ASEXUAL: เมื่อ “เซ็กส์” ไม่ใช่สิ่งสำคัญของชีวิตรัก

ASEXUAL: เมื่อ “เซ็กส์” ไม่ใช่สิ่งสำคัญของชีวิตรัก

ASEXUAL: เมื่อ “เซ็กส์” ไม่ใช่สิ่งสำคัญของชีวิตรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • Asexual หรือผู้ไม่ฝักใจทางเพศ คือกลุ่มคนที่ไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศ ไม่สนใจและไม่ต้องการจะมีความสัมพันธ์ทางร่างกายกับคนอื่น จนทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวกถือพรหมจรรย์ ปฏิเสธการมีเซ็กส์ และปฏิเสธการมีคู่ แต่จริง ๆ แล้ว Asexual สามารถมีความรักและมีความสัมพันธ์ทางร่างกายได้ เพียงแต่เราต้องแยกระหว่าง "อารมณ์ทางเพศ" กับ "แรงดึงดูดทางเพศ" ออกจากกัน 
  • จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์ เป็นอีกหนึ่งคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual ทว่าเธอก็มีคนรักที่คอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจกันอยู่เสมอ แม้ช่วงแรก ๆ คนรักของเธอจะไม่เข้าใจ แต่การพูดคุยและสื่อสารก็ช่วยรักษาความสัมพันธ์ไว้ได้สำเร็จ
  • แน่นอนว่า Asexual อาจเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่ความแตกต่างหลากหลายทางเพศในสังคมไม่ได้ทำให้คุณค่าในตัวของใครลดลง และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้ใช้ชีวิตกับตัวตนที่ตัวเองเลือกแล้วอย่างเปิดเผย 

ว่ากันว่าชีวิตรักจะราบรื่นได้ นอกจากไลฟ์สไตล์ที่ตรงกันแล้ว เรื่อง “เซ็กส์” ที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ความรักของคนสองคนแข็งแรงและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม แต่ในโลกยุคใหม่ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Asexual ที่ไม่ได้รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศ จนกระทั่งไม่สนใจและไม่ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ทางกายกับคนอื่น ซึ่งออกจะแปลกประหลาดสำหรับสังคมไทยที่มองว่ารักกับเซ็กส์เป็นของคู่กัน และทำให้ Asexual ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวกถือพรหมจรรย์ ปฏิเสธการมีเซ็กส์ แล้วก็พลอยปฏิเสธการมีคู่ไปโดยปริยาย อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังถูกตั้งคำถามจากคนรักและคนรอบข้างด้วย

ก่อนบอกลาเดือนแห่งความรัก Sanook ขอพาคุณไปรู้จักและทำความเข้าใจความรักแบบไม่มีเซ็กส์เป็นองค์ประกอบสำคัญของคนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual และวิธีการที่ทำให้ความรักของพวกเขาดำเนินไปได้อย่างมีความสุขไม่ต่างจากคนทั่วไป

ผู้ไม่ฝักใจทางเพศคืออะไร? 

“ถ้านิยามตรง ๆ เลยก็คือคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับเพศไหนเลย ซึ่งมันเป็นคนละส่วนกับความต้องการทางเพศ หรือ Sexual Desire คนที่เป็น Asexual ชอบเซ็กส์ก็มี เพราะว่าความต้องการเซ็กส์ไม่ใช่แค่เพราะดึงดูด แต่อาจจะเป็นเพราะปัจจัยอื่น เช่น ความสนุก ความใกล้ชิด ทำให้เป็นมิติอื่นที่ทำให้เราสามารถชอบและเอนจอยกับมันได้” จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์ ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual เริ่มอธิบาย 

จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์

อย่างไรก็ตาม คนที่นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual หรือผู้ไม่ฝักใจทางเพศ แม้จะไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะเป็น “คนตายด้านเรื่องเซ็กส์” หรือไม่มีความสัมพันธ์โรแมนติกเลย เพราะคนกลุ่มนี้ยังสามารถตกหลุมรักได้ มีความสัมพันธ์ทางร่างกายได้ หรือมีเซ็กส์ได้ หรือกล่าวได้ว่า “แรงดึงดูดทางเพศ” กับ “อารมณ์ทางเพศ” เป็นสิ่งที่ต้องแยกออกจากกัน ซึ่งคนที่เป็น Asexual อาจจะมีอารมณ์ทางเพศ แต่พวกเขาไม่รู้สึกมีแรงดึงดูดทางเพศนั่นเอง

นันท์มนัสเล่าย้อนกลับไปว่า เธอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความดึงดูดทางเพศกับเพศใดตั้งแต่ที่ยังเป็นเด็ก เพราะในขณะที่คนทั่วไปรู้สึกเคลิบเคลิ้มไปกับตัวละครคู่รักในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือนวนิยาย จนมีการตั้ง “แฟนดอม” แต่เธอกลับไม่ได้รู้สึก “อิน” เหมือนคนอื่น ๆ เหล่านั้น

“มากสุดคือแค่ชอบมอง ว่าคนนี้สวยนะ คนนี้ดูดีนะ เราชมเขาเหมือนการชมตู้หนังสือที่จัดมาเรียบร้อย หรือดอกไม้สวย ๆ แค่นั้นเอง” นันท์มนัสเล่า

นันท์มนัสและคนรักนันท์มนัสและคนรัก

“รัก” ได้แต่ไม่อยาก “ใคร่” 

แม้เพศวิถีของ Asexual จะทำให้การมีความสัมพันธ์ดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นไปไม่ได้ นันท์มนัสเองก็เป็นคนหนึ่งที่มี “คนรัก” ที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจอยู่เคียงข้างเธอเสมอ แม้จะค้นพบว่าตัวเองเป็น Asexual หลังจากคบหากับคนรักมาได้กว่า 1 ปี แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ยังเป็นไปอย่างราบรื่น 

“ตอนแรกเขาก็ช็อก เขาคิดว่าเราเป็นผู้หญิงสเตรท เหมือนคนทั่วไป แต่พอเราอธิบายให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วเรายังสามารถทำให้เธอได้อยู่นะ ยังเป็นแฟนเธอเหมือนเดิม เพียงแต่เราไม่ได้มองว่าอยากมีเซ็กส์กับเธอ หรืออยากไปทำให้เธอ คือเหมือนไม่ได้มีแม่เหล็กดึงดูดแล้วแค่นั้นเอง” นันท์มนัสกล่าว

จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์ จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์

ในขณะที่ตัวนันท์มนัสไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศแล้ว แต่คนรักของเธอยังนิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชายสเตรทและมีความดึงดูดทางเพศอยู่ เราจึงถามนันท์มนัสว่าเงื่อนไขนี้เป็นปัญหาของความสัมพันธ์บ้างหรือไม่ เธอนิ่งไปก่อนจะพยักหน้า 

“เขาก็มีความชื่นชอบส่วนตัวบางอย่างที่เราไม่สามารถทำให้ได้ หรือเราไม่มีแรงดึงดูด แต่บางครั้งที่เขามีความต้องการมาก แล้วก็มาขอไปซื้อบริการนะ เราก็อนุญาตให้ไปนะ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคู่ บางคู่ก็อาจจะต่างกันออกไป” เธอชี้ 

กุญแจสำคัญคือ “การพูดคุย” 

“เรากำหนดกฎเกณฑ์ไว้แล้วว่า เราจะคบกันแบบนี้ เราจะไม่มีลิมิตกันและกัน เราจะให้อิสระเสรีกัน แต่ที่สำคัญคือเราต้องบอกกัน เคารพกันและกัน แล้วก็คุยกัน การไม่คุยกันเป็นสาเหตุต้น ๆ ของการเลิกกัน ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”  

นันท์มนัสและคนรักนันท์มนัสและคนรัก

นันท์มนัสระบุว่า แม้การเปิดตัวว่าตัวเองเป็น Asexual จะมีผลต่อความสัมพันธ์บ้างในช่วงครึ่งปีแรก แต่เธอและคนรักก็ช่วยกันรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้สำเร็จ ซึ่งกุญแจสำคัญคือ “การสื่อสาร” ที่ทั้งคู่ร่วมกันสร้างข้อตกลงเรื่องความสัมพันธ์และเรื่องเซ็กส์ 

“ช่วงแรก ๆ เขาก็จะมีอิดออดบ้าง แบบว่า “ทำไมเธอถึงต่างจากคนอื่นขนาดนี้” แต่ก็คุยกัน แล้วเขาก็เข้าใจ เพราะว่าสิ่งที่เชื่อมโยงเรากับเขาไม่ได้มีแค่เรื่องเซ็กส์” 

“การเชื่อมโยงกันและกันในระดับตัวตน ไม่ว่าเราจะโตไปแค่ไหน ถ้าเรายังสามารถยอมรับและเข้าใจสิ่งที่เขาเป็นได้ และสามารถสนับสนุนเขาได้ เราว่าอันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องไม่ทำร้ายกัน และไม่พยายามดึงอีกฝ่ายมา ในช่วงเวลาที่อีกฝ่ายพร้อมจากไปแล้ว เราต้องมีการคุยกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์มัน วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย ถ้ามีฝ่ายไหนเริ่มไม่โอเค เราว่ามันก็เริ่มไม่ใช่แล้ว” นันท์มนัสบอก 

จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์ จูน - นันท์มนัส ปุณยพัฒน์

“แตกต่าง” แต่อยู่ร่วมกันได้ 

นันท์มนัสสะท้อนว่า เธอยังต้องเผชิญกับการถูกตั้งคำถามและตีตราว่าเป็น “คนไม่ปกติ” เพียงเพราะเธอนิยามตัวเองว่าเป็น Asexual อยู่ หลายคนถึงกับมาแนะนำให้เธอไปพบแพทย์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “คนเราต้องมีความต้องการทางเพศ ถึงจะเป็นมนุษย์” 

เราว่ามันก็แปลกนะ ที่สังคมไทยสั่งสอนว่าไม่ควรพูดเรื่องเซ็กส์ แต่พอเราไม่สนใจ สังคมก็บอกว่าเราผิดปกติ เราอยากให้สังคมเชื่อบ้างว่ามันมีคนที่ไม่ดึงดูดกับใครเลย ไม่ได้รู้สึกกับเลยจริง ๆ มันเป็นแค่มิติของคน ๆ หนึ่งที่เกิดมา การที่เราไม่มีแรงดึงดูดทางเพศมันไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาถามหรือมาด่ากันต่อหน้า เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และการที่คน ๆ หนึ่งจะระบุตัวตนของตัวเองว่าเป็นอะไร มันก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตของเขาเหมือนกัน” นันท์มนัสชี้ 

ธงสัญลักษณ์ของกลุ่ม Asexualธงสัญลักษณ์ของกลุ่ม Asexual

ทั้งนี้ ความแตกต่างหลากหลายทางเพศในสังคมไทยไม่ได้ทำให้คุณค่าในตัวของใครลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มคน Asexual ที่อาจจะไม่ได้มีความดึงดูดทางเพศหรือสนใจเรื่องเซ็กส์ แต่พวกเขาก็สามารถที่จะมีความรักและมีสิทธิ์ที่จะได้ใช้ชีวิตกับตัวตนที่พวกเขาเลือกแล้วอย่างเปิดเผย 

“บางคนชอบผู้หญิง บางคนชอบผู้ชาย บางคนอาจจะไม่ได้ชอบเรื่องเพศกับใครเลย เราแค่มีความชอบต่างกัน ตัวตนต่างกัน แล้วการจะมาบังคับกัน คงเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขสักเท่าไร” นันท์มนัสกล่าวทิ้งท้าย

รูปโดย: THANAPOL W. 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook