เปิดพระอัจฉริยภาพ 3 ราชนิกุลหญิงรุ่นเยาว์รัชทายาทอันดับ 1 ราชวงศ์ยุโรป

เปิดพระอัจฉริยภาพ 3 ราชนิกุลหญิงรุ่นเยาว์รัชทายาทอันดับ 1 ราชวงศ์ยุโรป

เปิดพระอัจฉริยภาพ 3 ราชนิกุลหญิงรุ่นเยาว์รัชทายาทอันดับ 1 ราชวงศ์ยุโรป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทบาทของราชวงศ์ต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังถูกลดทอนตามกาลเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ยังทรงมีอิทธิพลในสังคม และใช้พระปรีชาสามารถในการผลักดันสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมมากมาย และยังมีราชนิกุลรุ่นเยาว์อีกไม่น้อย ที่มีพระอัจฉริยภาพโดดเด่นจนแฟน ๆ ที่ติดตามข่าวสารราชวงศ์ทั่วโลกต่างจับตามอง ครั้งนี้ HELLO! ขอพาไปพบกับพระปรีชาของ 3 ราชนิกุลหญิงรุ่นเยาว์จาก ราชวงศ์ยุโรป ที่ปัจจุบันทรงรั้งตำแหน่ง ‘รัชทายาทอันดับ 1’ ซึ่งจะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ต่อไปในอนาคต

เจ้าหญิงเอลิซาเบธเจ้าหญิงเอลิซาเบธ
เจ้าหญิงเอลิซาเบธ แห่งเบลเยี่ยม ดัชเชสแห่งบราบันต์ (Princess Elisabeth, Duchess of Brabant)

ประสูติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2001 ทรงเป็นพระทายาทองค์โตใน ‘สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลลิป และสมเด็จพระราชินีมาธิลด์’ ทรงเริ่มต้นการศึกษาที่ St.John Berchmans College ในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของราชวงศ์เบลเยี่ยมที่ การศึกษาของว่าที่พระมหากษัตริย์เริ่มต้นขึ้นในดัตช์

กระทั่งประเทศเบลเยี่ยมมีการเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กำหนดให้เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์เพศก็ได้สามารถเป็นรัชทายาท ในปี 2010 และสมเด็จพระราชิธิบดีฟิลลิป พระบิดาของพระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2013 เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเป็นรัชทายาท และดำรงพระอิสริยยศเป็นดัชเชสแห่งบราบันต์


ต่อมาปี 2018 ทรงเริ่มศึกษาในระดับมัธยมศึกษาหลักสูตร International Baccalaureate (IB) ที่ UWC Atlantic College ในเวลส์ สหราชอาณาจักร หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2020 ทรงเข้าร่วมโครงการ Yale Young Global Scholars Program ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำรุ่นต่อไป รวมถึงหลักสูตรสังคมและวิทยาการทหาร ที่โรงเรียนทหารเบลเยี่ยม

ส่วนปัจจุบัน ทรงสอบผ่านการเข้าศึกษาด้านประวัติศาสตร์และการเมือง ที่วิทยาลัยลินคอล์น มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร และทรงสามารถสื่อสารภาษาดัตช์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และอังกฤษ ได้อย่างคล่องแคล่ว


เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเริ่มปฏิบัติพระกรณียกิจครั้งแรก ตั้งแต่ทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี ในการเสด็จไปทรงเปิดโรงพยาบาลเด็กเจ้าหญิงเอลิซาเบธ (Princess Elisabeth Chidren’s Hospital) ในแผนกกุมารเวชของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกนต์ (University Hospital of Ghent) ในการนี้ ทรงมีพระดำรัสต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ขณะที่ในเดือนมิถุนายน 2019 เจ้าหญิงเอลิซาเบธตามเสด็จสมเด็จพระราชินีมาธิลด์ เยือนประเทศเคนยา เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านมนุษยธรรม ของยูนิเซฟ นอกจากนี้ยังทรงเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ เด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนไร้บ้าน โดยช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทรงร่วมประทานกำลังใจและสนับสนุนผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุ ผ่านทางโทรศัพท์อีกด้วย


ส่วนยามว่างทรงโปรดการใช้เวลาร่วมกับ เจ้าชายกาเบรียล, เจ้าชายเอ็มมานูเอล และเจ้าหญิงเอเลโอนอร์ พระอนุชาและพระขนิษฐาทั้ง 3 พระองค์ และยังโปรดการเล่นกีฬาทั้งสกี เทนนิส แล่นเรือใบ และดำน้ำ ทรงสนุกกับการทรงพระดำเนินสัมผัสกับธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเคยเรียนเปียโนและทรงโปรดดนตรีหลากหลายแนวเพลง ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพระสหาย ที่ทรงพบปะและท่องเที่ยวด้วยเป็นประจำ และสุดท้ายทรงโปรดการอ่านหนังสือเป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงพบว่าหนังสือเป็นแหล่งที่มาของความรู้และแรงบันดาลใจที่สำคัญ

เจ้าหญิงแคทารีน่า อาร์เมเลียเจ้าหญิงแคทารีน่า อาร์เมเลีย
เจ้าหญิงแคทารีน่า อาร์เมเลีย เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ (Catharina-Amalia, Princess of Orange)
ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2003 พระธิดาองค์โตใน ‘สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม อเล็กซานเดอร์ และสมเด็จพระราชินีแม็กซิม่า’ ต่างจากรัชทายาทหลายพระองค์ เจ้าหญิงแคทรีน่า อาร์เมเลีย เจริญพระชันษาโดยได้รับความเป็นส่วนพระองค์ค่อนข้างสูง พระองค์ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา Bloemcamp ใน Wassenaar ตั้งแต่ปี 2007 – 2015 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับที่ประทับ และทรงจักรยานไปโรงเรียนเช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่น ๆ


ปี 2013 เจ้าหญิงแคทารีน่า ทรงขึ้นเป็นรัชทายาทแห่งราชวงศ์เนเธอร์แลนด์ หลังจากพระบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม อเล็กซานเดอร์ เสด็จขึ้นครองราชย์ และพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์’ ตามธรรมเนียมซึ่งมีเพียงรัชทายาทเท่านั้นที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว


ต่อมาปี 2015 ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียน Christelijk Gymnasium Sorghvliet ในกรุงเฮก และร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกสภานักเรียน ทรงเข้าร่วมการประชุม Model United Nations of the International School of The Hague (MUNISH) และการประชุม The Hague International Model United Nations (THIMUN)

ในปี 2021 เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ทรงสอบผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างโดดเด่น และทรงกำลังอยู่ในช่วงพักจากการเรียน (Gap Year) โดยพระองค์ปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและสำนักพระราชวังเป็นเงินกว่า 1.6 ล้านยูโร (58 ล้านบาท) เนื่องจากทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยที่จะรับเงินโดยยังไม่ได้ปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะสมาชิกราชวงศ์อย่างเต็มที่


ในโอกาสทรงเจริญพระชันษาครบ 18 ปี และทรงบรรลุนิติภาวะ ในปี 2021 ทำให้พระองค์มีตำแหน่งในฐานะสมาชิกรัฐสภาแห่งเนเธอแลนด์ ในฐานะที่ปรึกษาโดยอัตโนมัติ เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ ทรงสื่อสารได้ทั้งภาษาดัตช์ อังกฤษ และสเปน และเคยเรียนภาษาจีนกลางด้วย นอกจากนี้ยังทรงชื่นชอบศาสตร์ด้านการผสมเครื่องดื่มอย่างมากจนได้รับการขนานพระนามว่า ‘Cocktail Queen’ และพระองค์ยังเคยตั้งชื่อม้าว่า ‘โมฮิโต้’ (Mojito) ส่วนยามว่างนอกจากทรงโปรดการขี่ม้า ยังโปรดการเล่นเทนนิส และการร้องเพลง

เจ้าหญิงเลโอนอร์ แห่งอัสตูเรียสเจ้าหญิงเลโอนอร์ แห่งอัสตูเรียส
เจ้าหญิงเลโอนอร์ แห่งอัสตูเรียส (Leonor, Princess of Asturias)
พระธิดาใน ‘สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเป้ที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเลติเซีย’ แห่งสเปน ประสูติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2005 ทรงเริ่มการศึกษาที่ Escuela Infantil Guardia Real ซึ่งเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กของราชองครักษ์สเปน ก่อนเข้าชั้นประถมศึกษาปีแรกในปี 2008 ที่โรงเรียนซานตา มาเรีย เด ลอส โรซาเลส ในเมืองอาราวากา นอกกรุงมาดริด โรงเรียนที่สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเป้ทรงเคยศึกษา เจ้าหญิงเลโอนอร์ทรงสื่อสารได้คล่องทั้งภาษาสเปน และอังกฤษ นอกจากนี้ยังศึกษาภาษาจีนกลาง


ในเดือนพฤษภาคม 2014 เจ้าเลโอนอร์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในการเสด็จเยือนฐานทัพอากาศซานฮาเวียร์ ในเมืองมูร์เซีย ครั้งแรก ก่อนวันที่ 18 มิถุนายน 2014 พระบิดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ส่งผลให้เจ้าหญิงเลโอนอร์ทรงกลายเป็นรัชทายาทและดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียส’


ในเดือนกันยายน 2018 เจ้าหญิงเลโอนอร์ ปฏิบัติพระกรณียกิจนอกพระราชวังครั้งแรก ในการตามเสด็จพระบิดาและพระมารไปยังโควาดองกา เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 1,300 ปีแห่งอาณาจักรอัสตูเรียส จากนั้นเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทรงมีพระดำรัสอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ Instituto Cervantes ในกรุงมาดริด ซึ่งพระองค์ทรงอ่านบทความแรกในรัฐธรรมนูญของสเปน เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีวันรัฐธรรมนูญ และวันคล้ายวันประสูติครบ 13 ปี


ต่อมาในปี 2019 ทรงมีพระดำรัสเป็นภาษาสเปน กะลันตัน อังกฤษ และอาราบิก ในพิธีพระราชทานรางวัล Princess of Girona Foundation Awards และในปี 2021 มีการประกาศว่าจะทรงศึกษาต่อที่ UWC ที่เวลส์ สหราชอาณาจักร ซึ่งในปีเดียวกันเจ้าหญิงเลโอนอร์ ซึ่งมีพระชันษา 16 ปี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจลำพังเป็นครั้งแรกในการเสด็จร่วมพิธีฉลองครบรอบ 30 ปีของสถาบันเซร์บันเตส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook