6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว

6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว

6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันนี้ “หนังสือนิทาน” กลายเป็นไอเท็มที่พ่อแม่หลายๆ ครอบครัวให้ความสำคัญอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าเรื่องเล่าและแง่คิดต่างๆ จากนิทาน จะช่วยให้ความรู้ สร้างจินตนาการ รวมถึงปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกๆ ของตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ถามหาหนังสือนิทาน เพื่อนำไปใช้ในการสื่อสารกับลูกในประเด็นต่างๆ อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของนิทานไม่ใช่แค่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือสอนเด็กเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของสมาชิกในครอบครัวทุกวัยด้วย และนี่คือ 6 หนังสือนิทานเพื่อการเติบโตของทุกคนในครอบครัว จากการแนะนำของ สุภลักษณ์ อันตนนา เจ้าของสำนักพิมพ์ SandClock Books ผู้จัดพิมพ์หนังสือเลี้ยงลูกและหนังสือนิทานแปลจากต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นคุณแม่ลูกสอง ที่เติบโตมาโดยมีหนังสือเป็นเพื่อน

เช้าวันปิกนิกของอายาโกะ (โยริโกะ ษุษุอิ, อาคิโกะ ฮายาชิ)

หนังสือนิทานเล่มแรกที่สุภลักษณ์แนะนำ คือนิทานสำหรับเด็กเล็ก ที่สื่อสารไปถึงพ่อแม่ด้วย นั่นคือ “เช้าวันปิกนิกของอายาโกะ” ซึ่งถือว่าเป็นนิทานคลาสสิกและขายดีตลอดกาลของญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่กำลังเตรียมตัวออกไปปิกนิกด้วยกัน ทว่าเด็กหญิงอายาโกะ วัย 3 – 4 ขวบ ก็พยายามเข้าไปช่วยพ่อแม่เตรียมของ และทำให้สถานการณ์วุ่นวายยิ่งกว่าเดิม

“เราอยากแนะนำให้เด็กเล็กๆ ได้อ่านกับคุณพ่อคุณแม่ เพราะว่ามันพูดถึงธรรมชาติของเขาที่อยากจะช่วยเหลือ แต่บางครั้งอาจจะเจอความเลอะเทอะ เละเทะ ด้วยความเป็นเด็ก แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ยังใจดี เอ็นดูลูก เรารู้สึกว่าตรงนี้นี่แหละ ที่พอเราได้อ่านด้วยกันกับลูก เราอาจจะได้ดึงตัวเองกลับมาว่า เออ... ฉันเคยเผลอดุลูกไปไหม ในช่วงเวลาที่เขาอยากจะตั้งใจช่วยเราทำอะไรสักอย่างหนึ่ง”

รถไฟวนรอบภูเขา รถไฟวนรอบทะเล (มาเสะ นาโอกาตะ)

หนังสือนิทานภาพสวย ฝีมือของมาเสะ นาโอกาตะ นักเขียนคนโปรดของสุภลักษณ์ เล่มนี้มีความโดดเด่นที่เนื้อเรื่องที่ใช้ประโยคซ้ำๆ ตามเส้นทางการเดินรถไฟที่เป็นวงกลม ภาพประกอบ 4 สี เต็มหน้ากระดาษ ลงรายละเอียดทิวทัศน์ของญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างๆ ทั้งเขตเมือง เขตชนบท ชายทะเล และภูเขา พร้อมลายเส้นที่สวยงาม สบายตา

“เราคิดว่ารายละเอียดพวกนี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ ชอบดูเวลาเขาอ่านหนังสือนิทาน บางทีเขาจะเห็นผู้ชายคนนี้ทำอะไรอยู่ เขานั่งอ่านหนังสืออยู่เหรอ มันทำให้เกิดบทสนทนาได้มากมายกับคุณพ่อคุณแม่ อีกด้านหนึ่งที่เราชอบหนังสือของท่านนี้คือ มันทำให้เราได้เห็นบ้านเมืองของญี่ปุ่น การวางผังเมือง การมีสถานที่ที่น่าท่องเที่ยว เรารู้สึกว่ามันอาจจะเอามาประยุกต์กับเด็กๆ ได้ในวันหนึ่ง เขาก็ยังต้องการสังคม ต้องการบ้านเมืองที่มีระเบียบเรียบร้อย มีฟุตบาทใหญ่ๆ เราคิดว่ามันเป็นความประทับใจ แล้วก็เขาได้เรียนรู้อะไรจากในเล่มนี้เยอะเหมือนกัน” สุภลักษณ์กล่าว

คิดถึงนะครับแม่ (รีเบกกา คอบบ์)

“คิดถึงนะครับแม่” โดยรีเบกกา คอบบ์ เป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์ SandClock Books ที่เริ่มแตะประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก อย่างเรื่องความตาย โดยเป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่สูญเสียคุณแม่ และค่อยๆ จัดการความรู้สึกของตัวเอง และมีจุดเด่นที่ภาพสีเทียนที่เหมือนเป็นฝีมือการวาดภาพของเด็ก สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเด็กชายในเรื่อง

“เล่มนี้คำพูดค่อนข้างน้อย แต่โดนทุกหน้า มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเกิดสิ่งนี้กับครอบครัวเรา กับคนที่เรารัก เราจะรับมือกับมันอย่างไร เล่มนี้หลายๆ ครั้งมีคุณพ่อคุณแม่ทักมาว่ามันทำให้เขารับมือกับความตายของคุณพ่อคุณแม่ คือปู่ย่าตายายได้ด้วย เพราะว่ามันทำให้เราระลึกว่าเขาไปไหน และเราจะนึกถึงเขาในมุมที่ดีได้อย่างไร มันก็เป็นการจัดการด้านอารมณ์”

“เราสามารถใช้หนังสือเล่มนี้ในการสื่อสารกับเด็กได้ว่ามันโอเคนะที่จะรู้สึกเศร้า โอเคนะที่จะรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรมกับเขา เราคิดว่าเป็นเล่มที่ถ้ามีประจำบ้านไว้ก็จะได้อะไรเยอะมากเลย” สุภลักษณ์ระบุ

พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด (เอมิลี ฮาเวิร์ท-บูท)

“พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด” นิทานจากอังกฤษ ว่าด้วยเรื่องของพระราชาที่กลัวความมืด และพยายามทุกวิถีทางให้ความมืดหายไปจากเมืองของตัวเอง จนนำไปสู่ความวุ่นวาย นิทานเล่มนี้มีจุดเด่นที่เนื้อหาที่จริงจังมากขึ้น ลายเส้นยุ่งเหยิงอันเป็นเอกลักษณ์ และการใช้สีเพียง 3 สี ได้แก่ สีขาว สีเหลือง และสีดำ ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจเด็กเล็ก ที่ชอบภาพที่มีสีสันสดใส แต่กลับชนะใจผู้อ่านวัยรุ่น

“เล่มนี้เป็นหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ ที่ผู้อ่านวัยรุ่นชอบมาก ด้วยเนื้อหาที่มีความเป็นสากล ที่เด็กโตและผู้ใหญ่น่าจะเข้าใจได้ดี” สุภลักษณ์เล่า

นางฟ้าของคุณปู่ (ยุททา เบาเออร์)

นิทานจากเยอรมนี ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของคุณปู่ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา และผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างโชกโชน และมีนางฟ้าคอยคุ้มครองโดยที่คุณปู่ไม่รู้ตัว พร้อมภาพประกอบเป็นภาพวาดลายเส้นที่เรียบง่าย ทว่ามีความสนุกสนาน ตามสไตล์ของยุททา เบาเออร์ ผู้เขียน

“เราว่ามันมีความละม้ายคล้ายกับ “Life is Beautiful” มันเป็นการพูดถึงมุมมองของชีวิตในแง่มุมต่างๆ แต่ว่ามันก็อิงประวัติศาสตร์ของเยอรมนี มันอาจจะเป็นนามธรรมนิดหนึ่ง แต่เรารู้สึกว่าพออ่านไปเรื่อยๆ มันมีความสนุก แล้วก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น” สุภลักษณ์อธิบาย

ร้านหนังสือชื่อมีไหมนะ (โคสุเกะ โยชิทาเกะ)

หนังสือภาพลายเส้นน่ารัก ที่มีความเป็นหนังสือการ์ตูนคอมิกส์มากกว่านิทาน พร้อมอารมณ์ขันแบบตลกหน้าตาย บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “ร้านหนังสือมีไหมนะ” ทั้งการแนะนำหนังสือแปลกๆ ลูกค้าสุดฮา การทำงานของพนักงาน และอีเวนต์ต่างๆ ในร้านหนังสือประหลาดแห่งนี้

“มันเป็นการพูดถึงหนังสือในแง่มุมต่างๆ เป็นความตลกขบขันที่ปกติเราก็คิดไม่ได้ถึงแง่มุมพวกนี้ อันนี้ก็เป็นจินตนาการที่หาได้ยากในบรรดานักเขียน เด็กประถมที่อาจจะไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน และเริ่มจากเล่มนี้ ก็ฟีดแบ็กดีมากๆ แล้วก็คนที่โตแล้ว ทำงานแล้ว ที่รักหนังสือ เล่มนี้ก็คือต้องมีเลย” สุภลักษณ์แนะนำ

สุภลักษณ์ อันตนนา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ SandClock Booksสุภลักษณ์ อันตนนา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ SandClock Books

นิทาน = ความบันเทิงของครอบครัว

ในมุมของนักอ่านและคนทำงานกับหนังสือนิทานมาอย่างยาวนาน สุภลักษณ์มองว่า หนังสือนิทานไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิงสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังสามารถสะท้อนตัวตนของพ่อแม่ผ่านเรื่องราวต่างๆ และยังช่วยเยียวยาจิตใจพ่อแม่ได้ด้วย

“เรามองว่ามันเป็นความสนุก เป็นความบันเทิงในครอบครัว ความบันเทิงในแง่ที่ว่ามันมีประโยชน์มากๆ ณ ช่วงเวลาที่คุณนั่งลงแล้วอ่านหนังสือสักเล่มหนึ่ง ทั้งห้วงเวลานั้นของคุณมันจะอยู่กับหนังสือ เพราะฉะนั้น มันจะเป็นความสนุกสนานแล้วก็ได้ข้อคิดอะไรมากมายจากในเล่มนั้น” สุภลักษณ์ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook