ตกงานอย่าเพิ่งตกใจ! 6 ข้อต้องรีบทำเมื่อตกงานกะทันหัน

ตกงานอย่าเพิ่งตกใจ! 6 ข้อต้องรีบทำเมื่อตกงานกะทันหัน

ตกงานอย่าเพิ่งตกใจ! 6 ข้อต้องรีบทำเมื่อตกงานกะทันหัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“งาน” กับยุคเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าครองชีพพุ่งสูง โรคระบาดก็ยังมาเยือนไม่เลือนหายไปแบบนี้ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง รวมถึงหาวิธีต่าง ๆ มาเป็นมาตรการในการลดค่าใช้จ่าย เพราะทนกับพิษเศรษฐกิจไม่ไหวแล้ว ต้องบอกว่าใครมีงานประจำอะไรเห็นทีต้องเกาะขาเก้าอี้ไว้ให้แน่น อย่าเพิ่งใจร้อนรีบลาออกจากงาน อย่าติสแตกออกจากงานโดยพลการเป็นอันขาดเลยทีเดียวเชียว

แต่แล้วก็มีข่าวให้ต้องตกใจ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะเห็นข่าวคราวของบริษัทแอปฯ สีส้มต้องปลดพนักงานทั่วโลกในประเทศไทยเองก็มีพนักงานได้รับผลกระทบนี้ถึง 300 ชีวิต และยังมีการเลย์ออฟพนักงานจากบริษัทอื่น ๆ ที่มีให้เห็นตามข่าวอยู่เรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้เราได้เตรียมตัว หากความซวยนี้กลายเป็นคุณที่ต้อง “ตกงานกะทันหัน” จะทำอย่างไรดี

สำหรับคนที่ต้องตกงานกะทันหัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ต่อให้ตอนนี้จะกำลังท้อใจมากแค่ไหน เราอยากขอให้คุณสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วหันมาตั้งสติใหม่อีกครั้ง กับ 6 แนวทางที่ควรทำเพื่อเดินหาทางออกให้กับการ ตกงานกะทันหัน

ตกงานกะทันหันรีบแจ้งประกันสังคม
หากคุณเป็นผู้ประกันตนแล้วต้องตกงาน จะด้วยการถูกเลิกจ้าง หรือโดนพักงานจากโควิด-19 หรือแม้กระทั่งต้องลาออกด้วยความจำเป็นใด ๆ ก็ตาม เรามีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม ระยะเวลาการลงทะเบียนนั้นจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันหลังจากตกงานเท่านั้น จึงถือเป็นสิ่งแรก ๆ ที่คุณควรจะต้องทำเมื่อคุณตกงาน

โดยผู้ที่ได้รับสิทธินั้นจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องตกงานโดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือหมดสัญญาจ้าง โดยคุณต้องสามารถไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานอย่างน้อยที่สุดเดือนละ 1 ครั้ง

  1. กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

  2. กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

  3. ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทน กรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้าง และลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน



รวบรวมเงินที่มีทั้งหมด เพื่อวางแผนการเงิน
เมื่อรายงานตัวกับประกันสังคมเรียบร้อย ก็ต้องมาดูว่าเงินที่คุณมีอยู่ทั้งหมดเป็นเท่าไร ซึ่งรวมไปถึงเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ได้รับ เงินชดเชยจากบริษัทในกรณีถูกเลิกจ้าง เงินที่ได้รับจากประกันสังคมกรณีว่างงาน เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่น ๆ ถ้ามี เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีเงินสำรองในช่วงที่ยังไม่มีรายได้เข้ามาอยู่เท่าไร

เมื่อไม่มีรายได้แต่ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ จึงควรจัดระเบียบการใช้จ่ายให้ดี แบ่งย่อยรายจ่ายที่จำเป็น และรายจ่ายที่สามารถตัดหรือลดทอนออกไปได้ เพื่อคุมการใช้จ่ายเงินให้ดีและเป็นระเบียบมากขึ้น การจัดระเบียบค่าใช้จ่ายรายเดือนที่มีอยู่ ดูว่าแต่ละวันใช้จ่ายเท่าไร คิดรวมต่อเดือนแล้วเป็นยังไง ยังมีค่าใช้จ่ายอะไรที่งดเว้นได้อีก จุดนี้ถ้ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ตัดได้ ตัดออกไปให้หมดก่อน ไว้ถ้ามีรายได้ที่ดีขึ้น ค่อยให้รางวัลกับตัวเองทีหลัง


เทียบค่าใช้จ่ายกับจำนวนเงินที่มีอยู่

พอจัดระเบียบการเงินได้แล้ว เราจะรู้ว่า เงินที่เรามีเหลืออยู่ทั้งหมดนี้ จะมีพอใช้เป็นค่าใช้จ่ายออกไปอีกกี่เดือน ในช่วงที่ว่างงาน จะได้วางแผนการใช้จ่ายให้มีสภาพคล่องขึ้น นอกจากนี้เราควรมีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ด้วย จริง ๆ แล้วการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นสิ่งควรทำเป็นอันดับแรก ๆ เมื่อได้รับเงินเดือน เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันพรุ่งนี้ ถ้าเราสร้างนิสัยในการออมเงินสำรองเอาไว้อย่างน้อย 6 เดือน ของค่าใช้จ่ายของแต่ละเดือนจะช่วยเราได้เยอะในช่วงที่ตกงาน


ติดต่อบัตรเครดิตเพื่อประนอมหนี้
กรณีเป็นหนี้บัตรเครดิตค่อนข้างสูง แล้วคำนวณดูแล้วว่า ถ้าเอาเงินที่มีอยู่ไปโปะออก จะไม่คุ้มและทำให้กระเทือนกับรายจ่ายที่ควรเก็บไว้เพื่อสำรองจ่าย แต่เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนและรักษาเครดิตของตัวเองเอาไว้ ให้แจ้งธนาคารหรือบัตรเครดิตไปตามตรงถึงปัญหาและสภาวะการเงินของเรา จากนั้นแสดงความจำนงขอจ่ายเพียงดอกเบี้ยไปก่อน


หางานพิเศษสร้างรายได้
ในช่วงตกงาน อย่าปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ เอาเวลาว่างเหล่านั้นมาสร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น งานเขียน งานสอนพิเศษ หรืองานพาร์ทไทม์ แม้ได้เงินไม่มาก แต่ก็ดีกว่าอยู่เฉย ๆ แบบไม่มีรายได้เข้ามาเลย และยังช่วยให้ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่านได้ เพราะอาชีพเสริมรายได้ทุกวันนี้ ถ้าทำแล้วต่อยอดไปได้ดี การตกงานกะทันหัน อาจเป็นเรื่องพลิกชีวิตที่ทำให้คุณได้พบทางออกที่ใช่ และไม่ต้องกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกเลยก็ได้


อนาคตไม่แน่นอนเซฟตัวเองไว้ดีที่สุด

อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่เรากำหนด หรือควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้ “การเซฟตัวเอง” เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยในอนาคตทั้งในเรื่องสุขภาพ และการเงิน ควรมีการวางแผนทางการเงินเอาไว้ เริ่มตั้งแต่กันเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เผื่อฉุกเฉินทุกเดือน และเก็บเงินส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับการลงทุน และทำประกันชีวิตเผื่อเอาไว้ถ้าใครทำได้แบบนี้ไม่ว่าจะตกงานหรือว่างงานคุณก็ยังอยู่ได้โดยไม่ต้องกังวล!

เมื่อเจอปัญหาเศรษฐกิจ หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ถ้าเราเป็นคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร และรู้จักวางแผนชีวิต เราควรจะเตรียมตัวหางานใหม่ ๆ เผื่อเอาไว้บ้างก็ดี หรืออาจจะหารายได้เสริมจากสิ่งที่เราถนัด หรือมองอาชีพใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้คนในตอนนี้ก็ได้ ถึงแม้จะตกงานแต่ถ้าเรามีงานทำ และมีรายได้เสริมเข้ามาถึงแม้จะได้ไม่เท่าเดิม แต่มันช่วยเราให้มีเงินใช้จ่ายและผ่านช่วงตกงานได้โดยไม่เครียดมากเกินไปแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook