สายแฟมูเตลู…ถอดรหัสแนวคิดเรื่องตารางสีมงคล เบื้องหลังที่มากกว่าตัวช่วยนำโชค
วันจันทร์ต้องเสื้อผ้าสีน้ำเงิน วันพุธต้องเลือกสีแดง หรือวันศุกร์ที่ต้องเลี่ยงสีดำ นี่คือตัวอย่างของสีที่เป็นมงคล และไม่เป็นมงคลในแต่ละวันที่ถูกยกมาระบุไว้ใน ‘ตารางสีมงคล’ ที่บางคนอาจจะมองข้าม หรือบางคนก็นำมาใช้ยึดเหนี่ยวเป็นเกณฑ์การแต่งกายเพื่อหวังว่าความมงคลของสีอาจจะช่วยให้ปัญหาที่จะต้องฝ่าฟันในแต่ละวันดูเบาบางลงได้ แต่ที่จริงแล้วสีต่าง ๆ มีพลังอำนาจที่จะช่วยให้ชีวิตราบรื่นได้ดั่งใจจริงหรือ
ตารางสีมงคลจากของชาววังสู่ของชาวบ้าน
จุดตั้งต้นความเชื่อเรื่องการนุ่งห่มตามสีประจำวันเพื่อให้เกิดศิริมงคลเริ่มมาจากแนวคิดเรื่องเทวดาสัปตเคราะห์ หรือแม่ซื้อ ซึ่งมีทั้งหมด 7 องค์เปรียบเหมือนเทวดาประจำวันทั้งเจ็ด และแต่ละองค์มีสีกายที่แตกต่างกัน จึงได้ยึดถือสีกายของแม่ซื้อแต่ละองค์เป็นสีมงคลในแต่ละวัน โดยแนวคิดนี้ถูกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแต่มักนิยมในหมู่ชนชั้นสูง และแม่ทัพที่ต้องออกบัญชาการรบแต่เพียงเท่านั้น
หลังจากสมัยกรุงศรีอยุธยา แนวคิดนี้ก็ยังเป็นที่ยึดถือกันในหมู่ชนชั้นสูงเรื่อยมาจนต้นรัตนโกสินทร์ ความเชื่อนี้ก็ไม่ได้ถูกจำกัดแต่ในชนชั้นปกครองอีกต่อไป เริ่มจากสุภาษิตเรื่อง ‘สวัสดิรักษา’ โดยสุนทรภู่ประพันธ์เพื่อถวายสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในสุภาษิตนี้ประกอบด้วยระเบียบธรรมเนียมนิยมที่พึงปฏิบัติทั้งเรื่องศีลธรรม มารยาท สุขอนามัย รวมถึงการแต่งกายตามสีประจำวัน แต่เนื้อความของสุภาษิตที่ได้รับความนิยมและถูกส่งทอดกันในราชสำนักคือเรื่องการนุ่งห่มตามสีประจำวันซึ่งเป็นที่นิยมตั้งแต่ชนชั้นปกครอง ทหารแม่ทัพ ไปจนถึงนางบริวารในพระราชวัง แล้วจึงได้เผยแพร่ต่อมาสู่ชาวบ้านโดยรอบ ก่อนที่ความเชื่อดังกล่าวจะแผ่ขยายไปยังหัวเมืองต่าง ๆ จนความเชื่อเรื่องสีมงคลประจำวันเป็นสิ่งแฝงอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อคนไทยไปโดยปริยาย
Vogue Thailand
พลังแห่งสีสันช่วยชี้ชะตาได้จริงหรือ
ถึงแม้ว่าตามหลักฐานปรากฏจะชี้ชัดว่าคนไทยมีความเชื่อเรื่องการนุ่งห่มตามสีประจำวันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็มิได้หมายความว่าแนวความคิดนี้จะได้รับความนิยมมาต่อเนื่อง ในบางช่วงความนิยมเกี่ยวกับสีมงคลก็ไม่ได้มีมากนัก จนกระทั่งในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาที่กระแสความนิยมเรื่องดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง ไม่เพียงแต่เฉพาะกับเสื้อผ้า แต่อาจรวมไปถึงสีกระเป๋า สีเครื่องประดับ ไปจนกระทั่งสีรถยนต์ที่ถูกโฉลก เหตุผลเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อเหล่านี้ก็เป็นได้
Vogue Thailand
สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน
แม้จะมีคำกล่าวที่ว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะทางการเงินที่ดีก็ทำให้ชีวิตมีทางเลือกได้มากกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนเช่นปัจจุบันส่งผลให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น เกิดการแข่งขันสูงขึ้น แม้คุณจะเป็นคนที่ทำงานเก่งขนาดไหน ก็ต้องยอมรับว่าที่พึ่งทางใจก็สำคัญไม่น้อย ดังนั้นการปฏิบัติตามความเชื่อเรื่องสีที่ถูกโฉลกจึงกลายเป็นการยึดถือเพื่อความอุ่นใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน และเสียเวลาโดยไม่จำเป็น
ผลของจิตวิทยาแห่งสีสัน
หากพิจารณาตารางสีมงคลประจำวันจะสังเกตได้ว่าตัวเลือกสีที่แนะนำให้ใส่ในแต่ละวันจะมีให้เลือกหลากหลายตามแต่จุดประสงค์ที่ต้องการเสริมมงคล ส่วนสีที่ไม่แนะนำจะมีเพียง 1-3 สีแล้วแต่คำแนะนำจากแหล่งที่แตกต่างกันไป ที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะตารางสีมงคลอาจไม่ได้ถูกออกแบบตามความเชื่อเรื่องโชคอย่างเดียว แต่อาจจะออกแบบโดยแฝงประเด็นจิตวิทยาสีให้เข้ากับบุคลิกภาพของผู้สวมใส่ หรือสถานการณ์ที่จะต้องไปพบเจอเพื่อให้ผู้สวมใส่รู้สึกมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีมากขึ้นตามไปด้วย
@blaireadiebee
กฎแห่งแรงดึงดูด
กฎแห่งแรงดึงดูดคือหลักคิดที่ว่าด้วยพลังของจิตที่สามารถดึงดูดสิ่งที่ดี หรือไม่ดีมาสู่ตัวเองได้ถ้าเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง หรืออีกนัยยะหนึ่งคือถ้าเชื่ออย่างถึงที่สุดว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น มนุษย์ก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้ ตารางสีมงคลที่บ่งชี้การเสริมพลังในด้านต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่เหมือนให้กำลังใจแก่ผู้สวมใส่เพื่อให้วันนั้น ๆ ประสบความสำเร็จตามที่วาดหวัง เพระฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าสีสันอาจไม่ใช่ตัวกำหนดโชคชะตา แต่อาจจะเป็นผู้สวมใส่เองที่กำหนดชะตาชีวิตให้แก่ตัวเอง
แม้ว่าความเชื่อ และโชคชะตาจะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเชื่อถือเคล็ดเหล่านั้นไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้จิตใจมีที่พึ่ง ข้อสำคัญคือต้องไม่เดือดร้อนตัวเอง และไม่สร้างความลำบากแก่ผู้อื่น หนทางแห่งความสุขและสำเร็จก็จะไม่ยากจนเกินไปสำหรับคุณแน่นอน