"กฎหมายคาร์ซีท" กับข้อพิสูจน์ความพร้อม "มีลูกเมื่อพร้อม"

"กฎหมายคาร์ซีท" กับข้อพิสูจน์ความพร้อม "มีลูกเมื่อพร้อม"

"กฎหมายคาร์ซีท" กับข้อพิสูจน์ความพร้อม "มีลูกเมื่อพร้อม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“มีลูกเมื่อพร้อม” เป็นข้อความที่มักจะถูกอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ในปัจจุบัน หลังจากที่ปัญหาสังคมบางอย่างปรากฏขึ้นมา ซึ่งเมื่อมองให้ลึกลงไปก็พบว่าปัญหาหลาย ๆ อย่างมันมีที่มาจากสถาบันเริ่มต้นของคนในสังคม หรือก็คือ “สถาบันครอบครัว” เมื่อครอบครัวหนึ่งไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรคุณภาพดีแก่สังคมได้ ประชากรบางกลุ่มในสังคมมีดีแต่สร้างปัญหาและทำทุกอย่างยกเว้นทำประโยชน์ ทุกอย่างจึงถูกตีกลับไปที่จุดเริ่มต้นของคนเหล่านี้ว่า “ถ้าพ่อแม่ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีก็อย่ามี จงมีลูกเมื่อพร้อม”

แม้ว่าคำพูดข้างต้นอาจจะฟังดูแรงเกินไป แต่ถ้าเราหันมาพิจารณาจริง ๆ จะเห็นว่าในสังคมไทยปัจจุบัน คุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่นั้นตกต่ำลงมาก ปัจจัยหลักมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เต็มที่ของพ่อแม่ ซึ่งเริ่มต้นมาจากความไม่พร้อมในการมีบุตร ไม่มีทั้งเงินที่จะสนับสนุนคุณภาพชีวิตบุตรหลานให้ได้รับปัจจัย 4 ที่ดี ไม่มีทั้งเวลาที่จะอบรมสั่งสอนบุตรหลานว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ไม่มีทั้งความรู้ในการเลี้ยงเด็ก ปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตตามมีตามเกิด ไม่มีความรู้ที่จะมาอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี และไม่มีทั้งวุฒิภาวะในการเป็นพ่อเป็นแม่คน ที่ถ้าคนเป็นพ่อเป็นแม่ยังไม่มีวุฒิภาวะเสียเอง ไม่รู้ว่าผิดชอบชั่วดีคืออะไร จะเอาอะไรมาเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก

การมีลูกทั้งที่ไม่พร้อมที่จะเลี้ยง เกิดเป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดการถ่ายทอดความถดถอยจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มจากรุ่นพ่อแม่ที่ไม่พร้อมทั้งทรัพย์สินและวุฒิภาวะให้กำเนิดบุตรขึ้นมา หากบุตรที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีเติบโตไปเป็นเหมือนกับรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็จะมีรุ่นหลาน รุ่นเหลน รุ่นต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะเด็กที่เกิดมาโดยที่พ่อแม่ไม่พร้อมที่จะเลี้ยง จำต้องมีชีวิตที่ด้อยโอกาสอย่างเลี่ยงไม่ได้ เด็กเหล่าซึมซับทุกสิ่งทุกอย่างจากพ่อแม่ โดยไม่เกิดการพัฒนา จึงวนลูปเดิมเดียวกับพ่อแม่

เมื่อประชากรไม่มีคุณภาพ สังคมก็เสื่อมลงตามคุณภาพประชากร ดังนั้น การจะมีลูกสักคนไม่ใช่คิดแค่ว่าก็เลี้ยงกันไปแบบตามมีตามเกิด ต้องคำนึงถึงเด็กที่ไม่ได้ผิดอะไรเลยแต่ต้องมารับผลกรรมนี้ไปด้วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็กได้รับจะมีผลต่อตัวเด็กเองทุกประการ นี่แหละ สาเหตุที่ว่าทำไมคนเราจึงควรมีลูกเมื่อพร้อมจริง ๆ

กฎหมายคาร์ซีท อีกบทพิสูจน์ว่าพร้อมจะเป็น “พ่อแม่” หรือยัง
ไม่นานมานี้ ข้อความที่ว่า “มีลูกเมื่อพร้อม” ถูกนำกลับมาใช้จนเป็นประเด็นให้ได้ฉุกคิดและตระหนักถึงอีกครั้ง จากกรณีที่ประเทศไทยเตรียมบังคับใช้ “กฎหมายคาร์ซีท” อย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. การจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 พ.ค. 2565 กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน

แปลให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และคนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยหรือคาร์ซีท (เบาะที่นั่งในรถสำหรับเด็ก) เมื่อเดินทาง หรือหาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถ โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้จริงจังในวันที่ 5 ก.ย. 2565 ทำให้นับตั้ง 5 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคาร์ซีทที่ว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท!

เมื่อมีข่าวออกมา ก็เป็นไปตามที่หลายคนคาด เพราะชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยในบ้านเราเสพติดการพยายามที่จะมีส่วนร่วม ขอแค่ให้ได้มีปัญหากับทุกเรื่อง อย่างเรื่องคาร์ซีทนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคิดว่าความปลอดภัยของบุตรหลานต้องมาก่อน ผู้ที่เห็นด้วย แต่ก็เห็นปัญหาว่าราคาของคาร์ซีทนั้นค่อนข้างสูงตามวัตถุดิบ คุณภาพ มาตรฐาน และแบรนด์ อีกทั้งยังเป็นสินค้านำเข้า ราคาขายจึงมีภาษีบวกเข้ามาด้วย ซึ่งมันคงจะดีกว่าหากภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องราคาให้ถูกลง พ่อแม่หลาย ๆ ท่านจะได้พอมีกำลังจ่ายซื้อความปลอดภัยให้กับลูก

เมื่อมีคนเห็นด้วยก็จะมีคนที่เห็นต่างออกไป มีคนจำนวนไม่น้อยที่แสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ แถมยังบอกว่าไร้สาระ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้เล็งเห็นประโยชน์ในเรื่องของความปลอดภัยของลูกหลานตัวเองเลยแม้แต่น้อย อุบัติเหตุไม่ได้เกิดบ่อยก็จริง แต่เมื่อมันเกิดมันไม่ได้บอกให้ระวังล่วงหน้า มันเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ถ้ารุนแรงมากก็ทำให้ตายเดี๋ยวนั้นเลยด้วยซ้ำไป

หลายฝ่ายจึงเล็งเห็นช่องโหว่บางอย่าง ว่าในวันที่บังคับใช้กฎหมายคาร์ซีทจริง ๆ พ่อแม่บางกลุ่มอาจไปหาซื้ออุปกรณ์ราคาถูกมากแบบที่ไม่ได้ มาตรฐานมาใช้งานเพราะเห็นว่าราคาถูก ทั้งที่การใช้คาร์ซีทจำเป็นต้องมีมาตรฐานด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี อาจจะให้บุตรหลานใช้จริงหรือแค่เอามาติดหลอก ๆ ให้เห็นว่ารถฉันติดตั้งคาร์ซีทนะ ซึ่งอาจกลายเป็นว่าเป็นการติดตั้งเพื่อปกป้องการถูกตำรวจเรียก มากกว่าอยากเห็นแก่ความปลอดภัยของเด็ก และทำเพื่อปกป้องชีวิตของเด็กจริง ๆ ถ้าไม่เต็มใจจะสนับสนุนเงินซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิตลูก คุณพร้อมแล้วจริง ๆ หรือที่จะมีลูก?

