เวทีประกวดนางงามในวันที่สตรีไม่ได้เป็นวัตถุทางเพศอีกต่อไป
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่เวทีการประกวดสาวงามทั่วโลกไม่ว่าจะเวทีน้อยใหญ่ล้วนแล้วแต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอาสตรีเพศมาทำเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิง เอามาขายเรือนร่างเป็นวัตถุทางเพศให้คน โดยเฉพาะกับเพศชายได้รื่นเริงใจ แต่ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแวดวงนางงาม ทั้งเวทีระดับโลกอย่าง Miss Universe และ Miss World ที่ส่งผลมายังเวทีแฟรนไชส์ในประเทศอื่นๆ
คำถามเรื่องสังคมการเมือง คำถามที่ให้โชว์ทัศนคติของผู้ตอบถูกคัดสรรขึ้นมาเพื่อเลือกสาวงามให้มาดำรงตำแหน่ง เช่น อยากบอกอะไรถึงเด็กสาวในทุกวันนี้ (Miss Universe 2019), หากเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของตนเองได้ อยากจะเปลี่ยนอะไร (Miss Universe 2011), อาชีพใดควรได้รับค่าแรงสูงสุด (Miss World 2017), สิทธิของหญิงข้ามเพศในการแข่งกีฬา (Miss Universe Thailand 2019) หรือแม้แต่ในฝั่งของการประกวดเวทีสาวประเภทสองอย่าง Miss Tiffany ของไทยเองในช่วงหลังๆ ก็มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิความเท่าเทียมทางเพศให้เหล่าผู้ประกวดเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น
ในเวลาเกินครึ่งทศวรรษที่ผ่าน ผู้หญิงได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับเพศชายมากขึ้น ทั้งเรื่องสิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการศึกษา สิทธิในการทำงาน ซึ่งทั้งหมดค่อยๆ คลายพันธนาการของพวกเธอที่เคยผูกติดไว้กับเพศชายให้ลดลง ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายและพวกเธอก็ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือในความบันเทิงทางเพศแก่ใครอีกแล้วซึ่งเห็นได้ชัดจากรูปแบบการประกวดนางงามที่มีลักษณะจริงจังและเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ในปี 2022 ที่สังคมโลกไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยพลังของเพศชายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เวทีการประกวดนางงามในยุคนี้จึงกลายเป็นเวทีสำหรับคนคอเดียวกัน คือมันได้กลายเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มาโชว์ทัศนคติให้ผู้หญิงและเหล่า LGBTQ+ ซึ่งสองกลุ่มนี้คือกลุ่มคนชายขอบในสังคมชายเป็นใหญ่ ได้ดู ซึ่งก็มีความน่าสนใจตามมาอีกว่า แล้วมาตรฐานความงามของคนสองกลุ่มนี้ แบบไหนกันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่ที่แน่ๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของสาวสวยหุ่นดีในอุดมคติของผู้ชายอีกต่อไปแล้ว