เลือดออกตอนท้องเกิดจากอะไร ตามไปดู 6 สาเหตุนี้ที่คุณต้องรู้
หนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ที่สร้างความตกใจให้กับคุณแม่อย่างมากก็คือ อาการเลือดออกตอนท้อง เพราะอาการนี้มักทำให้คุณแม่เป็นกังวลว่าจะเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ วันนี้เราจะชวนให้คุณแม่ทุกท่านมาทำความเข้าใจถึงภาวะเลือดออกตอนท้อง พร้อมทั้งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวกันค่ะ
เลือดออกตอนท้อง คืออะไร
เลือดออกตอนท้อง คือ ภาวะที่มีเลือดออกจากช่องคลอดในระหว่างตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น 2 ช่วง นั่นก็คือ ช่วงแรกและช่วงหลังของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 20% จะมีเลือดออกในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ช่วงแรก แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ในกรณีที่มีเลือดออกในช่วงไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
6 สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเลือดออกตอนท้อง
คุณแม่หลายท่านอาจจะสงสัยถึงภาวะเลือดออกตอนท้อง และมักจะเป็นกังวลกับการตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกอย่างมาก แต่ทั้งนี้อาการดังกล่าวก็มีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอย่างชัดเจน และถือเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรรู้ดังนี้
1.การฝังตัวของมดลูก
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เลือดออกตอนท้องก็คือเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนจะไปฝังที่โพรงมดลูก และไปโดนเส้นเลือดฝอย ส่งผลให้เส้นเลือดฉีกขาด และมีเลือดไหลออกมา แต่เลือดที่ออกมาจะมีลักษณะแบบกะปริดกะปรอย มีสีแดงอ่อนๆ แต่ไม่มีอาการปวดท้อง
2.ช่องคลอดติดเชื้อ
เมื่อช่องคลอดของคุณแม่ติดเชื้อ ย่อมมีส่วนทำให้เลือดออกตอนท้องได้ เพราะในช่วงของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลง โดยมีฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้น ทำให้มีตกขาวออกมามากขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ช่องคลอดเกิดการอับชื้นและติดเชื้อจนเป็นแผลอักเสบ ทำให้เลือดไหลออกมา แต่ทั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ กับลูกน้อยในครรภ์
3.ภาวะแท้งคุกคาม
ภาวะแท้งคุกคาม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเลือดออกตอนท้องเช่นกัน ซึ่งภาวะแท้งคุกคามจะพบบ่อยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอย และมีอาการปวดเกร็งที่บริเวณท้องน้อยร่วมด้วย ทั้งนี้อาการปวดสามารถทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนตกเลือดได้ ดังนั้นหากมีอาการน่าสงสัย คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด
4.ท้องลม
ท้องลมคือหนึ่งในความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ และจะพบได้ในช่วง 3 เดือนแรก อาการท้องลมจะมีความเหมือนกับอาการตั้งครรภ์โดยทั่วไป แต่หลังจากเกิดภาวะไข่ฝ่อ นั่นก็คือไม่มีตัวเด็ก ก็จะนำไปสู่การแท้งเองตามธรรมชาติ ทำให้เลือดออกที่ช่องคลอด และอาจมีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อยก่อนที่เลือดจะออกมา
5.รกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำ มักจะเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์หรือช่วงเวลาก่อนคลอด ซึ่งรกจะเกาะบริเวณส่วนล่างของมดลูก ใกล้กับปากของมดลูกหรือปิดปากมดลูก ส่งผลให้เลือดออกทางช่องคลอด โดยเลือดจะเริ่มไหลออกมาทีละนิดไปจนถึงไหลออกมาเป็นจำนวนมาก และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้มดลูกเกิดการบีบรัดตัวทำให้ปากมดลูกเปิด และเกิดการตกเลือดหรือคลอดก่อนกำหนดได้
6.ท้องนอกมดลูก
การท้องนอกมดลูก คือสาเหตุที่ทำให้เลือดออกตอนท้องได้เช่นกัน ซึ่งเป็นภาวะที่ตัวอ่อนไม่ได้ฝังตัวที่โพรงมดลูก แต่กลับไปฝังอยู่นอกโพรงมดลูก ซึ่งเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้น ก็อาจทำให้อวัยวะที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่ไม่สามารถรองรับขนาดได้ จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดท้องน้อยอย่างมาก ทำให้ปวดเป็นระยะๆ และมีเลือดออกในช่องท้องมากจนไปกดทับใต้กระบังลม ทำให้คุณแม่ปวดร้าวหลัง วิงเวียนศีรษะ ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว และมีเลือดออกมาที่ช่องคลอด
หากสงสัยว่าอาการเลือดออกตอนท้องจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์หรือไม่ ย่อมต้องดูที่ปริมาณเลือดที่ออก พร้อมทั้งสาเหตุที่ทำให้เลือดออกด้วยเช่นกัน แต่สำคัญที่สุดคือ คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด จะช่วยสร้างความสบายใจและลดความกังวลที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้มาก