คำถามคือ ข้อความที่กล่าวว่า “มีลูกเมื่อพร้อม” นั้น ใช้ได้กับสถานการณ์นี้หรือไม่? ถ้าการซื้อคาร์ซีทจะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งที่พ่อแม่หลาย ๆ บ้านต้องแบกรับแบบขอไปที จนถึงขั้นติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานไว้กันตำรวจเรียกมากกว่าห่วงความปลอดภัยของบุตรหลาน หากคุณทำแบบนั้น มันอาจหมายถึง “คุณยังไม่พร้อมจะมีลูก” เพราะคุณไม่ได้คิดจะเลี้ยงเขาให้เติบโตไปอย่างดี ถ้าครอบครัวคุณมีรถยนต์คันหนึ่งที่ราคาต่ำสุดอาจอยู่ที่หลักหมื่นปลาย ๆ หรือหลักแสน และราคาแพงอยู่ที่หลักล้าน การเพิ่มคาร์ซีทราคาหลักพันมาอีกหนึ่งชิ้นเพื่อลูกตัวเอง ทำไมมันจึงเป็นภาระได้ขนาดนั้น การบอกว่ากฎหมายนี้ไร้สาระ ทั้งมันเป็นกฎหมายที่คุ้มครองชีวิตลูกของคุณเอง! มันถูกแล้วหรือ

ถ้าอะไร ๆ ไม่พร้อม ไม่ต้องมีไหมล่ะ “ลูก” น่ะ
จริง ๆ ก็สอดคล้องกับที่คนรุ่นใหม่หลายคนมอง โดยเฉพาะคนเจนมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นคนเจนที่แสดงความคิดเห็นออกมาเสมอว่า “ไม่อยากจะมีลูก” เหตุผลคือ “การมีลูก ราคามันแพง” เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าสังคมยุคปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิต คนในยุคนี้จึงมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันว่าการเลี้ยงลูกคือภาระที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายราคาแพง แค่ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองให้รอดไปวัน ๆ ก็ยากแล้วสำหรับใครหลาย ๆ คน “ตัวเองยังเอาแทบไม่รอด ก็ไม่คิดจะมีลูกหรอก สงสารเด็ก สงสารตัวเองด้วย”

คนกลุ่มนี้เติบโตมาในลักษณะที่แบกรับสารพัดปัญหาจากพ่อแม่มาด้วย พวกเขารู้ดีว่ามันเป็นทุกข์ขนาดไหน ดังนั้น ถ้าพวกเขาคิดจะมีลูก ก็จะต้องเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งด้านความเป็นอยู่และการศึกษา เพื่อที่ลูกของพวกเขาจะได้ไม่ตกที่นั่งเดียวกันกับที่พ่อแม่เจอ ถ้าให้ลูกแบบนั้นไม่ได้ ไม่มีปัญญาเลี้ยงให้ลูกได้รับแต่สิ่งดี ๆ ก็อย่ามีเลยดีกว่า อีกทั้งการมีลูกจะทำให้การใช้ชีวิตส่วนตัวหายไป ปกติเวลาส่วนตัวก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าชีวิตยังไม่ลงตัว อะไรหลาย ๆ อย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง พวกเขาจะไม่คิดมีลูก หลายคนจึงตัดสินใจที่ จะครองชีวิตคู่กันแค่สองคน หรือกลายเป็นคนโสดที่หาความสุขเพี ยงเข้าตัวแค่คนเดียวพอ

ใช่แล้ว! การมีลูกจึงเป็นสิ่งที่เลือกได้ว่าจะยังไม่มีหากชีวิตยังไม่พร้อม ในยุคที่ค่าครองชีพแพงเอา ๆ สวนทางกับรายได้ รายจ่ายในชีวิตประจำวันแค่ของตัวเองคนเดียวยังเดือนชนเดือน ถ้ามีลูก จะเอาเงินที่ไหนเลี้ยง แบบนี้สู้ไม่มีดีกว่า ไม่เป็นภาระต่อตนเอง อีกทั้งนโยบายขายฝันของรัฐบาลที่เชิญชวนคนไทยให้มีลูกเพื่อชาติก็ไม่ได้ช่วยคนที่คิดจะเป็นพ่อแม่มือใหม่เลยแม้แต่น้อย เงินสนับสนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จำนวน 600 บาทต่อเดือนเพียงพอต่อการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพอย่างที่ประเทศชาติต้องการได้จริง ๆ หรือ ฝากไว้ให้คิด

เพราะฉะนั้น คู่แต่งงานใหม่ หรือคู่ที่แต่งงานกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว อาจมีความคิดที่ว่า “อยากมีลูกเมื่อพร้อม” ไม่ใช่เรื่องผิดเลย การมีลูกอย่าคิดว่าพอมีแล้วเดี๋ยวก็หาวิธีหาเงินเลี้ยงได้เอง หาวิธีอย่างไร เข้าห้างขโมยนมผง? ปล้นร้านทอง? ถือมีดจ่อคอชาวบ้านให้ส่งเงินให้? แบบนั้นเหรอ ชีวิตเด็กคนหนึ่งไม่ได้ไร้คุณค่าขนาดนั้น ถ้าไม่พร้อมที่จะเลี้ยงก็อย่าเพิ่งให้เขาเกิดมา เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีเงินที่พร้อมจะสนับสนุนคาร์ซีทให้ลูก ก็อย่าเพิ่งมีเลย ลูกน่ะ

แล้วเมื่อไรถึงจะ “พร้อมมีลูก”
ความพร้อมในการมีลูก นอกเหนือจากวุฒิภาวะของคนที่จะมีสถานะเป็นพ่อแม่แล้ว ความรับผิดชอบต่อหนึ่งชีวิตที่เกิดใหม่ รวมไปถึงการเตรียมเงินให้พร้อมเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกเหนือไปจากความรักและความอบอุ่นในครอบครัว อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่แค่มีทุนทรัพย์ที่พร้อมจะสนับสนุนบุตรหลานในทุกด้านแล้วจะจบ มันมีอะไรมากกว่านั้น

เงิน – ที่ต้องมั่นใจว่ามีมากพอสำหรับสารพัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แรกเกิด ไปจนถึงการส่งเสียในระยะยาวจนจบการศึกษา ซึ่งต้องไม่ใช่การสนับสนุนดีมากเพียงด้านเดียว ด้านอื่น ๆ ด้อยช่างมัน เช่น ส่งเสียให้เรียนโรงเรียนดี ๆ เพื่อสังคมและการเรียนที่ดีพอ แต่ไม่สามารถเรื่องอื่นไม่สามารถทำให้เด็กมีเท่าคนอื่นได้ แบบนั้นจะทำให้เกิดปมในใจลูก

เวลา – มีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่ สามารถตัดขาดจากทุกสิ่ง เพื่อให้ลูกมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

ความรู้ – มีเงิน มีเวลา แต่หากขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงลูกก็คงจะไปไม่รอด ถ้าพ่อแม่ไม่มีอะไรจะสอนลูก ลูกจะเติบโตมาอย่างดีได้อย่างไร การปลูกฝังที่ดีที่สุดจึงต้องมาจากพ่อแม่

วุฒิภาวะ – ตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกก็คือพ่อแม่ หากพ่อแม่สอนมาดี เลี้ยงมาดี เด็กก็จะเจริญเติบโตมาอย่างดีเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ความพร้อมที่ดีที่ต้องมีให้ครบหากคิดจะมีลูก อย่าคิดตื้น ๆ ว่า การเลี้ยงลูก 1 คนเป็นเรื่องที่ง่ายขนาดนั้นไม่ใช่ว่าคิดอยากจะมีแล้วมีได้เลย ถ้ายังรู้สึกว่า “เวลานี้ยังไม่ควรจะมีลูก” ก็อย่าเพิ่งมี เลื่อนออกไปก่อน เตือนตัวเองเสมอว่าการมีลูกคือเรื่องใหญ่ ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา เพื่อให้เด็กเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ในทางกลับกัน หากปล่อยให้เด็กเกิดมาแบบที่พ่อแม่ไม่พร้อม ไม่ว่าจะด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ หรือสภาพเศรษฐกิจ ท้องไม่พร้อม และขาดความรู้ในการเลี้ยงลูก ก็จะทำให้เด็กเสี่ยงที่จะด้อยคุณภาพ ทั้งภาวะโภชนาการ สติปัญญา และพฤติกรรมนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook