มิจิโกะ ทาโอกะ นักวิเคราะห์ศาสตร์แห่ง...สี เฉดบ่งบอกพลังบวก-ลบ
- คุณอยู่ในเฉดสีไหน ?
คำถามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองเรื่องสีเสื้อในเมืองไทย แต่ "ดีไลฟ์" อยากชวนผู้อ่านมาเปิดประตูสู่ "ศาสตร์แห่งสีสัน" ที่มีพลังต่อชีวิตคนเราอย่างไม่น่าเชื่อ พร้อมพาไปไขทฤษฎี "สีประจำตัว" ที่น้อยคนจะล่วงรู้ว่า สีไหนที่ทำให้ตัวเองเปล่งประกายหรืออับแสง
ในจังหวะที่ "อาจารย์มิจิโกะ ทาโอกะ" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสี (Color Specialist) บินตรงจากแดนซากุระมาเปิดตัวโปรเจ็กต์ชุดเครื่องนอนในชื่อ "Tropical Forest" กับแบรนด์ "พาซาญ่า" (PASAYA) ดีไลฟ์ ถือโอกาสนัดสัมภาษณ์พิเศษกับกูรูผู้ที่เพียงปรายตามองแวบเดียวก็บอกได้ทันทีว่า "คุณเหมาะกับสีไหน"
"ศาสตร์ เรื่องสีของแต่ละบุคคล หรือ Personal Color ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกตะวันตก แต่ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย" อาจารย์มิจิโกะบอกว่า ศาสตร์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เริ่มจากบรรดาคนในแวดวงสังคมชนชั้นสูง ทั้งระดับผู้นำ นักการเมือง และดารานักแสดง จะคอยระมัดระวังเรื่องการเลือกใช้สีเป็นพิเศษ ถึงขนาดบางคนต้องจ้าง "ที่ปรึกษาเรื่องสีส่วนตัว" จนเมื่อหลายสิบปีก่อนถึงเริ่มเข้ามาเป็นที่สนใจในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกใน เอเชีย
"ถึงวันนี้คนญี่ปุ่นค่อนข้างใส่ใจเรื่องสีอย่างมากกว่า 80% ของคนญี่ปุ่นรู้ว่าสีไหนเหมาะกับตัวเองหรือไม่ แม้แต่เวลาไปซื้อเสื้อผ้าในห้างสรรพสินค้าดังในโตเกียว ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีคอยให้บริการแนะนำว่าสีไหนเหมาะกับตัวคุณ"
แต่ คนที่จะก้าวมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีในญี่ปุ่น ต้องผ่านด่านการสอบวัดระดับเรื่องสีอย่างเข้มข้นกว่าจะได้ใบอนุญาตให้ประกอบ อาชีพ เช่นเดียวกับที่อาจารย์มิจิโกะมาค้นพบตนเองว่า หลงเสน่ห์ศาสตร์แห่งสีสัน ภายหลังเรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฟูกูโอกะ เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากนักกฎหมาย มาเข้าคอร์สศึกษาเรื่องสีโดยเฉพาะ
"สีเป็นเรื่องมีเสน่ห์ หลายมหาวิทยาลัยในโตเกียวเปิดหลักสูตรการเรียนเรื่องสีอย่างจริงจัง ทั้งสีกับแฟชั่น และรวมไปถึงดีไซน์ทุกอย่างเกี่ยวพันกับสี แม้แต่ด้านจิตวิทยาเรื่องสีไหนมีผลต่อจิตใจคนเราบ้าง เพราะสีเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน ทั้งการแต่งตัว และการใช้ชีวิต" อาจารย์มิจิโกะเล่าไปพร้อมชี้เสื้อผ้าที่ใส่อยู่ก็ดีไซน์รูปแบบและสีสันด้วย ตัวเอง
- เทรนด์สีแต่ละประเทศ
อาจารย์ มิจิโกะบอกว่า ต้องคอยอัพเดตเทรนด์สีอยู่เป็นประจำ เพราะไม่นานก็เปลี่ยนเทรนด์ ยิ่งเป็นในวงการแฟชั่นจะเปลี่ยนเร็วกว่าสินค้าอื่น ๆ ทุกปีจะมีการประชุมคณะกรรมการเรื่องเทรนด์สีจากตัวแทน 19 ประเทศ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อชี้ชะตาเทรนด์สีไหนมาแรงแห่งปี จึงไม่แปลกที่แบรนด์เสื้อผ้าดัง ๆ จะเลือกปล่อยคอลเล็กชั่นเป็นโทนสีใกล้เคียงกันในแต่ละซีชั่น
"แต่โกลบอลเทรนด์ก็ไม่ได้ใช้ได้จริงและฮิตในทุกที่ เพราะแต่ละประเทศต่างมีคาแร็กเตอร์เฉพาะตัว เช่น เทรนด์สีของโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกก็ไม่เหมือนกัน บางสีคนฝรั่งเศสชอบ แต่กลับไม่นิยมในญี่ปุ่น"
เหตุผลหลักที่คนในแต่ละประเทศนิยมสีแตกต่างกัน อาจารย์มิจิโกะอธิบายให้ฟังว่า เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์และภูมิศาสตร์
"เพราะตำแหน่งที่ตั้งของแต่ละประเทศมีผลต่อการรับแสงอาทิตย์ที่ต่างกัน นั่นทำให้การมองเห็นสีไม่เหมือนกัน เช่น ที่ตั้งของไทยอยู่ในที่รับแสงอาทิตย์มากกว่าญี่ปุ่น แค่สังเกตสีท้องฟ้าในญี่ปุ่นกับไทยก็ยังไม่เหมือนกันเลย แม้คนละเมืองในญี่ปุ่นก็ยังนิยมสีไม่เหมือนกัน ด้วยภูมิประเทศเป็นเกาะทอดยาว แสงแดดในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน สีที่นิยมไปสะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน
เช่น เกาะฮอกไกโดจะนิยมสีโทนขาว ๆ เหมือนหิมะ ขณะที่ในโอกินาวาจะใกล้กับเมืองไทยมากกว่า ทั้งอากาศก็คล้ายอยู่ที่เชียงใหม่ โทนสีจึงใกล้ๆ กับไทย หรือดูไบมีลักษณะอากาศค่อนข้างร้อนใกล้ไทย โทนสีที่นิยมจะออกเหลืองคล้ายกัน"
นอกจากปัจจัยที่ตั้งประเทศแล้ว ขนบธรรมเนียมและความเชื่อก็มีผลต่อรสนิยมการชอบสี สีจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
อาจารย์ มิจิโกะชี้ว่า "สังเกตเห็นคนไทยชอบและเหมาะกับสีเหลือง ส้มชมพู และสีม่วงด้วย น่าแปลกที่เห็นคนไทยค่อนข้างชอบสีม่วงต่างจากชาวญี่ปุ่น เช่น สีของธนาคารไทยพาณิชย์ สีม่วงนี้ใช้ไม่ได้เลยในญี่ปุ่น ขณะที่คนญี่ปุ่นชอบสีโทนธรรมชาติ ๆไม่ชอบสีฉูดฉาด สีที่นิยมในญี่ปุ่นกับไทยไม่เหมือนกันเลย"
- สีส่วนบุคคล (Personal Color)
เทคนิค เบื้องต้นเพื่อจะดูว่าบุคคลนั้นมีสีประจำตัวอย่างไร อาจารย์มิจิโกะให้พิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ สีผิว สีผม และสีตา เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าคุณเหมาะกับสีไหน
ก่อนอื่นจะเริ่มแยกแต่ละคนเป็น โทน ระหว่าง "โทนเหลือง" (Yellow Base) หรือ "โทนน้ำเงิน" (Blue Base) โทนสีจะบ่งบอกได้จากความแตกต่างและความชัดเจนของเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง ของแต่ละคน ถ้าคนที่เห็นเส้นเลือดแดงได้ชัดเจนกว่าจะอยู่ในโทนเหลือง ส่วนคนที่มีเส้นเลือดดำปรากฏชัดเจนจะเหมาะกับโทนน้ำเงิน
- สีตามฤดูกาล
ขั้นตอนแยกย่อยแต่ละคนออกเป็น 4 กลุ่มตามฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring), ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) จัดอยู่ในโทนสีเหลือง ส่วนฤดูร้อน (Summer) และฤดูหนาว (Winter) เป็นโทนน้ำเงิน จึงทราบแล้วว่าเราเข้ากับเฉดสีไหน
อาจารย์ สาธิตขั้นตอนทดสอบโดยการทาบผ้าเฉดสีต่าง ๆ บนหน้าอกให้ใกล้หน้าของเรามากที่สุด เพื่อดูเฉดสีไหนสะท้อนเข้ากับหน้า แล้วทำให้คนนั้นดูดี สว่าง หรือดูหม่นหมอง แต่การจะบอกสีได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างหนัก
- คนไทยจัดอยู่ในโทนสีเหลือง
"พิจารณา คนไทยส่วนใหญ่มีสีผิวอมเหลือง สีตาเป็นสีน้ำตาลเข้ม และสีผมธรรมชาติเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำ คนไทยมักอยู่ในโทนเหลือง และจะจัดอยู่ในกลุ่ม Autumn สีที่เหมาะกับกลุ่มนี้เป็นสีในโทนอมเหลือง และเป็นสีลุ่มลึกไม่สว่างจ้า เช่น สีส้ม สีน้ำตาล สีเหลือง
แม้จะเป็น สีเขียวก็เป็นสีเขียวโทนเหลือง เช่น สีเขียวขี้ม้า สีฟ้าก็อมเหลืองอย่าง ฟ้าเทอร์ควอยส์ ส่วนคนไทยเชื้อชาติจีนที่มีผิวขาวจะเหมาะกับโทนน้ำเงิน และจัดอยู่ในกลุ่ม Summer และ Winter"
อาจารย์มิจิโกะเปรยให้ฟังเสียดายผู้หญิงไทยพลาดเรื่องเดียว คือ แต่งตัวผิดสี โดยเฉพาะทำสีผมที่ไม่เข้ากับตัวเอง
"เวลาขึ้นบีทีเอสในเมืองไทย เห็นบางคนแล้วถึงขนาดอยากจะไปทำสีผมให้ใหม่เดี๋ยวนั้น สีนั้นช่างไม่เข้ากับเขาเลย แต่ถ้าคนนั้นรู้ว่าสีไหนเหมาะกับเขาจะทำให้บุคลิกดูดีขึ้นทันที"
เพราะ คนที่ไม่รู้สีและเลือกสีที่ผิดพลาดไม่เหมาะกับตัวเอง นอกจากจะดูรู้สึกขัดตาแล้ว ซ้ำร้ายกว่านั้นยังช่วยดึงเอาข้อบกพร่องที่อยู่บนใบหน้า หรือเหี่ยวย่นออกมาให้เห็นชัดขึ้น เช่น เน้นรอยคล้ำใต้ตา ใบหน้าดูหมองคล้ำ ดูสุขภาพไม่ดี เป็นผลจากการสะท้อนของสีของเสื้อผ้ากับใบหน้าคนเรา
- สีกับนักการเมือง
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีจึงเป็นตำแหน่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างภาพลักษณ์ให้ "นักการเมือง"
ก่อนหน้านี้ อาจารย์มิจิโกะเคยรับเป็นที่ปรึกษาให้นักการเมืองญี่ปุ่นมาหลายคน คอยดูว่าตั้งแต่ดีไซน์เสื้อผ้าสีไหนเหมาะกับคนนั้น รวมไปถึงป้ายโปสเตอร์ก็ต้องเลือกสีให้ดีที่สุด เพราะสีนั้นจะสะท้อนภาพนักการเมืองออกเป็นอย่างไร นักการเมืองญี่ปุ่นจะซีเรียสเรื่องสีแบ็กกราวนด์มาก ถ้าเลือกสีผิดเวลาถ่ายรูปก็ดูแย่ไปเลย ซึ่งต่างจากเมืองไทย
แต่ถ้าเรื่องสีกับการแต่งกาย ยกให้ "ผู้นำสหรัฐอเมริกา" ที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ "ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์" เปลืองมากที่สุด ไฮไลต์เฉพาะตัว "ประธานาธิบดี บารัก โอบามา" และสตรีหมายเลขหนึ่ง "มิเชล โอบามา" ในวันประกาศรับเข้าตำแหน่ง มิเชลเลือกใส่สีเหลืองที่เหมาะกับตัวเธอ และสีเหลืองยังสื่อความหมายถึงความหวังอย่างทรงพลัง
ส่วนโอบามาจะชอบ ใส่เนกไทสีแดงเสมอ ยิ่งเมื่อต้องปราศรัยใหญ่ต่อหน้าสาธารณชน เพราะสีแดงจะช่วยส่งพลังให้โอบามา ดูเป็นคนทำงานอย่างจริงจัง ตั้งใจ ขยัน และมุ่งมั่น
ส่วนนายกฯหญิงของไทย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในสายตานักวิเคราะห์สีอย่างอาจารย์มิจิโกะเอ่ยปากชมว่า เป็นผู้นำหญิงที่แต่งกายเหมาะสมทั้งดีไซน์และการใช้สีที่เข้ากับตัวเอง
"นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงอยู่ในกลุ่มสีฤดูซัมเมอร์ เหมาะกับโทนน้ำเงิน เมื่อใส่ชุดสีอมฟ้าแล้วจะทำให้ดูสว่างโดดเด่นเป็นพิเศษ และนายกฯก็แต่งสีอมฟ้าให้เห็นเป็นประจำ"
เพราะ "สี" สื่อสารความหมายอย่างลึกซึ้งเสมอ ด้วยเหตุนี้ ศาสตร์การเรียนรู้เรื่องสีที่ปรับเข้ากับตัวเองจะช่วยให้เราดึงพลังบวกที่ ซ่อนอยู่ในแต่ละบุคคลออกได้ และช่วยเปลี่ยนปรับภาพลักษณ์ให้คนเราเจิดจ้าหรืออับแสงได้เพราะ "สี"
- สี "หลับสบาย"
อาจารย์ มิจิโกะ ได้ร่วมดีไซน์ชุดผ้าปูกับแบรนด์ "พาซาญ่า" ออกมาเป็นคอลเล็กชั่น พิเศษ "Tropical Forest" เน้นให้ความสำคัญไปที่การเลือกสีที่ช่วยให้นอนหลับสบาย แต่ละสีในคอลเล็กชั่นนี้มีความหมายบนพื้นฐานของธรรมชาติ เช่น โทนสีเย็นของ
สีฟ้า Tropical Lagoon หรือสีเขียว Misty Rain เพราะโทนสีเขียวอมฟ้าจะช่วยให้พักผ่อน นอนหลับสบาย ปรับอารมณ์ให้เย็นลง มีสติเพิ่มขึ้น หากใครที่มีอาการนอนไม่ค่อยหลับ ลองเปลี่ยนชุดนอน ผ้าปูเตียง ผ้าคลุมเตียง ปลอกหมอน ให้เป็นสีฟ้า อาจจะทำให้หลับได้ง่ายขึ้น ส่วนโทนสีน้ำตาลเป็นตัวแทนของดิน ช่วยทำให้รู้สึกมั่นคง แข็งแรง หนักแน่น แต่สีที่ไม่เหมาะกับเวลานอน คือ สีแดง สีส้ม
- สี "ปรับอารมณ์"
สีฟ้า : มีสมาธิ ช่วยให้นิ่งขึ้น ปรับอารมณ์เย็นลง เหมาะกับเด็กในวัยเรียน จากผลวิจัยชี้ว่าห้องสีฟ้าจะช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น
สีส้ม : ช่วยเรื่องการสื่อสาร ถ้าอยากให้คนในบ้านพูดคุยกันมากขึ้น ลองเปลี่ยนห้องเป็นโทนอมส้ม
สีแดง : ถ้าอยู่ในห้องสีแดง อุณหภูมิในตัวเราร้อนเพิ่มขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส ร่างกายจะมีปฏิกิริยาทันที และจะปรับอุณหภูมิในร่างกายคนเราให้เพิ่มขึ้น เมืองไทยไม่เหมาะกับห้องสีนี้
- สี "ไดเอต"
สีส้มอมเหลือง : ช่วยทานอาหารอร่อยขึ้น ใครที่กินอาหารไม่ค่อยลง ลองเปลี่ยนสีรอบตัวเป็นโทนส้มอมเหลือง
สี ฟ้า : เหมาะกับคนอยากไดเอต เช่น คนญี่ปุ่นที่กำลังลดน้ำหนักมักจะโรยหน้าข้าวด้วยผงสีน้ำเงิน มีผลให้อยากทานได้น้อยลง หรือลองใช้จาน แก้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นโทนสีน้ำเงิน จะช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง