มองผู้นำสตรีโลกในปี 2022 แล้วย้อนมองอดีตผู้นำสตรีไทยอย่าง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
แม้ว่าวันสตรีสากลประจำปี 2022 นี้จะได้ผ่านไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม แต่ก็ยังถือว่าเดือนมีนาคมนี้เป็นเดือน Women’s History Month อยู่ สำหรับเดือนแห่งประวัติศาสต์สตรีในปีนี้นั้น เราก็ต้องบอกว่าเริ่มมาด้วยความดุเดือดของสถานการณ์โลกที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จนสร้างความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สินและชีวิตของพลเรือนทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะกับฝั่งยูเครน ซึ่งการบุกเข้าโจมตียูเครนของรัสเซียนี้ก็ทำให้เกิดมาตราการคว่ำบาตรจากนานาชาติ และหลากหลายธุรกิจก็ร่วมบอยคอตรัสเซียด้วย
การคว่ำบาตรรัสเซียของนานาชาติ ทำให้เราได้เห็นพลังความเด็ดเดี่ยวของเหล่าผู้นำสตรีที่ออกมาประณาม “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซีย เริ่มตั้งแต่เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันอย่างสวีเดนที่ มักดาลีนา แอนเดอร์สัน (Magdalena Andersson) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของสวีเดนออกมาแถลงประณามการกระทำครั้งนี้ของรัสเซียว่าเป็นขัดต่อกฎหมายสากล เป็นอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัย เรียกร้องให้ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) หยุดการกระทำดังกล่าวเสีย และยังบอกอีกด้วยว่ารัสเซียจะต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน และต่อมาได้ส่งยุทโธปกรณ์ไปสนับสนุนยูเครนแล้วด้วย
เช่นเดียวกันกับ ซันนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดของฟินแลนด์ (34 ปี ขณะเข้ารับตำแหน่งครั้งแรก) ที่ออกมาประณามการกระทำของรัสเซียผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว พร้อมทั้งบอกว่าจะหาทางช่วยเหลือยูเครนอย่างเต็มกำลัง ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สตรีผู้นำประเทศทั้งสองคนนี้ก็ได้ออกแถลงข่าวร่วมกันว่ากำลังหารือเรื่องเสริมความมั่นคงในการปกป้องอธิปไตยของตนท่ามกลางสถานะการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีแผนที่จะเข้าร่วม NATO (North Atlantic Treaty Organization) หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการถ่วงดุลอำนาจของสหภาพโซเวียต ณ ขณะนั้น) แม้ว่าจะได้รับคำเตือนจากกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียผ่านทางทวิตเตอร์ว่าถ้าคิดจะเข้าร่วม NATO ก็จะต้องเจอกับแรงกดดันทั้งทางการเมืองและทางทหารจากรัสเซียแน่ๆ
Nord News
ด้าน อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหญิงคนแรกก็ได้ออกมาประณามการโจมตียูเครนของรัสเซียในครั้งนี้พร้อมใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลายอย่างกับรัสเซีย แม้กระทั่ง อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนีที่พ้นตำแหน่งไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และมีความสัมพันธ์อันดีกับปูตินมาเสมอ ก็ยังมีรายงานว่าเธอออกมาประณามการกระทำดังกล่าวของรัสเซียในครั้งนี้ด้วย
ส่วนอีกซีกโลกนึงในฝั่งของ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ที่พาประเทศข้ามพ้นวิกฤตต่างๆ มากมายทั้งเรื่องการกราดยิงเมื่อปี 2019 หรือเหตุโรคระบาดโควิด-19 เธอก็ได้ออกมาประณามรัสเซียและแบนไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินใดๆ ของบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียและประเทศที่สนับสนุนรัสเซียอย่างเบลารุส เข้ามาในเขตอธิปไตยของนิวซีแลนด์เด็ดขาด
Sean Gallup/Getty Images
Claire Trevett/NZ Herald
ส่วนสตรีคนสุดท้ายในแวดวงการเมืองที่เราอยากพูดถึงส่งท้ายเดือนประวัติศาสตร์สตรีนั้นจะเป็นใครไปเสีย นอกจากนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จริงอยู่ที่ชาติตระกูลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำมาซึ่งชัยชนะการเลือกตั้งของเธอ หากแต่ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเกือบ 80 ปีนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 มาจนถึงปี 2554 ที่เธอชนะการเลือกตั้ง การเมืองไทย (และเทศ) เป็นพื้นที่ที่ราวกับถูกสงวนไว้ให้เฉพาะเพศชายเท่านั้นในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง การที่เพศหญิงสามารถช่วงชิงอำนาจสูงสุดไปจากเพศชายได้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทย
มีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เปรียบเทียบการเลือกตั้งปี 2554 และปี 2562 ของบริเวณจังหวัดภาคเหนือตอนบนออกมาว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 ตัวเลขผู้เข้าสมัครคัดเลือกที่เป็นเพศหญิงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 44 คนมาเป็น 228 คน สอดคล้องกับเทรนด์ความเท่าเทียมทางเพศที่ส่งอิทธิพลไปทุกๆ วงการ โดยเฉพาะกับบทบาทของสตรีในฐานะผู้นำประเทศ ซึ่งเหล่าผู้นำหญิงจากต่างประเทศทั้ง 5 นางที่เรากล่าวถึงนั้น การทำงานของพวกเธอได้ก้าวข้ามอคติต่อเพศหญิงในพื้นที่เดิมของเพศชายไปแล้ว
ต่างจากกรณีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่การวิจารณ์เพศสภาพถูกนำมาโยงเข้ากับการวิจารณ์ฝีมือการทำงานตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของเธออยู่เสมอ (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่าง แต่สามารถสืบค้นได้ไม่ยาก) จนเมื่อเธอจะออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรมทางการเมือง ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคมไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งสนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาลของเธอ นำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านยืดเยื้อและเกิดการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ หญิงคนแรกของไทยในที่สุด
ในฐานะของคนทำงานสื่อไลฟ์สไตล์สำหรับผู้หญิง เราขอบอกตรงๆ ว่าเสียดายโอกาส เสียดายที่ไม่ได้สำรวจความคิดของสตรีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศว่าจะพัฒนาเรื่องสิทธิสตรีอย่างไร แม้ว่าจะมีอยู่ในถ้อยแถลงเมื่อครั้งขึ้นรับตำแหน่งว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, ดูแลสุขภาพสตรีและอื่นๆ เสียดายที่ไม่ได้เห็นความคืบหน้าของการพัฒนาเรื่องดังกล่าวหาว่ารัฐบาลของเธอสามารถอยู่ได้จนครบวาระ เสียดายที่ไม่ได้เห็นการรับมือวิกฤตต่างๆ ของผู้นำที่เป็นสตรีไทยว่าจะต่างจากกระทาชายไทยอย่างไร เสียดายที่ประเด็นความขัดแย้งและการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นทำให้การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดูจะเป็นเรื่องไม่ถูกที่ถูกเวลาไปเสียหมด และก็น่าสนใจว่าหากย้อนเวลากลับไป ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งโดยไม่พึ่งพานามสกุล หรือเธอไม่ถูกยึดอำนาจ ผู้หญิงคนนึงจะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน
อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีบทบาทในมิติการเมืองไทยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมจนเห็นได้ว่ามีข่าวการส่งผู้สมัครสตรีและชาว LGBTQ+ ลงเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมากขึ้น หรือจะเป็นการประกาศพร้อมลงสมัครนายกรัฐมนตรีของสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สตรีผู้คร่ำหวอดอีกรายในแวดวงการเมืองไทย หรือล่าสุดการเปิดตัวในสนามการเมืองอย่างเป็นทางการของแพทองธาร หญิงสาวอีกรายจากตระกูลชินวัตร ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความน่าสนใจใหม่ให้กับประเทศไทยว่า หากประเทศมีผู้นำคนใหม่ที่ไม่ใช่เพศชายแท้ขึ้นมาอีกครั้ง มันจะเป็นเช่นไร