ทัศนคติต่อ "งาน" กุญแจสร้างแรงจูงใจและความสุขในการทำงาน

ทัศนคติต่อ "งาน" กุญแจสร้างแรงจูงใจและความสุขในการทำงาน

ทัศนคติต่อ "งาน" กุญแจสร้างแรงจูงใจและความสุขในการทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันตามจริง คนวัยทำงานแบ่งหลัก ๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือคนที่มีใจรักและมีความสุขกับการทำงานดี กับอีกกลุ่มคือคนที่รู้สึกตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก ทำงานไปวัน ๆ รอเวลาเลิกงาน ไม่ได้รู้สึกสนุกหรือมีความสุขกับการทำงาน แต่ที่ยังทำอยู่และไม่ลาออกหรือเปลี่ยนงาน ก็เพราะกลัวว่าจะว่างงานยาว ระหว่างนั้นจะเอาเงินที่ไหนใช้

เรื่องของความรู้สึกไม่มีถูกมีผิด คนวัยทำงานที่ไม่ได้รู้สึกสนุกหรือมีความสุขกับงานก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะจริง ๆ แล้วก็มีสถานการณ์หลายอย่างที่สามารถทำให้คนเรารู้สึกเช่นนั้นกับงานที่ทำได้ เพียงแต่ความรู้สึกที่เราไม่มีความสุขกับการทำงานจะพลอยบั่นทอนให้เราหมดสนุกกับชีวิตด้านอื่น ๆ ไปด้วย ไม่มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต และทำให้เราต้องรู้สึกทนทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม เพราะเราต้อง “อดทน” ให้มันผ่านไปแต่ละวัน รู้สึกอึดอัด หมดไฟ และหมดใจไปในที่สุด

การสร้างทัศนคติที่ดี และมอง “งาน” ในมุมใหม่ จะช่วยกระตุ้นให้เรากระตือรือร้นในการทำงานขึ้นมาได้ สามารถทำงานอย่างสนุกและมีความสุขขึ้น มีแรงบันดาลใจ มีพลังในการทำงาน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือประสิทธิภาพและประสิทธิผลในงาน

มองให้เป็นอาชีพ
จริงอยู่ที่คนเราทำงานก็เพื่อเงิน แต่การคิดเช่นนี้ทำให้เรามองว่าการทำงานเป็นแค่ธุรกรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน ทำไปก็เพื่อให้มีเงินไปจ่ายบิลสารพัดค่าใช้จ่ายที่จ่อคิวเรียกเก็บอยู่ทุกเดือน เราจึงควรปรับเปลี่ยนที่ความคิดของเรานิดหน่อยเพื่อให้เรารู้สึกพึงพอใจกับงานมากกว่า เห็นความสำเร็จในด้านอื่นมากกว่าที่ทำแล้วได้เงิน ซึ่งการการมองสิ่งที่ทำอยู่ให้เป็นอาชีพ จะมาพร้อมกับการเป็น “มืออาชีพ” จะช่วยสร้างความรู้สึกลึกซึ้งทางจิตใจ รู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จมากกว่า รู้สึกดีกับคนที่ทำงานด้วยและองค์กรได้มากขึ้น จนนำไปสู่ชีวิตการทำงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หาจุดที่คิดว่าทำแล้วมีความสุข
จากข้อที่แล้วที่บอกว่าคนเราล้วนทำงานก็เพื่อเงิน นั่นเป็นเรื่องจริงแต่ไม่ทั้งหมด เพราะสิ่งที่ได้จากการทำงานไม่ได้มีแค่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ อย่างรายได้หรือสวัสดิการเท่านั้นเสียหน่อย แต่ให้คิดว่ายังมีความสำเร็จที่เป็นนามธรรมอยู่ด้วย ความรู้สึกตอนที่เราได้รับเลือกให้มาทำงานที่นี่ ในเวลานั้นเราดีใจแค่ไหนที่มีงานทำ นั่นแหละ ความรู้สึกที่ทำให้เรามีคุณค่า มีความภาคภูมิใจ โอกาสที่จะได้เติบโต ได้ใช้ศักยภาพและความรู้ที่มี จุดไหนที่เป็นความสุข ก็พยายามหันไปโฟกัสกับจุดนั้น รักทุกอย่างที่ตัวเองทำ เมื่อเราทำงานด้วยใจ มันจะถูกถ่ายทอดออกมาทางผลงาน

ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองต่องานที่ทำ
การจะทำงานให้ออกมาดีได้นั้น เราต้องตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของตัวเองกับสิ่งที่ทำก่อน ทำไมเราถึงได้ทำงานนี้ ก็เพราะว่าเรามีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพมากพอที่จะทำได้ งานนี้ถึงได้มาอยู่ในมือเรา เห็นคุณค่าและเชื่อในคุณค่าของตัวเอง แต่ต้องนึกไว้เสมอว่าบางทีตัวเราอยู่ใกล้ตัวเองมากเกินไป ชินกับตัวเองมากเกินไปก็เลยไม่เห็น แต่คนที่เขามอบหมายงานให้ทำ เขาต้องเห็นอะไรบางอย่างในตัวเราถึงได้ไว้ใจและกล้าให้เรารับผิดชอบ การทำงานเป็นเรื่องของธุรกิจ มีผลประโยชน์มีกำไร ฉะนั้น ไม่มีใครกล้าเอางานให้คนที่ทำไม่ได้ทำหรอก

เห็นความสำคัญของสิ่งที่กำลังทำ
เราทำงานนี้ไปเพื่ออะไร หาคำตอบให้ได้ เพราะงานทุกชิ้นที่ทำมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ พอเราเห็นความสำคัญของงานแล้ว เราจะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำงานนั้นให้ดียิ่งขึ้น ใส่ความตั้งใจและพยายามลงไปมากขึ้น เพราะอยากให้งานมันออกมาดีคู่ควรกับความสำคัญของมัน เมื่อนั้นเราก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย รู้สึกสนุกที่ได้ทำ ยิ่งถ้าเราตระหนักได้ว่าเราสำคัญต่องานที่สำคัญนี้อย่างไรด้วยแล้ว เราก็จะรักในงานชิ้นนี้ด้วยใจรัก เหนื่อยแต่ก็สนุกและมีความสุข เห็นคุณค่าในตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง งานก็จะออกมาดี หน้าที่การงานก็ก้าวหน้า

หามุมที่ดีของเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย
เป็นเรื่องที่ว่าจริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนสนิทในที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องของเพื่อนร่วมงานก็ได้ แต่เพราะคนกลุ่มนี้คือคนที่เราต้องเจอและมีปฏิสัมพันธ์ด้วยทุกวัน หากเรามีอคติ มีความคิด มีความรู้สึกต่อพวกเขาในด้านลบ ก็จะทำให้เราไม่มีความสุขที่จะทำงานที่นี่และส่งผลต่อการทำงาน เป็นความอึดอัดใจแบบที่เรียกว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือคนอื่น ๆ จะช่วยให้บรรยากาศในการทำงานเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น ความตึงเครียดจากกำแพงที่สร้างปิดกั้นกันไว้น้อยลง แบบนี้ก็ทำงานร่วมกันสบายใจขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook