ทริคไม่ลับ เก็บเงินให้อยู่ สไตล์ชาวญี่ปุ่น

ทริคไม่ลับ เก็บเงินให้อยู่ สไตล์ชาวญี่ปุ่น

ทริคไม่ลับ เก็บเงินให้อยู่ สไตล์ชาวญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ…ช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้ มนุษย์เงินเดือนทุกคนต่างนั่งกุมขมับกันเป็นแถว ๆ เพราะนอกจากค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทางที่แพงขึ้นเป็นเท่าตัวแล้ว ยังมีรายจ่ายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าของใช้จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ แถมยังมีค่าน้ำค่าไฟ กรณีที่ต้องทำงานอยู่บ้านอีก วันนี้เราจะพาทุกคนไปส่องเคล็ดลับการเก็บเงินสไตล์คนญี่ปุ่นกันค่ะ ว่าประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเขามีวิธีเก็บเงินอย่างไรกันบ้าง


เทคนิคที่ 1: เก็บก่อนใช้


เคล็ดลับสำคัญเลยก็คือ เมื่อเงินเดือนเข้าแล้วอย่าเพิ่งรีบใช้ค่ะ ให้เราโอนเก็บเข้าไปไว้ในบัญชีสำหรับออมก่อน เพราะหากเก็บทีหลังแล้วละก็ มีแนวโน้มสูงมากที่จะหมดไปกับค่ากิน ค่าเที่ยว รู้ตัวอีกทีก็ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเหลือเก็บซะแล้ว แนะนำให้เรากำหนดไว้เลยว่าทุก ๆ เดือนเราจะเก็บเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็พยายามเก็บให้ได้จำนวนนั้นทุก ๆ เดือน และเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น ก็ให้ตั้งปณิธานไปเลยว่า จะไม่ถอนเงินจากบัญชีนี้เด็ดขาด !


เทคนิคที่ 2: ทำอาหารทานเอง


เมื่อเปรียบเทียบกับการทานอาหารนอกบ้านแล้ว การทำอาหารทานเองช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นเท่าตัว แถมอาหารบางอย่างซื้อครั้งเดียวแต่ทำได้หลายมื้อก็มี เช่น เมนูถั่วงอกผัดกับไข่ปรุงรสด้วยซอสโชยุ ก็สามารถทำได้ง่าย รวดเร็วแถมยังประหยัด โดยไข่ 1 แพ็ค เฉลี่ยแล้วตกฟองละไม่กี่สิบเยน และยังสามารถนำไปทำอาหารในมื้อต่อไปได้อีก หรือใครไม่ถนัดทำอาหารก็เริ่มต้นจากการหุงข้าวก่อนก็ได้ค่ะ หุงครั้งละเยอะ ๆ เหลือก็แช่เย็นเก็บเอาไว้กินวันหลังได้ หรือจะทำเป็นข้าวปั้นแล้วเพิ่มรสชาติด้วยผงโรยข้าวฟุริคาเกะก็อร่อยไปอีกแบบนะคะ


เทคนิคที่ 3: บันทึกรายรับรายจ่าย


การรับรู้รายรับและรายจ่ายของตัวเอง จะช่วยให้เราทราบว่าตนเองมีนิสัยการใช้จ่ายอย่างไร โดยเมื่อซื้อของเสร็จแล้วให้เก็บใบเสร็จเอาไว้หรือหากไม่มีใบเสร็จก็จดโน้ตเอาไว้เพื่อบันทึกในภายหลังก็ได้ค่ะ หากจดมือไม่สะดวก เดี๋ยวนี้ก็มีแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้บันทึกรายรับรายจ่ายออกมามากมาย แถมแอพพวกนี้ยังคำนวณเงินคงเหลือให้เราเสร็จสรรพอีกด้วย สะดวกมาก ๆ รับรองว่าวิธีนี้จะช่วยให้เราเก็บเงินได้อย่างอยู่หมัด แถมยังทำให้เราเห็นภาพรวมของการใช้จ่ายอีกด้วยว่าเราหมดเงินไปกับของฟุ่มเฟือยอะไรบ้าง


เทคนิคที่ 4: ระมัดระวังค่าธรรมเนียม


ที่ญี่ปุ่นการถอนเงินที่ธนาคารหรือ ATM นอกเวลาทำการ หรือแม้กระทั่งการผ่อนจ่ายด้วยบัตรเครดิต ล้วนแล้วแต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยไปโดยเปล่าประโยชน์แทบทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นจำนวนที่มากขึ้นโดยใช่เหตุ หากเราสามารถบริหารจัดการค่าธรรมเนียมเหล่านี้ให้ดี รับรองว่าเงินเก็บเหลือเฟือแน่นอนค่ะ


เทคนิคที่ 5: อย่าตุนของ


คนเรามักจะซื้อของเพื่อตุนเก็บไว้ช่วงลดราคาใช่ไหมล่ะคะ แต่หารู้ไม่ว่าของบางอย่างก็ไม่ควรซื้อเก็บไว้คราวละเยอะ ๆ อย่างเช่น ของสด น้ำสลัด หรือซอสปรุงรสต่าง ๆ เพราะของสดแม้จะแช่เย็นเก็บไว้ได้นาน แต่พอหลายวันเข้าก็มักจะถูกลืมอยู่ในตู้เย็นอยู่บ่อย ๆ นอกจากนี้พวกซอสที่เป็นน้ำก็ใช้ครั้งละเล็กครั้งละน้อย กว่าจะหมดก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน รู้ตัวอีกทีก็หมดอายุซะแล้ว หากจะให้แนะนำละก็ ซื้อตอนใกล้หมดดีกว่าค่ะ จะได้ไม่เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์


เป็นอย่างไรกันบ้างคะทุกคน ลองนำไอเดียดี ๆ จากคนญี่ปุ่นไปปรับใช้กันดูนะคะ รับรองว่าต่อให้สถานการณ์ตึงเครียดแค่ไหน เงินเราก็ไม่ตึงมือแน่นอนค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook