รู้ทัน 7 โรคเสี่ยงปี 57
ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่กำลังมา สำหรับเรื่องสุขภาพ เราคงต้องถามตัวเองแล้วล่ะว่า ที่ผ่านมาเราดูแลสุขภาพตัวเองมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจคิดว่า ตอนนี้ยังแข็งแรงไม่ได้เป็นอะไร คงไม่ต้องดูแลอะไรมาก บางคนบอกว่า ป่วยเล็กๆ น้อยๆ เดี๋ยวก็หายไม่ต้องไปหาหมอหรอก
ร้ายไปกว่านั้น คนจำนวนไม่น้อยไม่ไปตรวจสุขภาพ เพราะกลัวว่าถ้ารู้ว่าเป็นอะไรแล้วจะทำใจไม่ได้ แต่ร้อยทั้งร้อยพอล้มหมอนนอนเสื่อกลับออกปากว่า "รู้งี้มาตรวจตั้งนานแล้ว"
สำหรับปี 2557 ศักราชใหม่แบบนี้ ลองไปดู 7 โรคเสี่ยง ที่คุณจำเป็นต้องเตรียมรับมือ
1) โรคมะเร็ง
คนไทยมี สาเหตุการตายจากมะเร็ง นำมาเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด โรคนี้ใครๆ ก็กลัวว่าเมื่อเป็นแล้วคงไม่รอดแน่ๆ คนจึงกลัวการตรวจมะเร็ง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวไปไกลมาก ทำให้เราสามารถรักษาโรคร้ายชนิดนี้ใหหายขาดได้ โดยเฉพาะหากพบว่ามีความเสี่ยง หรือเป็นตั้งแต่ระยะแรก แนวทางสำคัญจึงอยู่ที่การใส่ใจต่อตัวเองและคนในครอบครัวให้มาตรวจและรักษา ตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับมะเร็งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากก็คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับ ในผู้หญิง ส่วนผู้ชาย คือมะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค และตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ
2) โรคหลอดเลือดหัวใจ
ข้อมูล สถิติขององค์การอนามัยโลก ปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจไปแล้วมากถึง 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.2 % ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้มีตัวเลขใน ปี 2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจต้องนอนโรงพยาบาล วันละ1,185 ราย โดยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจะมีอัตราตายเฉียบพลันสูงกว่าโรคอื่น ประมาณ 4-6 เท่า ปัจจุบันมีการเปิดเผยว่า โรคนี้ยังจัดเป็น 1 ใน 10 โรคที่มีอัตราการตายสูง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง คลอเลสเตอรอลสู งเบาหวาน รวมทั้งไลฟ์สไตล์ที่ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารไขมันสูง โรคอ้วน และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
3) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต)
เป็นโรคฮิตอีกโรคหนึ่งที่จัดว่าร้ายแรงและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ตามมาได้ จริงๆ แล้วโรคนี้ สามารถตรวจเช็กแนวโน้มและอาการจากการตรวจสุขภาพได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่หลอดเลือดจะเสื่อมไปตามวัยจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เรื่อยๆ โดยเฉพาะในเพศชายที่มีสถิติว่าเป็นมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตามแนวทางป้องกันได้ก็คือ การควบคุมไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ และการสูบบุหรี่ รวมทั้งความเครียด ให้อยู่ในภาวะปกติ ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองไปในตัว และหากเกิดอาการเฉียบพลัน เช่น ชาอ่อนแรงที่ใบหน้า พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว ตามัว เดินเซ ต้องรีบส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
4) โรคปอดเรื้อรัง
โรคปอดเรื้อรัง มีชื่ออื่นๆ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคอุดกั้นทางเดินหายใจเรื้อรัง ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้เกือบทั้งหมดมาจาก "บุหรี่" ดังนั้นหากเลิกสูบบุหรี่ได้ โรคนี้ก็แทบจะไม่มีในคนไทยเลย อาการเริ่มแรกคือเหนื่อยง่าย ทำงานได้ไม่เต็มที่ หากรุนแรงจะทำให้ไอเป็นเลือด ไอรุนแรง มีหนองปน และอาจกลายเป็นมะเร็งปอดในขั้นต่อไปได้ ทั้งนี้ มีรายงานการวิจัยชิ้นล่าสุด จากออสเตรเลียว่า การสูบบุหรี่แม้ว่าจะไม่ถึงกับหนักแต่จะทำให้อายุสั้นลงถึง 10 ปี นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้คนใกล้ชิดได้รับอันตรายจากควันพิษ หรือบุหรี่มือสองด้วยเช่นกัน
5) โรคเบาหวาน
โรคนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม สาเหตุ อาจจะมาจากพันธุกรรม และปัจจัยแวดล้อม เช่น น้ำหนักตัวมาก ขาดการออกกำลังกาย วัยที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ในปัจจุบัน พบว่าคนทั้งโลกเป็นโรคนี้รวมแล้วราว 8% หรือประมาณ 328 ล้านคน และอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีตัวเลขเพิ่มอีก 1 เท่าตัว ส่วนคนไทยมีสถิติเป็นโรคนี้ถึง 3 ล้านคน วิธีการป้องกันจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และรักษาดัชนีมวลกายให้ปกติ (ไมให้อ้วน) ที่สำคัญ เป็นเบาหวานแล้วยังนำไปสู่การเป็นโรคอื่นๆ อีก เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต รวมทั้งหลอดเลือดทั้งระบบในร่างกาย
6) โรคความดันโลหิตสูง
โรคนี้ ถือเป็นมฤตยูเงียบที่ค่อยๆ ทำลายชีวิตมนุษย์ เพราะมันจะค่อยๆ ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของเรา เสื่อมลงวันละน้อย และไม่ใช่เฉพาะคนที่มีอายุเท่านั้นที่เป็นโรคนี้ได้ เพราะปัจจุบัน ในวัยเพียง 30 กว่าๆ ก็เป็นโรคนี้กันแล้ว เชื่อกันว่าผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 ของโรคนี้ มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารรสเค็ม การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ภาวะเครียด การขาดการออกกำลังกายก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อาการของโรคจะพบมากเมื่อมีการทำลายอวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิดผลแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ไตเสื่อมสมรรถภาพ หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรง
7) โรคเอดส์
แม้ว่าในปัจจุบันเอดส์จะรักษาและควบคุมได้ โดยต้องทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต แต่อุบัติการณ์ของโรคก็ยังไม่ได้น้อยลงเพราะยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติสำคัญขององค์การสหประชาติ ขณะนี้ ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน เสียชีวิตประมาณปีละ 1.6 ล้านคน ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 2.3 ล้านคน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีข้อมูลว่าคนไทยมีผู้ติดเชื้อ ราว 4.5 แสนคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 9,000 คน น่าเป็นห่วงก็คือ เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย กลุ่มขายบริการ และการใช้เข็มฉีดยาในกลุ่มผู้เสพยาเสพติด แนวทางป้องกัน เซฟเซ็กซ์ ไม่มั่วยา จึงน่าจะสำคัญที่สุด
คุณมีความเสี่ยงโรคไหนบ้าง ป้องกันก่อนสาย
(หน้าพิเศษ Hospital Healthcare เครือมติชน มกราคม 2557)
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com/