7 กลุ่มคนที่ห้ามลดน้ำหนักด้วย IF เสี่ยงอันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่คิด
การลดน้ำหนักด้วยการทำ IF หรือ Intermittent Fasting เป็นการลดน้ำหนักที่มีเวลากินและเวลาอดตามกฎที่วางไว้ ซึ่งแม้จะเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลสำหรับหลายๆ คน แต่ก็ยังคงเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ไม่แนะนำสำหรับบางคนด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของผู้ที่ลดน้ำหนักได้ สำหรับกลุ่มคนที่ห้ามลดน้ำหนักด้วยการทำ IF จะแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มดังนี้
กลุ่มคนที่ห้ามลดน้ำหนักด้วยการทำ IF จะแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มดังนี้
1. อายุต่ำกว่า 25 ปี
เนื่องจากร่างกายที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ อีกทั้งร่างกายยังต้องการสารอาหารต่างๆ เพื่อให้ร่างกายสามารถเจริญเติบโตต่อไป ทั้งนี้หากผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ใช้วิธีการลดน้ำหนักด้วยการทำ IF จะส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะการทำ IF ที่มีการอดอาหารนาน หรือกินอาหารเพียงวันละมื้อ จะส่งผลให้เกิดปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุล ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า และยังส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออีกด้วย
2. ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร
เนื่องจากร่างกายของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร มีความต้องการสารอาหารสูงมาก โดยในกลุ่มผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ร่างกายต้องการสารอาหารเพื่อไปบำรุงเด็กในครรภ์ ส่วนผู้ที่อยู่ในช่วงของการให้นมบุตร ร่างกายต้องการสารอาหารเพื่อบำรุงตนเอง ดังนั้นหากทำ IF ย่อมทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสารอาหารได้
3. ผู้ที่เป็นโรคพฤติกรรมการกินบกพร่อง
สำหรับผู้ที่เป็นโรคพฤติกรรมการกินบกพร่อง หรือที่เรียกว่า Anorexia Nervosa รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคบูลิเมีย หรือโรคที่กินอาหารแล้วทำให้อาเจียน ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะกลัวการกินอาหารทุกประเภท ไม่ควรทำ IF เด็ดขาด เนื่องจากร่างกายอยู่ในช่วงของการขาดสารอาหารอยู่แล้ว หากทำ IF จะยิ่งทำให้ร่างกายแย่ลงกว่าเดิมมาก ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวจะต้องรีบรักษาให้หาย เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกายที่หนักกว่าเดิมนั่นเอง
4. ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด
ร่างกายที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ต้องการช่วงเวลาของการพักฟื้น ดังนั้นจึงไม่ควรทำ IF เพราะหลังการผ่าตัดร่างกายต้องการสารอาหารเพื่อไปฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่เสียหายที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดนั่นเอง หากต้องการลดน้ำหนักด้วยการทำ IF ควรรอให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติเสียก่อน
5. ผู้ที่มีค่า BMI น้อย
สำหรับผู้ที่มีค่า BMI น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด นั่นแสดงให้เห็นว่าร่างกายของเราอยู่ในเกณฑ์ที่ผอมมากๆ อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรทำ IF เพราะจะยิ่งเป็นการลดปริมาณสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับ หากทำ IF ในขณะที่ร่างกายมีค่า BMI น้อยกว่าปกติ อาจส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดสารอาหารได้
6. ผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ
สำหรับใครที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ หรืออยู่ในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายหรือเล่นกล้าม เป็นกลุ่มที่ร่างกายต้องการสารอาหารอย่างมาก จึงไม่แนะนำให้ทำ IF เนื่องจากกลุ่มคนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ร่างกายมีความต้องการสารอาหารเพื่อไปสร้างกล้ามเนื้อ พร้อมทั้งเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การทำ IF จะส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อขึ้นช้า
7. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ ไขมันในเลือด และโรคอื่นๆ ไม่แนะนำให้ทำ IF แต่หากต้องการทำจริงๆ จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อให้แพทย์สามารถดูแลการทำ IF ไปพร้อมๆ กับการรักษาโรคที่เป็นอยู่ หากทำโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าการลดน้ำหนักด้วยการทำ IF จะได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถเลือกได้ว่าอดอาหารกี่ชั่วโมงตามสูตรที่ระบุไว้ แถมยังเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลสูง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การลดน้ำหนักทุกประเภท แม้กระทั่งการทำ IF ก็ใช่ว่าจะเหมาะสำหรับทุกคน
อ่านเพิ่มเติม