อายุน้อยก็เสี่ยงได้ ข้อเข่าเสื่อม ปัญหาสุขภาพที่ไม่ต้องรอแก่
ลุกก็ปวด นั่งก็ปวด ขยับทีก็มีเสียงดังกร๊อบแกร๊บ ปัญหาเหล่านี้คืออาการนำของโรคข้อเข่าเสื่อมที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย แต่เคยรู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนหนุ่มสาว เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในทุกวันก็อาจพาให้เกิดความสุ่มเสี่ยงได้โดยไม่รู้ตัว วันนี้ นายแพทย์ปณิธาน เรืองศิลป์สุวิทย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิมุต มีคำแนะนำเรื่องโรคข้อเข่าเสื่อม อันตรายที่ไม่ว่าจะสูงวัยหรือจะอายุเท่าไหร่ก็ไม่ควรมองข้าม
เช็กให้แน่ใจ อาการแบบไหนคือข้อเข่าเสื่อม
“โรคข้อเข่าเสื่อม คือ ภาวะที่กระดูกอ่อน ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและดูดซับแรงกระแทกในข้อเข่าสึกหรอและเสื่อมสภาพลง มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้มีอาการปวดข้อเข่าไม่ว่าจะเป็นจากการเดินเยอะหรือการยืนนานๆ มีเสียงภายในเข่าซึ่งสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น ตอนขึ้นลงบันได ตอนงอเหยียดข้อเข่า เป็นต้น อีกทั้งมีภาวะข้อเข่าบวมจากการใช้งาน และการผิดรูปของข้อเข่า เช่น ข้อเข่าโก่ง ข้อเข่าผิดรูปไป โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการเริ่มต้นของข้อเข่าเสื่อม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจข้อเข่าเพื่อยืนยันว่าจุดไหนที่มีอาการปวด อีกวิธีคือเอกซเรย์ข้อเข่าในท่ายืน ซึ่งสองวิธีนี้สามารถวินิจฉัยได้ 100% ว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมหรือไม่”
ไม่เสี่ยงเท่าผู้สูงวัย แต่ใช่ว่าจะรอดตัว
“ผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คนที่มีภาวะอ้วน ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ รวมไปถึงผู้ป่วยที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่ามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุจากสาเหตุอื่นๆ อีกทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่เคยมีภาวะข้ออักเสบต่างๆ เช่น โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ เป็นสาเหตุกระตุ้นเช่นกัน
สำหรับความเข้าใจที่ว่าปวดเข่าปวดข้อเป็นเรื่องของคนแก่ น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดทีเดียว กลุ่มคนวัยทำงานที่อายุน้อยก็ไม่ควรละเลย เพราะที่จริงแล้วโรคนี้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา การเกิดอุบัติเหตุ การออกกำลังกายบางท่าที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่า หรือการใช้ข้อเข่าที่ผิดวิธี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอายุเยอะหรืออายุน้อยก็ควรได้รับการรักษาตั้งแต่แรกๆ ยิ่งในกลุ่มที่อายุน้อยหากมีอาการไม่รุนแรงและได้รับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถหายขาดได้ โดยการรักษาจะมี 2 วิธี
• การรักษาแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่ การรับประทานยา การทำกายภาพ การฉีดยา วิธีนี้ทำได้ในผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อระยะต้นหรือปานกลาง
• การรักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะปานกลางหรือรุนแรง โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อน หากไม่อาการไม่ดีขึ้นก็จะแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้การใช้ชีวิตในทุกๆ วันไม่มีอุปสรรค ผู้ที่มีอาการนำดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ควรเข้ารับการตรวจและรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่แรกก็จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้อย่างทันท่วงที”
ดูแลสุขภาพข้อเข่า เริ่มได้ที่ตัวเรา
“สำหรับคนที่ปกติดี ไม่มีอาการหรือความเสี่ยงของข้อเข่าเสื่อม แนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้เข่าเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งกับพื้น นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ ซึ่งท่านั่งเหล่านี้จะทำให้ข้อเข่ารับภาระเยอะ ส่วนผู้ที่น้ำหนักเยอะ ข้อเข่าก็จะรับน้ำหนักเยอะด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเกิดข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป แนะนำให้เริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ส่วนคนที่มีภาวะข้ออักเสบอื่นๆ เช่น โรคเกาต์ รูมาตอยด์ แนะนำให้รับประทานยาสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยให้อาการกำเริบบ่อยครั้งก็จะทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
ในกรณีที่มีอาการนำ ไม่ว่าจะข้อเข่าบวม ปวดข้อ มีเสียงในข้อ ข้อเข่าผิดรูป การดูแลและปกป้องตัวเองที่ดีที่สุด คือการเข้ารับการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์เพื่อหาความผิดปกติ พร้อมรับคำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทาง อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เนินๆ จะสามารถหายขาดได้”
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็ควรจะใส่ใจสุขภาพข้อเข่าก่อนที่จะสายเกินแก้ และในเดือนเมษายนนี้ เดือนแห่งวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุ ศูนย์กระดูและข้อ โรงพยาบาลวิมุตขอส่งความห่วงใยให้ทุกครอบครัว ด้วยการมอบแพ็กเกจเอกซเรย์ข้อเข่า ในราคา 499 บาท (1 ข้าง) พิเศษเฉพาะเดือนเมษายนนี้ พร้อมปรึกษาแพทย์เฉพาะทางแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2565 เท่านั้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิมุต โทร 02-079-0040 เวลาทำการ 08.00 – 20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อแพ็กเกจผ่าน ViMUT Application