ตัวอย่าง 5 แนวคิดรักษ์โลกจากผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 70 กว่าปี

ตัวอย่าง 5 แนวคิดรักษ์โลกจากผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 70 กว่าปี

ตัวอย่าง 5 แนวคิดรักษ์โลกจากผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 70 กว่าปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยความมุ่งมั่นในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมในโลกดีขึ้น คนญี่ปุ่นรวมถึงคนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นหลังมากขึ้น มาอ่านแนวคิดจากการสัมภาษณ์ คุณยูริโกะ ซาไค (Yoriko Sakai) หญิงวัย  70 กว่าปี ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันค่ะ

ตัวอย่าง 5 แนวคิดเพื่อการใช้ชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณซาไคหันมาใช้ชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือ การที่เธอแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ในชนบทที่ไม่มีร้านค้าและการขนส่ง จนสร้างความไม่สะดวกในการซื้อหาของใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิต และนั่นทำให้เธอปรับใช้สิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยมีตัวอย่างแนวคิดการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีคุณค่าดังนี้

1. ใช้กล่องนมเป็นกระดาษซับน้ำมันอาหารทอด
ด้วยรู้ว่ากล่องนมทำจากกระดาษอย่างดีและมีการเคลือบผิวกันน้ำไว้ทั้งสองด้าน กระดาษด้านในกล่องนมเมื่อฉีกแยกออกมาจะมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำมันได้ดี คุณซาไคจึงใช้กระดาษจากกล่องนมซับน้ำมันจากอาหารทอดโดยไม่ทำให้น้ำมันเปื้อนเครื่องครัวและลดการใช้กระดาษชำระงานครัวที่ทำมาจากเยื่อไม้

 

2. ใช้ขวดแก้วบรรจุภัณฑ์และกล่องขนมเพื่อใส่อาหารและเครื่องปรุงรส
คุณซาไคนำขวดแก้วบรรจุภัณฑ์เหลือทิ้งมาใส่เครื่องปรุงรส เช่น เกลือ ผงดาชิ น้ำตาล พริก รวมทั้งใช้แบ่งใส่เครื่องปรุงรสที่ซื้อมาในปริมาณมากเพื่อคงรสและกลิ่นของเครื่องปรุงรสไว้ให้นานขึ้น อีกทั้งเธอยังนำขวดใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ มาวางเรียงในกล่องขนมที่ทำจากอะลูมิเนียมเพื่อทำให้ดูมีระเบียบและหยิบมาใช้ได้ง่ายขึ้น

 

3. การใช้ประโยชน์จากขวดพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้
ขวดพลาสติกบรรจุภัณฑ์มายองเนสและซอสมะเขือเทศ เมื่อใช้จนหมดคุณซาไคก็นำมาล้างและใช้กรรไกรตัดให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เพื่อนำมาใช้เป็นกรวยที่ปรับขนาดได้ ใช้ถ่ายโอนของเหลวลงขวดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งเธอยังนำบรรจุภัณฑ์เต้าหู้ที่เป็นพลาสติกมาล้างจนสะอาดและใช้ใส่ของต่างๆ วางไว้ในลิ้นชักสร้างความเป็นระเบียบให้แก่ลิ้นชักใส่ของในครัวมากขึ้น

 

4. เปลี่ยนกากปลาแห้งโบนิโตะที่เหลือจากการทำซุปดาชิเป็นผงโรยข้าว
คนญี่ปุ่นนิยมต้มปลาแห้งโบนิโตะสำหรับทำซุปมิโซะ ปรุงรสอาหาร และกรองแยกเอากากปลาแห้งออกทิ้ง แต่แทนการทิ้งไปอย่างไร้ค่าคุณซาไคนำกากปลาแห้งโบนิโตะมาตากแดดเป็นเวลา 1 วัน แล้วนำมาให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟ จนเป็นผงแห้ง ที่สามารถนำมาโรยข้าวสวยรับประทานพร้อมงาคั่ว

 

5. ตากแห้งผักเหลือกินตามฤดูกาลเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของซุปมิโซะและผักดอง
เมื่อมีผักและเห็ดตามฤดูกาลเหลือ แทนการปล่อยไว้จนเน่าและทิ้งไป คุณซาไคใช้วิธีการนำผักและเห็ดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ  ตากแดดไว้บนตะแกรงเป็นเวลาหนึ่งวัน จากนั้นจึงปิดทับด้วยกระดาษชำระสำหรับงานครัว วันถัดไปก็นำผักและเห็ดไปวางไว้ที่ข้างหน้าต่างเป็นเวลาครึ่งวัน และเก็บใส่ภาชนะไว้ แล้วนำมาใส่ในซุปมิโซะหรือนำมาดองด้วยน้ำส้ม

 

การดำเนินชีวิตด้วยการเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวและใช้ประโยชน์พวกมันอย่างมีคุณค่านั้นเป็นอีกแนวทางเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก รวมทั้งด้านการจัดการขยะและช่วยลดภาวะโลกร้อน ผู้เขียนเองเมื่อผ่านภัยพิบัติมากมายที่เกิดจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็รู้ว่าถึงเวลาที่เราต้องเริ่มต้นจากตัวเราและครอบครัวเล็กๆ เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวให้คุ้มค่าและพยายามสร้างภาระให้กับโลกน้อยที่สุด แนวคิดข้างต้นเป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลองมองหาวิธีที่ง่ายแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทำดูค่ะ แล้วเราจะรู้สึกภูมิใจว่าเราเป็นอีกหนึ่งคนที่ช่วยให้โลกดีขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook