รู้เท่าทัน "กรดไหลย้อน" โรคสุดฮิตในปัจจุบันที่ควรรับมือ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาวะกรดไหลย้อน คือหนึ่งในอาการที่ถือว่าฮิตหนักมากในช่วงนี้ อาจด้วยพฤติกรรมการกินอาหารและการใช้ชีวิตของหลายๆ คน เสี่ยงต่อการทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ง่าย วันนี้เราจะชวนให้สาวๆ ทุกคนมาทำความเข้าใจกับภาวะกรดไหลย้อน รวมทั้งรู้ถึงสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา วิธีปฏิบัติตัว และกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนกันให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อที่จะสามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากภาวะนี้นั่นเอง
ภาวะกรดไหลย้อน คืออะไร
ภาวะกรดไหลย้อน หรือที่เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease คือ ภาวะที่น้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารเกิดการไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการแสบหน้าอก เจ็บหน้าอก และขย้อนหรือสำรอกออกมา
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1.เกิดความผิดปกติของหูรูดในส่วนปลายของหลอดอาหาร ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร มีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ โดยความผิดปกตินี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
2.เกิดความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้อาหารที่กินเข้าไปลงช้า หรือทำให้อาหารไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร และค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
3.เกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าปกติ กลายเป็นการเพิ่มโอกาสในการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น ทั้งนี้อาหารประเภทไขมันสูงหรือช็อกโกแลต มีส่วนทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
อาการของภาวะกรดไหลย้อน
สำหรับอาการที่แสดงถึงภาวะกรดไหลย้อนที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้
1.แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แล้วลามขึ้นบริเวณหน้าอกและลำคอ อาการจะชัดเจนมากขึ้นหลังกินอาหารมื้อหนัก
2.เรอมีกลิ่นเปรี้ยว ซึ่งกรดที่มีรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาที่บริเวณลำคอ
3.มีอาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก
4.ไอเรื้อรังหรือหอบหืด
5.กลืนอาหารลำบาก
6.อาเจียนบ่อยๆ หรืออาเจียนเป็นเลือด
7.น้ำหนักลด
8.มีไข้
9.มีภาวะโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก
วิธีรักษาภาวะกรดไหลย้อน
วิธีรักษาภาวะกรดไหลย้อน แพทย์จะให้กินยาลดกรดกลุ่ม H2RA, Proton Pump Inhibitor หรือ Potassium Competitive Acid Blocker ประมาณ 4-8 สัปดาห์ หรืออาจใช้วิธีการผ่าตัด
วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเป็นกรดไหลย้อน
1.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความมันมากๆ
2.หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม มะเขือเทศ มินต์ หรืออาหารรสเปรี้ยวจัด
3.ห้ามนอนหลังกินอาหารเสร็จ ควรทิ้งช่วงอย่างน้อยประมาณ 3 ชั่วโมง
4.หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อเย็นหรือมื้อดึก
5.พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
6.นอนในท่าตะแคงซ้าย
7.หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น Anticholinergic, Alendronate, Beta Adrenergic Agonist, Calcium Channel Blocker, Tricyclic Antidepressant และ Theophylline
กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อน
1.ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์
2.ผู้ที่สูบบุหรี่
3.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
4.ผู้ป่วยโรคผิวหนังแข็ง หรือที่เรียกว่า Scleroderma
5.ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
6.หญิงตั้งครรภ์
7.ผู้ที่กินยา Theophylline ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยารักษาโรคหอบหืด
สำหรับสาวๆ คนไหนที่ไม่อยากเสี่ยงกับภาวะกรดไหลย้อน แนะนำให้พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการกินอาหารก่อนนอน รวมทั้งการพยายามหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มต่างๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนกันค่ะ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะกรดไหลย้อนได้