สำนักพิมพ์ - ร้านหนังสือนิทาน จากหัวใจคุณแม่ยุคใหม่
Highlight
- สุภลักษณ์ อันตนนา เจ้าของสำนักพิมพ์ SandClock Books และพนิตชนก ดำเนินธรรม เจ้าของร้านหนังสือ Booksbunny เป็นคุณแม่ที่ผันตัวมาจับธุรกิจหนังสือนิทาน
- เจ้าของธุรกิจหนังสือนิทานทั้งสองมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างแรงบันดาลใจและพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ผ่านหนังสือนิทาน
- นิทานมีประโยชน์ในการสร้างประสบการณ์ให้เด็กทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งสร้างเวลาคุณภาพให้กับครอบครัว
- ปัญหาใหญ่ของวงการนิทานไทย คือการขาดแคลนผู้สร้างสรรค์ รวมทั้งปัจจัยเรื่องค่าครองชีพก็ส่งผลให้หลายครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงหนังสือนิทานได้ ซึ่งรัฐจำเป็นจะต้องช่วยเหลือและส่งเสริมจุดนี้
สำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ “หนังสือนิทาน” เริ่มมีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงลูกทุกวันนี้ ด้วยความต้องการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูก และแนวคิดเรื่อง “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” ที่สามารถสร้างได้จากการใช้เวลาอ่านนิทานด้วยกันในครอบครัว ทำให้หนังสือนิทานได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นไอเท็มที่ต้องมีอยู่ทุกบ้าน นอกจากนี้ เสน่ห์ของหนังสือนิทาน ยังทำให้คุณแม่ 2 คน ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับหนังสือนิทาน และใช้ความอินของตัวเอง ถ่ายทอดประสบการณ์ไปยังครอบครัวอื่น ด้วยหวังว่า นิทานที่เป็นเพื่อนของพวกเธอ จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพ่อแม่และเด็กๆ ต่อไป
สำนักพิมพ์ SandClock Books
ในบรรดาสำนักพิมพ์ที่เน้นตีพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กและครอบครัว เชื่อว่า สำนักพิมพ์ SandClock Books จะต้องติดท็อปลิสต์สำนักพิมพ์ในดวงใจของพ่อแม่อย่างแน่นอน ด้วยหนังสือคู่มือเลี้ยงลูกคุณภาพดี และหนังสือนิทานแปลจากภาษาต่างประเทศที่สวยงามดึงดูดใจเด็กๆ ซึ่งสุภลักษณ์ อันตนนา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ได้เล่าให้ Sanook ฟังว่า จุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์แห่งนี้ เริ่มจากความรักการอ่านนิทานและวรรณกรรมเยาวชนของเธอเอง บวกกับการเติบโตในสายการผลิตหนังสือ ตั้งแต่การช่วยพ่อแม่ทำธุรกิจเข้าเล่มหนังสือ ที่เธอได้มีโอกาสทำความรู้จักวรรณกรรมเยาวชนมากมาย ตามด้วยการทำงานในฝ่ายขายและการตลาดในโรงพิมพ์ของลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งทำให้เธอมีความรู้เกี่ยวกับการผลิตหนังสือ
“พอเรามีลูก ก็คิดว่าอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากทำสิ่งที่เราชอบ ก็คือหนังสือ ก็ค่อยๆ ลองมาทีละเล่มสองเล่ม เริ่มจากแนวหนังสือเลี้ยงลูกก่อน แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่ลูกค้าเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ ก็ถามว่ามีหนังสือสำหรับเด็กไหม ก็เลยลองติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ดู ก็ได้เริ่มตั้งแต่เล่มแรก คือ “รถไฟแปรงสีฟัน” แล้วก็จะมี “แม่จ๋าอย่าโมโห” ก็มีมาเรื่อยๆ ตามวัยของลูกเรา”
สุภลักษณ์เล่าว่า ส่วนใหญ่สำนักพิมพ์ SandClock Books จะคัดเลือกนิทานมาแปลและพิมพ์จำหน่ายจากเล่มที่อ่านแล้วชอบ รวมทั้งดูตลาดหนังสือนิทานทั่วโลกว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งมักจะเป็นนิทานจากฝั่งยุโรปและนิทานภาษาญี่ปุ่น ด้วยความเชี่ยวชาญของตัวเอง
“เราเรียนภาษาญี่ปุ่นมาตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็คิดว่า ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ในปัจจุบัน คนที่รู้ภาษาอังกฤษก็มีเยอะมากๆ แล้ว บางทีการได้รับอรรถรสโดยตรงจากภาษาต้นทางก็อาจจะสนุกกว่า เราก็เลือกในสิ่งที่เราถนัดแล้วก็ชอบ อาจจะเป็นเพราะมันมีความเป็นเอเชียบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเรา เราก็เลยอ่านแล้วจะอินกับญี่ปุ่นมากกว่าฝั่งยุโรป”
นอกจากนี้ จุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังสือของสำนักพิมพ์ SandClock Books คือภาพประกอบที่สวยงามและรูปเล่มที่แข็งแรงทนทาน ซึ่งทางสำนักพิมพ์ก็พยายามรักษามาตรฐานตามต้นฉบับจากต่างประเทศ และให้ความใส่ใจต่อผู้อ่าน ก็คือเด็กๆ นั่นเอง
“เราโตมากับหนังสือ ได้เห็นหนังสือสวยๆ เยอะมาก หนังสือที่ใส่ใจในรายละเอียด เราก็รู้สึกว่า ไหนๆ เราจะทำสินค้าขึ้นมาสักหนึ่งชิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็เต็มที่กับมันไปเลย ออกแบบให้เป็นรูปแบบที่เด็กๆ อยากอ่านจริงๆ เปิดมาปุ๊บก็เริ่มเรื่องได้เลย โดยที่เราไม่ต้องเกริ่นอะไรให้เขามากว่าเล่มนี้มันดียังไง เพราะเราก็ไม่ค่อยเชื่อในการไปบอกอะไรเขามากมาย เราอยากให้เด็กได้เก็บเกี่ยวอรรถรสได้ด้วยตัวเอง”
และด้วยความที่เติบโตในสายการผลิตหนังสือ สุภลักษณ์ได้เห็นความหลากหลายในการออกแบบและจัดทำรูปเล่มหนังสือ ซึ่งเธอมองว่าเป็น “ประตูด่านแรก” ที่เด็กจะสามารถใช้งานหนังสือได้อย่างปลอดภัยและเต็มที่
“หนังสือเด็กทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นปกแข็ง เพราะมันค่อนข้างทนทานกับการใช้งาน เพราะฉะนั้น เราต้องให้พื้นที่ในการเปิดเต็มที่เลย เปิดกว้างแค่ไหนก็ได้ เราอาจจะเปิดแรงนิดหนึ่ง แต่ว่าก็ไม่ขาด แต่ถึงจะขาดยังไงเราก็ให้อภัยเขา เพราะว่ามันก็เป็นหนังสือสำหรับเด็ก แล้วเวลาเก็บ เห็นสันหนังสือ ลูกจะหยิบมันก็เห็นชัดกว่า หาง่ายกว่าหนังสือที่เป็นเล่มบางๆ ปกอ่อน”
“ความฝันก็คืออยากจะให้เด็กไทยได้อินกับลายเส้น ได้เห็นสไตล์การทำนิทาน เพื่อที่วันหนึ่ง เขาโตขึ้น อาจจะอยากเป็นนักวาดภาพประกอบ ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นมันก็อาจจะยากที่จะปุบปับให้เรามีนิทานดีๆ เต็มไปหมด แค่มองว่าเราอาจจะเป็นแค่บันไดขั้นแรกให้มีนักเขียนไทยเพิ่มมากขึ้น” สุภลักษณ์กล่าวถึงความฝันลึกๆ ของตัวเองในฐานะคนทำหนังสือ
ร้านหนังสือ Booksbunny ตราเด็กส่งกระต่าย
ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยชุมชนของคนกลุ่มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย กลุ่มพ่อแม่เองก็สร้างเครือข่ายชุมชนของตัวเอง ในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์การเลี้ยงลูก ซึ่งพนิตชนก ดำเนินธรรม ก็เป็นหนึ่งใน “อินฟลูเอนเซอร์” ด้านการเลี้ยงลูก ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะแม่ลูกหนึ่งผ่านพอดแคสต์ The Rookie Mom และแฟนเพจ Nidnok ซึ่งนิสัยรักการอ่านบวกกับความสามารถในการเขียนรีวิว และ “ป้ายยา” ให้แม่ๆ หลายคนซื้อหนังสือตาม ก็ทำให้พนิตชนกก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของร้านหนังสือ ที่มีชื่อน่ารักว่า “Booksbunny ตราเด็กส่งกระต่าย” โดยเริ่มขายออนไลน์ตั้งแต่ปลายปี 2020 ตรงกับช่วงที่มีการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนจะมาพบจุดเปลี่ยนและตัดสินใจเปิดหน้าร้านใน 1 ปีต่อมา
“เมื่อปลายปีที่แล้ว เราร่วมกันกับที่โรงแรม Cream Bangkok จัดงาน Pop-up Shop ขายหนังสือ ปรากฏว่าเรามาขาย 4 วัน เรามีความสุขมากเลย มีความสุขที่ได้เจอคนมายืนเลือก ได้ฟังพ่อแม่คุยกันระหว่างที่เขาเลือกว่าทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ เห็นเด็กๆ ที่เดินมา หนูจะเอาเรื่องนั้น หนูจะเอาเรื่องนี้ มันเป็นบรรยากาศของมนุษย์น่ะ มนุษย์เจอมนุษย์ จากการที่เราขายออนไลน์มาตลอด 1 ปี เราไปเจอ 4 วันนั้น เราแพ้เลยนะ ก็คิดมาตลอดเลยว่าเราอยากทำหน้าร้าน ก็เลยได้พื้นที่ที่เป็นชายคาเดียวกันกับโรงแรม Cream เลยทำให้เกิดเป็นร้านนี้ขึ้นมา”
หนังสือนิทานส่วนใหญ่ในร้าน Booksbunny ตราเด็กส่งกระต่าย จะเป็นนิทานภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น รวมทั้งนิทานที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ ซึ่งพนิตชนกเล่าว่า เธอมักจะเลือกหนังสือนิทานที่ตัวเองชอบเป็นหลัก
“เรารู้สึกว่าหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กจะต้องสวย แต่ว่าสวยในที่นี้มันคือความจริงจังในการสร้างงาน เพราะว่าหนังสือเด็กมันสื่อสารผ่านภาพ เด็กๆ ดูภาพ ดังนั้น ถ้ายิ่งภาพมีรายละเอียด มีวิธีสร้างสรรค์ที่มันหลากหลาย เล่มนี้เป็นสีไม้ เล่มนี้เป็นสีน้ำ เล่มนี้เป็นภาพจากกราฟิกคอมพิวเตอร์ มันเหมือนเราไปแกลเลอรีหลายๆ ที่ดูงานของศิลปินหลายๆ คน สวยที่สองมันคือสวยในแง่คำ ในแง่เนื้อหา และสวยสุดท้ายคือกระบวนการบรรณาธิการ กระบวนการที่เขาทำออกมาเป็นรูปเล่ม” พนิตชนกอธิบาย
นอกเหนือจากการขายหนังสือ ร้าน Booksbunny ตราเด็กส่งกระต่าย ยังเป็นพื้นที่สบายๆ ให้เด็กๆ และครอบครัวสามารถใช้เวลาอ่านหนังสือร่วมกันด้วย จากประสบการณ์ส่วนตัวของพนิตชนก ที่เป็นคนรักร้านหนังสือและห้องสมุดมาตั้งแต่เด็กๆ
“คุณแม่เราทำงานในห้องสมุด ห้องสมุดของแม่ก็มีค่าเท่ากับร้านหนังสือของเรา พื้นที่ปลอดภัยของเราคือการเข้าไปนั่งในห้องสมุดของแม่ แล้วก็จะหยิบหนังสืออะไรมาอ่านก็ได้ แล้วพอมาเห็นเด็กๆ ที่มาที่นี่ เขามาแล้วเขามีปฏิสัมพันธ์กับหนังสือ เราคิดว่าเราคิดถูกมากๆ เลย”
“เราอยากให้เราเป็นความทรงจำในวัยเด็กของเขา ว่าตอนเด็กๆ หนูชอบไปอยู่ที่ร้านหนังสือมาก เพราะว่าหนูได้มาอ่านนิทานด้วย แล้วก็คุณแม่อนุญาตให้ซื้อนิทาน 1 เล่ม กลับบ้าน เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นคนนั้น เป็นหนึ่งในความทรงจำของเด็ก เป็นที่ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กที่เขาต้องการสิ่งนี้จริงๆ” พนิตชนกกล่าว
นิทานคือเพื่อนสุดมหัศจรรย์
ในขณะที่หลายครอบครัวพยายามใช้หนังสือนิทานเป็น “เครื่องมือ” ในการสั่งสอนหรือปลูกฝังทัศนคติต่างๆ ให้กับลูกหลาน แต่สำหรับสุภลักษณ์ นิทานคือ “เพื่อน” ที่อยู่กับเธอในวัยเด็ก และเธอก็อยากจะส่งต่อเพื่อนเหล่านี้ให้กับลูกของตัวเองและเด็กคนอื่นๆ
“ความที่เป็นแม่กับลูก บางครั้งมันก็อาจจะมีช่องว่างบางอย่างที่ต่อให้เราพูดอะไรออกไป เขาก็คงรู้สึกว่า เธอเป็นแม่ ฉันไม่อยากจะฟังเธอ เราก็มองว่าบางครั้ง ให้นิทานเป็นเพื่อนเขา ถ้าเขาเจอใครที่บูลลี่มา หรือว่ารู้สึกไม่ไหวแล้ว แม่โมโหหนูเหลือเกิน หรือหนูรู้สึกโกรธคนนั้นคนนี้มากเหลือเกิน เขาสามารถหันไปหานิทานได้”
ด้านพนิตชนกก็มองว่า นิทานจะช่วยเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ให้เด็กๆ และช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจมนุษย์ผ่านตัวละครที่หลากหลาย
“เราว่าหนังสือมันสำคัญในแง่ที่มันเปิดโลกให้เราเข้าใจคนมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่ดีๆ นะ ที่วาดมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ แววตา ท่าทางของตัวละครมันสื่อสาร และเด็กๆ เขารับได้ เขาเกิดความเห็นอกเห็นใจในตัวละคร เราคิดว่านี่คือสิ่งที่มันให้ประสบการณ์ลูก โดยที่เขาไม่ต้องไปเผชิญเองในชีวิตจริง” พนิตชนกกล่าว
ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการอ่านนิทาน ผู้ใหญ่ในครอบครัวก็เช่นกัน ซึ่งพนิตชนกอธิบายว่า
“มีหนังสือนิทานหลายเล่มมากๆ ที่เวลาเรารีวิว เราจะเขียนไปเลยว่า จริงๆ อันนี้เป็นของพ่อแม่ คือเด็กอ่านได้แหละ แต่หนังสือมันพูดกับพ่อแม่ เช่น มีชุดหนึ่งชื่อ “ปุ๊กจัง” เนื้อเรื่องไม่มีอะไรเลย เป็นเด็กคนหนึ่งได้กางเกงในมาใหม่แล้วฉี่ราด ฉี่ราดแล้วคุณแม่เปลี่ยนให้ ฉี่อีก เปลี่ยนจนกางเกงในหมดโหลแล้ว ก็ซักแล้วก็วนมาใส่ใหม่ มันบอกคุณแม่เลยว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ลูกจะเลิกผ้าอ้อมนะคุณแม่ สิ่งที่คุณแม่จะทำได้ก็คือ ยืนอยู่ข้างๆ หน้าที่ของแม่คือ ซักกางเกงในให้ นิทานพวกนี้เราคิดว่าเขากำลังพูดคุยกับคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ให้ให้โอกาสลูก มันคือช่วงเปลี่ยนผ่าน เวลาลูกเดินและล้มก็ไม่เป็นไร ก็นั่งอยู่ข้างๆ เชียร์ให้เขาลุกขึ้นมา”
“เรารู้สึกว่าพ่อแม่ก็ได้ความนิ่ง ความไม่เข้าไปตัดสินลูก ณ ช่วงเวลาที่เรานั่งด้วยกัน อย่างก่อนนอน เวลาอ่านนิทานให้ลูก สมมติเราวางโทรศัพท์แล้ว ช่วงเวลาของเรากับลูกก็คือมีตรงนั้นจริงๆ เป็นแม่ที่มีอยู่จริงในช่วงที่อ่านหนังสือนิทานกับเขา สิ่งนี้เราว่ามันสำคัญมากกว่าการสั่งสอนอะไรค่ะ มันเป็นเรื่องของสายสัมพันธ์จริงๆ พอเรามีสายสัมพันธ์แล้วเหมือนเขาได้ความอุ่นใจ เมื่อเขาได้อยู่กับพ่อแม่ แค่นี้จริงๆ ก็พอนะ ในระยะยาว” สุภลักษณ์กล่าวเสริม
วงการนิทานไทยเติบโตได้อีกไหม
นอกจากรายได้และการเติมเต็มด้านจิตใจแล้ว สิ่งที่สุภลักษณ์ได้รับจากการทำธุรกิจหนังสือนิทาน คือความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับวงการนิทานในต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนไปถึงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังมีพื้นที่อีกมากที่ควรจะได้รับการพัฒนาต่อ
“เราได้เก็บรายละเอียดของนิทานหรือว่าวงการนิทานในต่างประเทศมากขึ้น ที่ญี่ปุ่น ห้องสมุดนิทาน ห้องสมุดเด็ก หรือคาเฟ่นิทาน เขามีเยอะมาก ที่มาพร้อมกับสนามเด็กเล่น เราก็คิดว่านี่แหละที่เราอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เราคิดว่าตอนนี้นิทานมันเยอะมากๆ พอที่ถ้าภาครัฐจะตั้งห้องสมุดขึ้นมามากขึ้น เราว่าก็อยากจะให้ทำเพื่อเด็กมากกว่านี้ ห้องสมุดก็ไม่ควรจะปิดวันเสาร์อาทิตย์ และควรจะให้เด็กๆ ยืมหนังสือกลับไปบ้านได้นานๆ” สุภลักษณ์กล่าว
ด้านพนิตชนกก็มองว่า ทุกวันนี้ หนังสือในประเทศไทยมีราคาอยู่ที่ประมาณเล่มละ 200 – 300 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง ทว่าเมื่อพิจารณาราคาหนังสือในประเทศที่วงการหนังสือภาพสำหรับเด็กแข็งแรง อย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่น ก็พบว่า ราคาหนังสือในประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากหนังสือไทย แต่สิ่งที่แตกต่าง คือค่าครองชีพของประชาชน
“หนังสือญี่ปุ่น ปกแข็ง ราคาถูกที่สุด 900 เยน บวกภาษีก็ประมาณ 1,000 เยน หารมาก็ประมาณ 300 บาทไทย หนังสืออังกฤษ เขาจะมีราคาอยู่ประมาณ 3 ราคาเท่านั้นค่ะ เริ่มต้นที่ 6.99 คูณมาแล้วก็จะประมาณ 320 – 350 บาท ราคาของหนังสือในประเทศที่วงการหนังสือภาพสำหรับเด็กมันแข็งแรง เขาก็ขายราคานี้ แต่สิ่งที่มันแตกต่างคือ รายได้และค่าครองชีพของเรามันไม่เท่าเขา” พนิตชนกอธิบาย
นอกจากนี้ พนิตชนกมองว่า รัฐควรมีส่วนช่วยในการส่งเสริมและพัฒนาวงการหนังสือนิทานของไทย ซึ่งประกอบด้วยสำนักพิมพ์ ผู้สร้างผลงาน ร้านหนังสือ ห้องสมุด และครอบครัว
“ตอนนี้สิ่งที่เราขาดคือผู้สร้าง เรามีหนังสือเยอะมาก เรามีสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเด็กเยอะมาก แต่มันเป็นงานแปลทั้งหมดเลยนะ เรามีศิลปินที่ผลิตงานสำหรับเด็กน้อยมาก พอมันขาดแคลนปุ๊บ วงการนี้มันก็ไม่แข็งแรง แต่ทีนี้มันยังไม่มีใครได้รับการสนับสนุนอะไรทั้งนั้น ทุกคนต่างคนก็ต้องสู้น่ะ ต้องสู้กันเอง เพราะทุกคนรู้ว่าหนังสือมันสำคัญ แต่เราว่าเราทำกันเองทั้งหมดไม่ได้ ต้องมีคนสนับสนุน ซึ่งก็คือทางรัฐ” พนิตชนกกล่าวทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 26 ภาพ