ร้อนในในเด็กแก้ไขอย่างไร ปัญหาสุขภาพที่คุณแม่ต้องรู้และใส่ใจ

ร้อนในในเด็กแก้ไขอย่างไร ปัญหาสุขภาพที่คุณแม่ต้องรู้และใส่ใจ

ร้อนในในเด็กแก้ไขอย่างไร ปัญหาสุขภาพที่คุณแม่ต้องรู้และใส่ใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พ่อแม่ต่างทราบกันดีว่า สุขภาพร่างกายของลูก จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพราะเด็กมักจะไม่สามารถบอกหรืออธิบายอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองได้ อย่างมากที่สุดก็ทำได้ดีแค่เพียงการแสดงอาการเจ็บปวดผ่านสีหน้า ท่าทาง และร้องไห้เท่านั้น โดยเฉพาะอาการร้อนใน ถือเป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ง่าย และหลายครั้งพวกเขาก็ไม่สามารถอธิบายความเจ็บของอาการดังกล่าวได้ วันนี้เราจะชวนให้พ่อแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการร้อนในกันค่ะ มาดูกันว่าอาการนี้มีวิธีแก้ไขและรักษาอย่างไรกันบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ


ร้อนใน คืออะไร
ร้อนใน หรือ Aphthous Ulcer คือแผลที่มีขนาดเล็กและตื้น ลักษณะของแผลจะมีสีขาวล้อมด้วยสีแดง เกิดขึ้นบริเวณด้านในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็น กระพุ้งแก้ม เหงือก ริมฝีปาก หรือลิ้น แผลร้อนในสามารถขยายเป็นแผลใหญ่ได้ จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และกินอาหารได้อย่างยากลำบาก แต่โดยปกติแล้วจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตอาการให้ดี และในขณะที่เป็นแผลร้อนใน หากมีไข้ร่วมด้วย พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคมือเท้าปากได้


สาเหตุที่ทำให้เกิดร้อนในในเด็ก

ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลร้อนในในเด็ก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกันดังนี้

1.แพ้อาหารหรือสารระคายเคืองต่างๆ

2.เกิดจากการกัดปากตัวเองจนทำให้เกิดแผลในช่องปาก

3.ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งจนเกินไป

4.ขาดสารอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี12 และโฟเลต

5.ระบบภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ

6.กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป

7.ติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus


วิธีสังเกตอาการร้อนในที่เกิดขึ้นในเด็ก

สำหรับอาการร้อนในที่เกิดขึ้นในเด็ก พ่อแม่สามารถสังเกตอาการได้จากพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมา เช่น

1.ลูกดื่มน้ำมากกว่าปกติ

2.เคี้ยวอาหารช้าลง เพราะเจ็บแผลในช่องปาก

3.ร้องไห้และบางครั้งก็งอแงโดยไม่ทราบสาเหตุ

4.มักจะแสดงอาการเจ็บและร้องไห้ออกมาทันที เมื่อกินอาหารที่มีรสเค็มหรือรสเผ็ด

5.มีแผลในช่องปาก ซึ่งแผลจะมีลักษณะเล็กและตื้น แผลมีสีขาวและล้อมรอบด้วยสีแดง เกิดขึ้นบริเวณริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือเหงือก

6.ในกรณีที่แผลร้อนในมีการติดเชื้อ ก็จะมีอาการไข้ร่วมด้วย จึงควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและตรวจโรคมือเท้าปากต่อไป



วิธีรักษาอาการร้อนใน

เมื่อพ่อแม่รู้ว่าลูกมีแผลร้อนในเกิดขึ้นในช่องปาก สามารถรักษาอาการร้อนในด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1.โดยส่วนใหญ่แล้วแผลร้อนในจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่พ่อแม่สงสารลูก และไม่สามารถทนเห็นลูกร้องไห้เจ็บปวดได้ สามารถซื้อยารักษาแผลร้อนในมาทาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บได้เช่นกัน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าอายุของลูกสามารถใช้ยาดังกล่าวได้หรือไม่

2.หมั่นทำความสะอาดมือของลูกบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลร้อนในเกิดติดเชื้อ

3.ให้ลูกกินอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือเผ็ดมากจนเกินไป

4.ห้ามให้ลูกเอามือไปสัมผัสแผลเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อ

5.ให้ลูกใช้วิธีการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือแทนการแปรงฟัน เพราะน้ำเกลือช่วยฆ่าเชื้อโรคในช่องปากได้

6.ให้ลูกกินอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูง จะช่วยป้องกันการเกิดแผลร้อนในซ้ำได้

7.หากแผลร้อนในไม่หายภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือแผลลุกลามทั่วช่องปาก พร้อมทั้งมีไข้สูงร่วมด้วย พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคมือเท้าปาก

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูก โดยเฉพาะการแสดงออกของสีหน้าหรือท่าทาง รวมทั้งการร้องไห้งอแง ที่บางครั้งพ่อแม่อาจไม่ทันคิดได้ว่า เหตุผลที่ลูกงอแงใช่ว่าจะไม่มีเหตุผลเสมอไป อย่าลืมว่าเด็กมักอธิบายอาการเจ็บปวดในร่างกายได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรใส่ใจและหมั่นสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook