"แม่ส้ม - สมพร" กับซีซั่นใหม่ของชีวิต หลังสูญเสียลูกสาว "ใบคา ชะนีมีกล้าม"

"แม่ส้ม - สมพร" กับซีซั่นใหม่ของชีวิต หลังสูญเสียลูกสาว "ใบคา ชะนีมีกล้าม"

"แม่ส้ม - สมพร" กับซีซั่นใหม่ของชีวิต หลังสูญเสียลูกสาว "ใบคา ชะนีมีกล้าม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปลายปี 2021 โลกออนไลน์และวงการคนรักสุขภาพได้สูญเสียอินฟลูเอนเซอร์คนเก่งอย่าง “ใบคา พึ่งอุดม แคสเซล” เจ้าของเพจ “ชะนีมีกล้าม” จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในวัยเพียง 27 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความโศกเศร้าให้กับคนใกล้ชิดและแฟนคลับเท่านั้น แต่ยังเป็นการสูญเสียบุคคลที่มีความสามารถและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน อย่างไรก็ตาม สำหรับ “แม่ส้ม” สมพร อมรรัตนเสรีกุล คุณแม่ของใบคา การสูญเสียลูกสาวคนเล็ก ในแง่หนึ่งก็เป็นการเริ่มต้น “ซีซั่นใหม่” ทั้งของเธอเองและลูกสาวด้วย

เนื่องในวันแม่ 2022 Sanook พูดคุยกับแม่ส้ม ถึงชีวิตการเป็นแม่ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 36 ปีก่อน และเติบโตผ่านกาลเวลา อุปสรรค การเรียนรู้ และการสูญเสีย จนกระทั่งถึงการเติบโตครั้งใหม่ของแม่คนนี้

แม่ส้ม สมพร อมรรัตนเสรีกุล คุณแม่ของใบคา ชะนีมีกล้ามแม่ส้ม สมพร อมรรัตนเสรีกุล คุณแม่ของใบคา ชะนีมีกล้าม

แม่มือใหม่วัย 26 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อ 36 ปีก่อน แม่ส้มในวัย 26 ปี ได้ให้กำเนิดลูกชายคนแรก คือ “ฟ้าใส พึ่งอุดม” ซึ่งปัจจุบันเป็นเทรนเนอร์กล้ามใหญ่ เจ้าของฟิตเนส Fit Junction ซึ่งแม่ส้มเปิดเผยว่า ขณะนั้น แม่ส้มก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากแม่มือใหม่คนอื่นๆ คือ กังวลและเครียดกับการเลี้ยงลูกคนแรก แต่ด้วยความ “ไฮเปอร์” ของแม่ส้ม ที่เป็นคนพลังเยอะและชอบทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เธอสนุกสนานกับการเลี้ยงลูก แบบที่ลืมเหนื่อยเลยทีเดียว

“ช่วงที่เลี้ยงลูก มันมีพลังงานที่มาก แล้วก็รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกไม่เหนื่อย ตอนนั้นก็ยังมีแรง แรงดี แบกลูก อุ้มลูก ทำงานไปด้วย ก็เอาผ้าขาวม้ามาผูกเป็นเปลกับเสาบ้าน แล้วก็เอาเข็มกลัดติดกับเปลผ้าขาวม้า แล้วก็ดึงมาร้อยที่นิ้วโป้งเท้าเรา แล้วเราก็แกว่งไปด้วย มือก็พิมพ์ไปด้วย เหมือนเล่นเปียโนน่ะ ลูกก็จะโตมากับเสียงต็อกแต็กๆ เสียงพิมพ์ดีด”

“เวลาทำงาน เวลาล้างจาน ทำอาหาร หรือถูบ้าน ก็จะเป๊อะลูก เอาผ้าขาวม้าพาดๆ แล้วก็มัดปม ก้นเขาก็จะนั่งได้พอดี แล้วเราก็ทำงานไปด้วย ถ้าเราล้างจาน ก็เอาเขาไปอยู่ข้างหลัง กวาดบ้านก็เอาเขามาอยู่ข้างหน้า ก็สลับไปสลับมาได้” แม่ส้มเล่าถึงบรรยากาศการเลี้ยงลูกชายคนแรก

แม่ส้มและลูกๆ ทั้งสามคนชะนีมีกล้ามแม่ส้มและลูกๆ ทั้งสามคน

เมื่อมีลูกชายคนที่สองคือสายเมฆ และตามด้วยลูกสาวคนสุดท้อง คือใบคา แม่ส้มเปิดเผยว่า เธอรู้สึกชิลล์กับการเลี้ยงลูก ด้วยประสบการณ์การเลี้ยงลูกที่มากขึ้น และธุรกิจโรงเรียนสอนศิลปะของครอบครัวที่เริ่มมั่นคง

“ส่วนใหญ่ตอนมีลูกคนแรก พ่อแม่กำลังอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว พอเราอายุมากขึ้น งานเราหรือธุรกิจเรามันก็เริ่มอยู่ตัว ก็มีลูกน้อง มีผู้ช่วย มีพนักงาน งานที่ออกไปลุยด้วยตัวเองมันก็น้อยลง มันก็จะมีความผ่อนคลายขึ้น เพราะฉะนั้น ลูกคนแรกก็ได้ตามแม่ออกไปแบกหาม ออกไปประชุม หาลูกค้า ไปอยู่ใต้โต๊ะเวลาแม่คุยงาน คนที่สองก็อยู่บ้าน คนที่สามก็อยู่บ้านเถอะ พวกนี้มันเป็นสิ่งที่พ่อแม่ก็ไม่ได้ตระเตรียม ไม่มีใครวางแผน บางทีมันเป็นไลฟ์สไตล์ของวัย กับช่วงเวลาของชีวิต” แม่ส้มอธิบาย

นอกจากพลังอันล้นเหลือ แม่ส้มเพิ่มความสนุกในการเลี้ยงลูกด้วยการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและจิตวิทยาเด็กอย่างจริงจัง ตามนิสัยที่ชอบการเรียนรู้ และศึกษาตามวัยของลูกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลูกโตเป็นวัยรุ่น ทำให้แม่ส้มมีชุดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก และนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการทำ “โฮมสคูล” เป็นรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย

ชะนีมีกล้าม

ครอบครัวโฮมสคูลรุ่นบุกเบิก

เมื่อฟ้าใสอายุประมาณ 9 ขวบ แม่ส้มตัดสินใจพาลูกออกจากการศึกษาในระบบ หลังจากสังเกตว่าวิธีการสอนของครูในโรงเรียน ที่คาดหวังให้เด็กทุกคนคิดและทำเหมือนๆ กัน น่าจะไม่เหมาะกับตัวตนของลูก

“เราคิดว่าลูกเราอาจจะมีวิธีเรียนรู้แตกต่างจากวิธีที่ครูสอน แล้วเขาอาจจะไม่เหมาะกับการเรียนทีละหลายๆ คน แล้วต้องทำเหมือนกัน เพราะว่าดูเขาเครียดเวลาที่เขาสร้างสิ่งใหม่ไม่ได้ มันเหมือนจากเด็กที่สนุก ร่าเริง มีชีวิตชีวาในการคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ เขาเฉื่อย เขาช้า แล้วเขาก็เครียด ก็เลยคุยกับพ่อของลูก ก็เห็นเหมือนกัน ก็เอาลูกออกมาตอน ป.4”

ในมุมมองของแม่ส้ม การจำกัดกรอบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ด้วยการกำหนดให้ทำสิ่งต่างๆ เหมือนกัน และการทำสิ่งที่แตกต่างจากคำสั่งของครูถือว่าผิด อาจส่งผลให้เด็กหยุดคิด หยุดตั้งคำถาม และรอคอยความคิดของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยกลัวว่าถ้าคิดแล้วจะถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ รวมทั้งรู้สึกเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อชีวิตของเด็กไปจนถึงในวัยผู้ใหญ่เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น เด็กจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ภายในที่กว้างใหญ่พอ ให้พร้อมที่จะเสียหน้า พร้อมที่จะถูกตำหนิ และพร้อมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ

คนที่มีความพร้อมที่จะถูกตำหนิ มีความมั่นใจในตัวเอง เชื่อในตัวเอง เขาไม่ต้องมีกลไกปกป้องตัวเอง เขาก็พร้อมพูดความคิดของเขา พร้อมถกเถียง พร้อมรับความคิดคนอื่น และพร้อมที่จะหยิบความคิดดีๆ ของคนอื่น เอามาประยุกต์ผสมกับความคิดดีๆ ของตัวเอง แล้วมันก็ออกมาเป็นงาน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้าเอาลูกออกมา” แม่ส้มกล่าว

ชะนีมีกล้าม

หลังจากที่ตัดสินใจทำโฮมสคูลให้กับลูกทั้งสามคนแล้ว สิ่งแรกที่แม่ส้มต้องทำ คือจัดการเวลาแต่ละวันใหม่ เพราะการทำโฮมสคูล หมายถึงแม่ต้องอยู่กับลูกๆ ตลอดเวลา แม่ส้มเลือกเดินทางไปทำงานน้อยลง และทำงานผ่านแฟกซ์เป็นหลัก ซึ่งแม่ส้มเล่าว่า ในแต่ละวันจะมีกระดาษแฟกซ์ลากยาวจากหน้าบ้านไปถึงหลังบ้านเลยทีเดียว รวมทั้งจัดห้องทำงานใหม่ โดยจัดโต๊ะทำงานพร้อมเครื่องเขียนให้ลูกคนละชุด มีแม่เป็นหัวหน้างาน คอย “แจกจ็อบ” ตามบทเรียนในแต่ละวัน และจัดบทเรียนนอกสถานที่ ตามแต่งานของแม่และความสนใจของลูกๆ จะพาไป

นอกจากนี้ ธรรมชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่แม่ส้มใช้ในการเรียนรู้ของลูก เพราะแม่ส้มเชื่อว่าธรรมชาติเป็นจุดกำเนิดของหลักสูตรและแรงบันดาลใจที่หาง่ายที่สุด

“จริงๆ ธรรมชาติหมายถึงการออกไปนอกบ้าน ไปสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวนอกบ้าน พอเราเห็นว่าเขาเริ่มมีคำถาม สนใจสิ่งนั้นๆ ก็โยงเข้าสู่บทเรียน คือสิ่งแวดล้อมข้างนอกบ้าน เป็นจุดสร้างแรงบันดาลใจ เป็นจุดเริ่มต้นของหลักสูตรดีกว่า เราไม่ได้เอาเรื่องเราอยากรู้อะไรเป็นตัวตั้งซะทีเดียว”

“มีอยู่วันหนึ่ง มดขึ้นจานอาหาร เราก็เอาน้ำราดด้วยความเคยชิน สายเมฆนั่งร้องไห้ เขาเซนสิทีฟ เขาเข้าไปอยู่ในจิตใจของมดน่ะ เขาก็เริ่มสืบดูว่ามดมีกี่ชนิด แล้วก็เริ่มทำอาณาจักรมด Antopia เลี้ยงมดเป็นล่ำเป็นสัน เลี้ยงมดในกล่อง มดแดง มดดำ เขาก็จะรู้ว่ามดดุ มดใจดี มดกัดเจ็บ มดไม่กัด มดน่ารำคาญ มดอยู่ที่สูง มดอยู่ใต้ดิน เรามีหน้าที่ฟัง แล้วก็ถามกระตุ้นว่ามดมีกี่ชนิดล่ะในโลกนี้ เรารู้จักแค่ไม่กี่ชนิด อ่ะ... ไปหาหนังสือ” แม่ส้มยกตัวอย่างการเรียนรู้ของลูกชายคนที่สอง

ชะนีมีกล้าม

นอกจากธรรมชาติแล้ว เครื่องมือสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แม่ส้มใช้ในการโฮมสคูล คือศิลปะ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของแม่ส้มอยู่แล้ว

“การวาดรูปจะเกี่ยวข้องกับการเห็น เพราะการเห็นทำให้รอดไง จึงอยากรู้อยากเห็น เพราะอยากรู้จึงอยากเห็น เด็กเลยชอบออกนอกบ้าน ดูนู่นดูนี่ แล้วพอเขาเห็น เขาก็จะบอก พูดไม่เป็นน่ะ เขาก็จะวาด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กจะจำลองสิ่งที่เขาเห็น โดยการที่เขาเห็นฟอร์ม มันก็คือธาตุทางการมองเห็น”

แม่ส้มอธิบายว่า การวาดภาพของเด็กยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก เพราะเมื่อกระดูกสันหลังของเด็กแข็งแรง จะส่งพลังไปยังข้อต่อใหญ่ 2 จุด คือสะโพกและหัวไหล่ เมื่อเด็กเล็กหัดวาด จะเป็นการเหวี่ยงแขน และเมื่อเด็กค่อยๆ โตขึ้น ต้นแขน ท่อนแขน ข้อมือของเด็กจะแข็งแรงขึ้นตามลำดับ วงที่เด็กวาดก็จะเล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่งนิ้วมือแข็งแรง และจับดินสอเขียนได้ในที่สุด

“การที่เราไม่ให้เด็กเคลื่อนไหว เหมือนเราไม่ออกกำลัง ถ้าตรงนี้ยังไม่แข็งแรง แล้วไปบังคับให้เด็กจับดินสอ มันก็จะทำไม่ได้ เด็กที่อยู่บ้านแล้วไม่ค่อยเคลื่อนไหว มีคนคอยทำให้ มีคนคอยอุ้ม เขาก็จะไม่ค่อยได้พัฒนากล้ามเนื้อบนล่าง นิ้วเขาจะไม่แข็งแรง ไม่ได้ฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็ก พอไปจับดินสอ เขียนออกนอกเส้นก็โดนทำโทษ เขาไม่ได้อยากเขียนออกนอกเส้นหรอก แต่เพราะกล้ามเนื้อเขาทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็กลับไปจุดเริ่มต้น ลืมเส้นประ ลืมสมุดฝึกเขียนไปก่อน กลับไปฝึกแกนกลางของร่างกายให้เด็ก ง่ายนิดเดียว ไปวิ่งเลย ไต่ราว ออกกำลัง กระโดด เล่นโยนก้อนหิน ปาบอล” แม่ส้มกล่าว

ชะนีมีกล้าม

การจากไปของใบคา

เมื่อพูดถึง “ความใบคา” ภาพที่หลายๆ คนคุ้นเคยก็คงหนีไม่พ้นภาพของสาวสวยกล้ามใหญ่สุขภาพดี ที่รักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งแม่ส้มเองก็ยืนยันคุณสมบัติข้อนี้ว่า “ใบคาเป็นเด็กซน” และเป็นคนที่ใช้ร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กมาตั้งแต่เด็ก

“ตอนที่เขาเกิด เราไปซื้อเปลที่เป็นเชือกถักสีขาว แล้วขอบข้างบนเป็นไม้ ข้างล่างเป็นไม้ เขาอยู่ตรงนั้นไม่เกิน 5 – 6 เดือนมั้ง หันไปอีกที เฮ้ย! ใบคาไปเกาะอยู่บนเชือก ยืนอยู่บนขอบไม้น่ะ ยังเดินไม่ได้เลย คือเขาเอานิ้วค่อยๆ ไต่ คือเป็นเด็กไต่เก่ง ถ้าจะหาใบคา ไปหาตามบนแท็งก์น้ำ ตั้งแต่ 4 – 5 ขวบเลยน่ะ ไปหาตามกำแพงบ้าน ไปเดินไต่อยู่บนกำแพงบ้าน หรือไม่ก็อยู่ใต้โต๊ะ เป็นความชะนีมีกล้ามชัดเจน ซุกซน ชอบไต่ ชอบเล่น” แม่ส้มพูดพร้อมรอยยิ้ม

แม่ส้มเล่าว่า ใบคาเป็นคนที่ “กัดไม่ปล่อย” ตั้งแต่เด็กๆ เป็นคนไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ มองปัญหาที่เข้ามาเป็นความท้าทาย และพร้อมเผชิญหน้ากับความกลัวอยู่เสมอ ซึ่งแม่ส้มก็ยอมรับว่าใบคาและพี่ชายทั้งสองเป็นคนที่เก่งจริงๆ

“แม่ส้มมองว่าความเก่งมันคือความสามารถในการลุก ล้ม ลุก ล้ม มันคือความทนทานต่อความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วเราเห็นคุณภาพนี้ในพวกเขาตั้งแต่เขาเด็กๆ คือเขาไม่ย่อท้อ เขาไม่ล้มเลิก แล้วพอเขาทำอะไรได้อย่างหนึ่ง พอทำอีกอย่าง เขาจะต้องล้มเหลว ถ้าเขาไม่ล้มเหลว เขาจะพัฒนาต่อไม่ได้ อันนี้มันเป็นเส้นโค้งที่ชัดเจน เหมือนมันเป็นแรงวิ่ง สะท้อนอีกครั้งหนึ่งมันจะสูงขึ้น มันก็ล้ม มันก็ลงเยอะขึ้น อย่างนี้คือชีวิต” แม่ส้มกล่าว

