2 ครั้ง เช็ดผมให้แห์ตามปกติ
ป้องกันตนเองจากการใช้ยาย้อมผมอันตราย
การซื้อสินค้าทุกชนิดเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเอง นอกจากจะอ่านวิธีใช้อย่างละเอียดแล้ว ก็ควรตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีส่วนประกอบอะไรบ้าง มีชื่อผู้ผลิตหรือไม่ และที่สำคัญมีมาตรฐานหรือผ่านการควบคุมและตรวจสอบโดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบหรือไม่ มิฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดอาการแพ้หรือปัญหาทางสุขภาพใดๆ ก็ยากต่อการฟ้องร้องหรือหาผู้รับผิดชอบมาลงโทษเอาผิดได้
สำหรับน้ำยาเปลี่ยนสีผมก็ใช้หลักการพิจารณาเดียวกัน โดยเฉพาะก่อนซื้อควรสังเกตเครื่องหมาย อย. จากคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยอย่างถูกต้อง และเพื่อเพิ่มความมั่นใจทางคณะกรรมการอาหารและยาได้ประกาศเตือนเกี่ยวกับน้ำยาเปลี่ยนสีผมที่ปลอดภัย ต้องไม่มีส่วนผสมของสารเคมีเหล่านี้
4 methoxy-m-phenylenediamine หรือ 4-MMPD
4-chloro-m- phenylenediamine
2,4 toloene diamine
2-nitro-p- phenylenediamine
4-amino-2-nitrophenol
ที่ผ่านมามีงานวิจัยและการศึกษาในห้องทดลองกับหนู ปรากฎว่าเมื่อให้สารนี้ หนูมีอาการระคายเคืองบนผิวหนังและเป็นมะเร็ง ซึ่งแม้ว่าจะมีผลในระดับหนูทดลอง แต่การหลีกเลี่ยงสารพวกนี้ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ดังนั้นครั้งต่อไปเมื่อคุณหยิบน้ำยาเปลี่ยนสีผม อย่าลืมเรื่องสำคัญเหล่านี้ด้วยนะคะ นอกจากผมจะสวยแล้ว สุขภาพยังดีอีกด้วย
เรื่องน่ารู้สำหรับการใช้น้ำยาย้อมผม
สำหรับคนที่พื้นผมเป็นสีขาว หลังการย้อมผมอาจไม่มีปัญหาสีผมผิดเพี้ยนจากสีตัวอย่างบนกล่อง แต่สำหรับคนที่มีผมเข้มตามธรรมชาติ เช่น ผมสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม ให้เลือกเฉดสีที่อ่อนกว่าสีที่ต้องการประมาณ 1-2 เบอร์ เพื่อสีผมที่เด่นชัดสวย
ไม่ควรเก็บน้ำยาเปลี่ยนสีผมที่ผสมเสร็จแล้ว เพื่อใช้ในครั้งต่อไป อย่าเสียดายเก็บไว้ เพราะภาชนะบรรจุอาจระเบิดหรือแตกได้
หลังการทำสีผม หลีกเลี่ยงการดัดหรือย้อมซ้ำ เพราะจะทำให้สภาพเส้นผมถูกทำลายมาก ทางที่ดีควรเว้นระยะห่างประมาณ 2-3 อาทิตย์
++ เลือกหาแบบผม ทรงผมใหม่ๆ ทั้งผมสั้น ผมยาว