โดดเด่น! ชุดประจำจังหวัดมิสแกรนด์ นางกวักก็มา กัญชาก็มี ฮือฮา ช้าง แมงกระพรุน หนุมาน
การประกวด มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ 2020 รอบชุดประจำจังหวัด ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการประกวด มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022 โดยเปิดเวทีให้ดีไซน์เนอร์จากทุกจังหวัด จัดแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับผู้เข้าประกวด “มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022” ทั้ง 77 จังหวัด ชิงรางวัล “ชุดประจำชาติยอดเยี่ยม”
ไม่ว่าจะเป็น ชุดแห่งความเชื่อ ความศรัทธา วัดวาอาราม อาหารการกิน ผลไม้ดัง ปลาพันธ์ุแปลก รังไหม แมงกะพรุน นางอัปสร ผนึกน้ำค้างที่จำลองออกมาได้อย่างสวยงามตื่นตาตื่นใจ ชุดกัญชาก็มีมาให้เห็นบนเวทีนี้ บางชุดใหญ่อลังการ แต่นางงามก็สามารถนำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยม หลายชุดหนักมากจนต้องให้พี่เลี้ยงช่วยกันใส่
ชุดที่เรียกเสียงฮือฮาจากแฟนนางงาม มีหลายชุด อาทิ ชุดมิสแกรนด์เพชรบูรณ์ “ฝ้ายนา” สุทธิดา นิลผาย ชื่อ “แมงยุ้มวะ” แรงบันดาลใจมาจากแมงกะพรุนน้ำจืดสายพันธุ์น้ำไหล สายพันธุ์เดียวในประเทศไทย พบเจอได้ที่ แก่งบางระจัน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ การเคลื่อนไหวหุบเข้าและกางออก คล้ายการขยุ้ม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจึงเรียกขานกันว่าแมงยุ้มวะ
ชุดมิสแกรนด์ปทุมธานี “แป้งฝุ่น” วิชิดา น่วมสอน ชื่อ “thai silkjar ดินเผาทรงเครื่องเบญจสิริ” หยิบหยกเครื่องปันดินเผาเอกลักษณ์ของชาวปทุมธานี บึงบัว ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และดอกไม้ประจำจังหวัดมาผสมผสาน ส่วนประกอบของชุด นางงามเปรียบเสมือนน้ำ มาพร้อมกับดอกบัว มีความสวยงามอ่อนหวาน
ชุดมิสแกรนด์ราชบุรี “บีม” อุมาวดี ปิมปา ชื่อ “เทพีโภคทรัพย์” แรงบันดาลใจมาจาก ขุนหญิงกวักทองมา หรือแม่นางกวัก ผู้บันดาลโชคลาภแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ มาออกแบบเป็นชุดประจำชาตินุ่งห่มด้วยผ้าที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี
ชุดมิสแกรนด์ลพบุรี “มีน” นิรัชชา นามวัชระโสพิศ ชื่อ “หนุมานไทยบ๊อกซิ่ง” ชุดประจำชาติผ่านนาฏมวยไทย โดยมีโขนเป็นสื่อกลาง ในการเผยแพร่การบูรณาการผสมผสานของศาสตร์และศิลป์ ของวัฒนธรรมไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน พร้อมทั้งหยิบยกหนุมาน ตัวละครที่มีความเกี่ยวโยงกับท่ามวยลพบุรี มาเป็นกลยุทธ์ ในการนำเสนอ
ชุดมิสแกรนด์สุรินทร์ “เกมส์” ปอรรัตน์ ปิ่นเมือง ชื่อ “คนเลี้ยงช้าง กูย เซียน อาเจียง" แสดงถึง พลังอำนาจ บารมี และความอุดมสมบูรณ์ ชาวสุรินทร์มีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับช้าง เคารพนับถึงช้างดั่งญาติผู้ใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ช้างเกื้อกูลคน คนดูแลช้าง
ขณะที่ มิสแกรนด์กาญจนบุรี “พราด้า” ธันย์สิตา ดิลกอนันต์สกุล มาในชุด “กัญชาจนบุรี” แรงบันดาลใจมาจาก การที่จังหวัดกาญจนบุรีได้เป็นพื้นที่นำร่อง สนับสนุน บุกเบิก ในการปลูกและส่งเสริมกัญชาเป็นเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งทำรายได้ให้กับกลุ่มชุมชน และ ได้ถูกปลดล็อคออกจากกลุ่มพืชยาเสพติดในขณะนี้แล้วนั้น จึงหยิบยกเอากัญชา มาสื่อผ่านในรูปแบบของชุดประจำจังหวัดและชุดก็ทำจากผ้าใยกันชา ที่เอาเส้นใยของต้นกัญชามาถักทอเป็นผ้าผืน แล้วบอกกล่าวเรื่องราวเล่าถึงประโยชน์ของกัญชา ที่นำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคทางการแพทย์
อัลบั้มภาพ 41 ภาพ