ชะนีมีกล้าม

หลังจากประสบความสำเร็จในเรื่องงานและธุรกิจต่างๆ ใบคาในวัย 27 ปี แต่งงานกับดิลเลิน แคสเซล และตัดสินใจย้ายไปเริ่มต้นชีวิตครอบครัวใหม่ในมอนแทนา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสามี ทว่าหลังจากนั้นไม่นานนัก ใบคาและสามีประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พร้อมกับลูกน้อยในท้อง นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของแม่ส้มและพี่ชายทั้งสองของใบคา

แม่ส้มระบุว่า เมื่อมีการสูญเสีย คนเราย่อมรู้สึกช็อก เสียใจ ตามกระบวนการของความเศร้าตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ส้มเรียนรู้มาตลอด และได้นำมาใช้จริงจากการสูญเสียลูกสาวในครั้งนี้

เรากล้าพูดคำว่าตาย คือลูกตายจากอุบัติเหตุ แล้วเขาตายสองคนพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน และใช้เวลาสั้นมาก เพราะเป็นรถไฟ คือมันเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะว่ามันเป็นหิมะ มันมองไม่เห็นเส้น แล้วก็ไม่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น การจากไปของเขา พูดง่ายๆ ก็คือเราก็รู้ว่าเขาไม่ได้เจ็บนาน แล้วก็ไม่ได้ไปแบบโดดเดี่ยว แล้วเขาก็ไม่ได้มีภาระอะไรข้างหลังมาก กำลังจะเริ่มสร้างบ้านใหม่ ไปใช้ชีวิต แต่ก็ไม่ทันได้เริ่ม ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ไปเริ่มซีซั่นใหม่ในอีกมิติหนึ่ง เราก็มองในมุมที่ว่าถ้ามันเป็นพล็อต ก็จบฉาก” แม่ส้มกล่าว

แม่ส้มกับใบคาและดิลเลิน แคสเซิล สามีของใบคาชะนีมีกล้ามแม่ส้มกับใบคาและดิลเลิน แคสเซิล สามีของใบคา

แม่ส้มเล่าว่า หลังจากการเสียชีวิตของลูกสาว ก็มีหลายคนเล่าให้แม่ส้มฟังว่า ทั้งใบคาและดิลเลินได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ มากมาย แม่ส้มจึงคิดว่า การจากไปของทั้งคู่อาจจะหมายถึงทั้งคู่ได้เสร็จสิ้นภารกิจในโลกนี้แล้ว แต่คนที่อยู่กับความรู้สึกคือแม่ส้ม ดังนั้น แม่ส้มจึงทำงานกับความเศร้าของตัวเอง โดยการยอมรับความเศร้านั้น ไม่เก็บกดความรู้สึกหรือหลีกเลี่ยงความรู้สึกเศร้า รวมทั้งแยกแยะข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และสิ่งที่ยังมีอยู่กับสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว

วิธีการก็คือค่อยๆ ยอมรับและเผชิญกับมัน เพราะฉะนั้น ให้พูดสิ่งที่ยาก เช่น ลูกไม่อยู่แล้ว ลูกจากไป เราพูดคำว่าตาย ตอนแรกพูดยากมากเลยนะ แต่พอพูดไปมันก็ช่วยได้ ก็คือทำให้เรายอมรับความจริง ความตายไม่ใช่คำที่โหด มันไม่ได้โหดร้าย แล้วเราลองเหมือนมาแทนที่กัน 27 ปีที่เขาอยู่กับเราน่ะ มันเยอะมากเลยนะ คือมันเต็มที่มากๆ น่ะ เขาใช้ชีวิตเต็มที่มากน่ะ แล้วเขาให้เราเต็มที่มาก เราให้เขาเต็มที่มาก ก็น่าจะพอใจไหม ฉันก็เลือกที่จะขอบคุณ ฉันไม่เลือกก่นด่า ไม่เลือกต่อว่าชะตาชีวิต คือขอบคุณที่เขาวิเศษมาก และเราก็วิเศษมากที่ได้สิ่งนี้ ก็ทำให้เรามีพลัง”

“ไม่รู้แหละใบคาจะฟังอยู่ที่ไหนนะ มันเป็นมนุษย์สุดยอดน่ะ ทั้งคู่เลยนะ ดิลเลินด้วย เป็นคนพิเศษน่ะ” แม่ส้มกล่าว

การเติบโตครั้งใหม่ของแม่

หลังจากที่ใบคาจากไปแล้ว ด้วยความคิดถึงลูกสาว แม่ส้มได้เข้าไปดูเพจชะนีมีกล้าม ที่ใบคาเคยดูแลอยู่ และพบว่ามีแฟนคลับเข้ามาคอมเมนต์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของใบคา ทำให้แม่ส้มรู้ว่า ลูกสาวจอมซนของแม่มีคนรักอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้แม่ส้มเริ่มเขียนสเตตัสพูดคุยกับลูกเพจ จนมีลูกเพจเข้ามาเล่าเรื่องความสูญเสียของตัวเอง และให้กำลังใจแม่ส้ม และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลเพจต่อจากใบคา และเยียวยาจิตใจผ่านการเขียน

“เราไม่ได้ตั้งใจทำคอนเทนต์อะไร เราต้องการเขียนเสียงของเรา เหมือนเราคุยกับตัวเองให้ลูกเพจได้ยิน พอเขาได้ยินแล้วเขาฟีดแบ็กมา เขาคอมเมนต์มา ให้กำลังใจเรามา เราก็ขอบคุณเขา ยิ่งเราขอบคุณคนเยอะเท่าไร เราก็เหมือนไม่โดดเดี่ยวน่ะ ก็เลยทำเรื่อยมา 2 - 3 เดือน ก็ช่วยได้ค่ะ ช่วยให้ฟื้นตัวได้

แม่ส้มเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อแม่ส้มอายุ 50 ปี และกำลังเผชิญกับช่วงผันผวนของชีวิต ใบคาแนะนำให้แม่ออกเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งแม่ส้มก็ทดลองเดินทางคนเดียวเป็นเวลา 2 ปี และค้นพบว่า การเดินทางไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของแม่ส้มแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อใบคาจากไป ก็เป็นอีกครั้งที่แม่ส้มต้องเติบโต แต่คราวนี้ แม่ส้มเลือกที่จะกลับมาทำกิจกรรมที่เป็นการทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่การทำสบู่โฮมเมด การเขียนหนังสือ และกลับไปทำงานเป็นกระบวนกร

“ใบคาพูดไว้ว่า แม่เป็นคนมีของ ถ้าแม่ไม่ส่งต่อ มันก็จะหายไป แล้วมันก็จะตายไปพร้อมแม่นะ พอใบคาไม่อยู่แล้ว เราก็คิดว่าลูกพูดจริง เราก็มาเช็คว่าเรามีอะไรที่จะส่งต่อที่เป็นประโยชน์ได้ นอกจากเพจชะนีมีกล้าม ที่ทำเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ใบคาแล้ว แม่ส้มก็เลยกลับมารื้อฟื้นเพจของตัวเอง”

แม่ส้มกลับมาเขียนคอนเทนต์ในเพจ “สถาบันพลังแม่” ที่เดิมใช้ชื่อว่า She Within มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพและความคิดของผู้หญิง แต่เปลี่ยนมาสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับพลังของความเป็นแม่ ที่จะปกป้องเด็กทุกคนในสังคม และสื่อสารไปยังคนทุกคน โดยไม่จำกัดเพศหรือจำกัดเฉพาะคนที่เป็นแม่เท่านั้น

“แล้วก็แม่ส้มอยากทำงานกับแม่จริงๆ โดยเฉพาะแม่มือใหม่ แม่อายุน้อยที่ไม่มีประสบการณ์ เพราะถ้าเขามีความรู้ชุดหนึ่งที่แม่ส้มมี เขาจะสร้างคนในสังคมที่ไม่ต้องเก่งแต่มั่นคงทางจิตใจได้ ความเก่งไปเรียนเอาได้ แต่เราอยากได้คนที่มีความมั่นคงข้างในใจ และแม่คิดว่าถ้าส่งต่อตรงนี้ไปให้แม่มือใหม่ แม่อายุน้อย แม่ที่ยังไม่มีความรู้ หรือไม่มั่นคงในตัวเอง ให้มั่นคงในตัวเอง เขาจะได้สร้างคนในสังคมที่มีความมั่นคงขึ้น อันนี้คือความใฝ่ฝัน ณ ตอนนี้ที่อยากทำ” แม่ส้มทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัลบั้มภาพ 53 ภาพ

อัลบั้มภาพ 53 ภาพ ของ "แม่ส้ม - สมพร" กับซีซั่นใหม่ของชีวิต หลังสูญเสียลูกสาว "ใบคา ชะนีมีกล้าม"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook