มองสังคมไทยผ่านหนังสือ 4 เล่มของ “วีรพร นิติประภา”

มองสังคมไทยผ่านหนังสือ 4 เล่มของ “วีรพร นิติประภา”

มองสังคมไทยผ่านหนังสือ 4 เล่มของ “วีรพร นิติประภา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • วีรพร นิติประภา เป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง จากผลงานนวนิยาย “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” และ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”
  • ผลงานของวีรพรมีจุดเด่นอยู่ที่การเล่าเรื่องและภาษาที่ละเมียดละไม และเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับการเมืองและสังคม
  • วีรพรจัดเวิร์กช็อปนักเขียนให้กับบุคคลทั่วไป โดยมีโจทย์ว่า “อะไรที่กัดกินคุณอยู่” เพราะความเจ็บปวดจะบอกว่าคนคนนั้นเป็นใคร และจะเล่าเรื่องอย่างไร
  • เวิร์กช็อปนักเขียนของวีรพรสร้างนักเขียนหน้าใหม่หลายคน สร้างชุมชนคนรักการอ่านและการเขียน รวมทั้งทำให้เธอได้เรียนรู้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์

เมื่อเอ่ยชื่อ “วีรพร นิติประภา” เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จักคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่เธอจะเป็นนักเขียนมือรางวัล ที่คว้าซีไรต์ถึง 2 ครั้ง จากผลงานนวนิยาย “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” และ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” เท่านั้น เธอยังเป็น “พี่แหม่ม” และ “แม่แหม่ม” ผู้เยียวยาจิตใจคนรุ่นใหม่ ในยุคที่การใช้ชีวิตของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย

ในวันที่วีรพรได้รับเชิญให้เป็น Writer in Residence ของโรงแรม The Peninsula Bangkok และเตรียมจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับงานวรรณกรรมหลายรูปแบบ Sanook จึงได้พูดคุยกับนักเขียนสุดเท่ผู้นี้ ถึงผลงานหนังสือ 4 เล่มของเธอ ที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ รวมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับเวิร์กช็อปนักเขียน ที่มีโจทย์สุดแปลกว่า “อะไรที่กัดกินคุณอยู่”

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของวีรพร ที่ว่าด้วยรักสามเส้าของตัวละครชลิกา ชารียา และปราณ ที่ล้วนมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก และชีวิตรักที่หักเหวกวนราวกับอยู่ในเขาวงกตที่ไม่มีทางออก วีรพรได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนวนิยายเรื่องแรกนี้ว่ามาจากการ “ขิง” ลูกชายที่เป็นนักอ่าน และมีนักเขียนในดวงใจอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่ลูกชายคนเดียวกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เธอจึงรู้สึกว่า เมื่อลูกต้องโต แม่ก็ต้องเติบโตเช่นกัน และสำหรับการเติบโตของแม่คนนี้ เธอเลือกเขียนนวนิยาย

“เนื่องจากมันจะเป็นนิยายเรื่องแรก มันจำเป็นต้องหาวิธีการเขียน เอาพล็อตง่ายๆ เอาพล็อตแบบที่ไม่ต้องคิด ไปยุ่งเรื่องเทคนิค เราจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร เส้นเรื่องจะเป็นอย่างไร ไทม์ไลน์จะเป็นอย่างไร เราจะทำอย่างไร เป็นการสำรวจมากกว่า เพราะฉะนั้น มันก็เลยเริ่มด้วยพล็อตน้ำเน่าก่อน อันนี้ไอเดียแรกๆ เลย”

หลังจากที่ทดลองเขียนมาระยะหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจน สถานการณ์การเมืองที่กำลังคุกรุ่นก็ส่งผลต่อการทำงานเขียนของวีรพร กลายเป็นนิยายน้ำเน่าที่พูดคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ “มายาคติ”

“พอมีเหตุการณ์ปี 53 มีคนตายที่ราชประสงค์ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว ความขัดแย้งก็เรื่องหนึ่ง คนตายก็เรื่องหนึ่ง คนตายโดยรัฐก็เรื่องหนึ่ง ไม่พอ ที่สะเทือนใจใหญ่หลวงกว่าอะไรทั้งหมดก็คือ มีคนดีใจที่มีการล้อมปราบ มีคนแฮปปี้ดี๊ด๊ากับความตายของคนที่ไม่รู้จักกัน อันนั้นคือกลายมาเป็นวิกฤตวัยกลางคนตอนนั้นเลย คือรู้สึกเหมือนเราเข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ เราเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมเราถึงมีความสุขกับการที่ใครไม่รู้ตาย

วีรพรเล่าว่า การเขียนนวนิยาย “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” คือการโยนคำถามเข้าไปในเรื่องว่า “มายาคติใช่ไหมที่ทำให้คนเราเป็นคนแบบที่เราไม่ได้เป็น” เพราะฉะนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การทดลองวิธีคิด วิธีเขียน แต่เป็นการตั้งโจทย์ทางสังคมไปด้วย และนวนิยายเรื่องแรกนี้ก็ทำให้วีรพรสามารถคว้ารางวัลซีไรต์ได้ในปี 2558

“ตอนที่เขียนเสร็จ รู้แล้วแหละว่ามันเป็นนิยายที่ดี หมายถึงว่าในฐานะการเป็นนักอ่านมาก่อน เราก็จะพูดว่า เล่มนี้ดีนะ แต่เราไม่ได้คิดว่ามันจะได้รางวัล และเราก็ไม่คิดด้วยว่ามันจะได้รางวัลซีไรต์ หมายถึงว่า เอ๊ะ... เขาให้รางวัลนิยายรักกันด้วยเหรอ ต้องเป็นนิยายชีวิตๆ หรือเปล่า แต่ว่าเราเล่าเรื่องนี้ผ่านเรื่องรักน่ะ” วีรพรกล่าว

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

นวนิยายชื่อยาวว่าด้วยโศกนาฏกรรมของครอบครัวชาวจีนอพยพ ซึ่งใช้ชีวิตผ่านเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ไปจนกระทั่งถึงยุคสงครามเย็น และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

“พอเสร็จไส้เดือนตาบอดฯ เราก็พบว่า เรื่องที่อยากจะเข้าใจ มันยังเข้าใจไม่สุด นั่นก็คือว่า มายาคติมันไม่ใช่ส่วนเดียวของความขัดแย้ง ของการกลายเป็นคนที่เราไม่ใช่ มันมีประวัติศาสตร์อีก เพราะฉะนั้น เราก็กลับมาเล่นโจทย์ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ทำอะไร ประวัติศาสตร์บอกว่าคุณเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ บัตรประชาชนของคุณบ้านอยู่ที่ไหน”

สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบของประวัติศาสตร์ที่มีต่อคนตัวเล็กตัวน้อย วีรพรเลือกปักหมุดที่ยุคหลังสงคราม (Postwar) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกทั้งโลกกำลังจัดสรรพื้นที่ของอำนาจและพื้นที่ของการอยู่รอดทั้งหมดใหม่

“พอสงครามสงบมันก็ส่งผลกับคนทั้งโลก ปัจเจกเล็กน้อย คนไทยตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำการค้าขาย ซึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยสำเหนียกเรื่องนี้ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้มันส่งผลแบบมหาศาล เพราะว่าจริงๆ แล้วเราเป็นประชากรที่ถูกทำให้เชื่อว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับเราหรอก จริงๆ ทุกอย่างมันเกี่ยวกับเราหมดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับเรา แต่ว่าเราไม่รู้”

อย่างไรก็ตาม วีรพรมองว่า หน้าที่ของนักเขียนไม่ใช่การบอกผู้อ่านว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เป็นการถามคำถาม

“เราก็ทำได้แค่ “จำได้ไหม ก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร แล้วหลังเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร” เพื่อที่ให้เขาเข้าใจความเกี่ยวพันของปุถุชนกับสถานการณ์การเมือง สังคมต่างๆ ที่มันเข้ามาเป็นระลอกๆ” วีรพรอธิบาย

และในที่สุด “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ก็ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2561 และทำให้วีรพรกลายเป็น “นักเขียนหญิงดับเบิลซีไรต์” คนแรกของประเทศไทย ซึ่งเธอมองว่า การคว้ารางวัลทางวรรณกรรมนี้ถึง 2 ครั้ง ทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนอาชีพได้

“อยากเขียนดีกว่านี้ หรือมีความภาคภูมิใจ ความกล้าที่จะเขียนได้แบบพวกยอดฝีมือ พี่ไม่มีตรงนั้น พี่ก็ยังปากสั่น มือไม้สั่นอยู่ทุกครั้งที่เริ่มเรื่องใหม่ ยังมีความไม่แน่ใจอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะได้ไหม มันจะถูกเข้าใจไหม มันจะถูกตั้งคำถามไหม มันจะถูกตอบสนองอย่างไรจากคนอ่าน” วีรพรกล่าว

ทะเลสาบน้ำตา

เรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิงยิหวาและเด็กชายอนิล พร้อมสมาชิกสมาคมลับแห่งต้นชงโค ได้แก่ คุณยายไลลา ห่านปุยฝ้าย และแมวโบ๋แบ๋ ในรูปแบบนวนิยายแฟนตาซี ซึ่งวีรพรเล่าว่า ความตั้งใจแรกของเธอคืออยากให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชน สำหรับเด็กวัยพรีทีน และทำให้เป็นนวนิยาย interactive ทว่าด้วยต้นทุนที่สูงเกินไป ทำให้ “ทะเลสาบน้ำตา” ออกมาในรูปแบบหนังสือเล่มแทน

นอกจากนี้ ด้วยเนื้อหาที่หม่นเศร้าของเหล่าเด็กถูกทิ้ง ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมองว่า “ทะเลสาบน้ำตา” นั้นไม่เหมาะสำหรับเด็ก นวนิยายเล่มนี้จึงไม่ได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านวัยเด็กเท่าที่ควร ในขณะที่วีรพรมองว่า เด็กควรรู้ว่าโลกนี้มีเรื่องเศร้า และเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมกับความมืดหม่นของโลก เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ

หลายครั้งพี่เจอเด็กที่มีความรู้สึกว่าการเติบโตเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมากเหลือเกิน แต่มันเจ็บปวดเพราะว่าพวกคุณไม่ได้เตรียมตัวสำหรับเผชิญหน้ากับโลก ... ขอโทษนะคะ ส้นตีน โลกที่มีสงคราม โลกที่มีการข่มขืน โลกที่มีพ่อเลี้ยงฆ่าลูก มีแม่ที่ละเลยลูกและทิ้งลูกไป มีเรื่องปุถุชนล้านแปด เราไม่ได้เตรียมเขาให้เข้าใจโลกตรงนี้ ทำให้การเติบโตซึ่งยากอยู่แล้ว ก็ยากอีกเป็นสิบเท่า” วีรพรอธิบาย

ด้วยเหตุนี้ คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า “ทะเลสาบน้ำตา” มืดหม่นเกินไปหรือเปล่า แต่คำถามคือ เรื่องราวเลวร้ายเหล่านี้มีอยู่จริงหรือไม่ และหากมีจริง เด็กควรจะรับรู้และทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเอง เพื่อนำไปสู่การปกป้องตัวเองในฐานะปัจเจก

“พี่คิดว่าเด็กควรจะเริ่มเข้าใจ หมายถึงว่า ไม่ใช่เข้าใจว่ามันมีสัตว์ประหลาดอยู่ใต้เตียง แต่มันมีสัตว์ประหลาดอยู่บนเตียง อยู่ที่โรงเรียน อยู่ตรงนี้ อยู่ในบ้าน”

Just live with it อยู่กับมันไป ข้อที่หนึ่ง เข้าใจว่าสิ่งนี้มีอยู่ เพราะฉะนั้น กลไกของเขาก็คือ เขาจะรู้จักปกป้องตัวเองก่อน เป็นอันดับต้นๆ นั่นหมายความว่า อย่างเรื่องกรณีข่มขืน เป็นต้น เขาก็จะรู้ว่ามันมีนักข่มขืนอยู่ ดังนั้น อธิปไตยเหนือเรือนร่างเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเขาจะเข้าใจว่า ทำไมผู้คนเอาเปรียบกัน หรือทำไมครูที่โรงเรียนตีเขา แม่ที่บ้านตีเขา มันเป็นเรื่องเดียวกันเลยกับอธิปไตยเหนือเรือนร่าง มันเป็นเรื่องเดียวกันเลยกับการใช้อำนาจในสังคมและอื่นๆ”

แม้เรื่องราวของ “ทะเลสาบน้ำตา” จะเรียกน้ำตาจากผู้อ่าน แต่ตอนจบของนวนิยายเรื่องนี้ก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยความหวัง ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ยอมรับว่า เธอมีความหวังให้เด็กๆ สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่บิดเบี้ยว โดยยังสามารถสร้างมิตรภาพใหม่ๆ และอยู่ร่วมกันต่อไปได้ แม้ว่าโลกและมนุษย์จะไม่สมบูรณ์แบบเลยก็ตาม

โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก

หนังสือที่ไม่ใช่นวนิยายและไม่ใช่คู่มือเลี้ยงลูก แต่เป็นการรวบรวมแนวคิดจากประสบการณ์การเป็นแม่ของวีรพร และถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อหาที่อบอุ่นหัวใจ เกี่ยวกับการเป็นแม่และการเลี้ยงลูก ในฐานะมนุษย์สองคนที่รักกันมากที่สุด

“พี่เกลียดการเลี้ยงดูลูกของประเทศนี้อย่างยิ่ง พี่นั่งถามคำถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมเขาถึงเลี้ยงลูกแบบที่เขาเลี้ยง หนึ่ง เขากลัว เราจะจัดการความกลัวนี้อย่างไร สอง เขาไม่รู้ว่าลูกรักเขาน่ะ เขาไม่เคยถูกรักจากพ่อแม่เขา แล้วเขาลืมไปเลยว่าเขารักพ่อแม่อย่างไร” วีรพรเล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้

จากประสบการณ์ของวีรพร เรื่องหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่มักจะลืมไปก็คือ ลูกรักพ่อแม่มาก และพ่อแม่มีอิทธิพลต่อชีวิตลูกอย่างมาก เพราะฉะนั้น เป้าหมายหนึ่งเดียวของ “โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก” คือการบอกผู้อ่านว่า “แม่ลูกคือความสัมพันธ์” และหากคนเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะสามารถจัดการความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกได้

“เช่นเดียวกับที่คุณรู้วิธีการจัดการกับเพื่อนรักคุณน่ะ เราไม่ก้าวก่ายกัน เราไม่ทำร้ายจิตใจกัน เราไม่เอาเปรียบกัน พื้นฐานธรรมดา ทำไมคุณทำกับคนอื่นได้ แต่กับลูก คุณทำอีกแบบหนึ่งน่ะ ทำไมคุณถึงบังคับเขา ทำไมคุณทำให้เขาเสียน้ำตา ทำไมคุณไม่เลี้ยงเขาด้วยความรู้สึกที่อ่อนโยนกว่านั้น ทำไมคุณไม่เห็นว่าคุณเป็นทุกอย่างของเขา”

อย่างไรก็ตาม สำหรับวีรพร หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่คู่มือเลี้ยงลูก เพราะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นเรื่องปัจเจก ที่แต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่พ่อแม่ลูกควรทำ คือการเรียนรู้จากกันและกัน พ่อแม่ควรมองหาข้อเปราะบางของลูก และช่วยให้ลูกเข้มแข็งขึ้น ร่วมทั้งช่วยลูกรับมือกับข้อเสียที่เขามีอยู่ เพื่อให้ลูกสามารถจัดการกับข้อเสียนั้น และเติบโตไปกับมันได้

“หน้าที่ของคุณคือไม่ใช่สร้างลูกที่ดี หรือผลิตบุคลากรที่ดีออกมาในสังคม ไม่ใช่ การสร้างเพื่อนชีวิต สร้างคนที่จะอยู่กับเราไป ถ้าเกิดเขาเข้มแข็ง เขาก็ดูแลตัวเองได้ ดูแลคุณได้ ดูแลสังคมได้” วีรพรกล่าว

เวิร์กช็อปนักเขียน “เจ็บตรงไหน เขียนตรงนั้น”

นอกจากงานเขียน วีรพรยังเปิดเวิร์กช็อปสอนการเขียนสำหรับคนทั่วไป โดยรับสมัครผ่านเพจ L a b y r i n t h ด้วยคุณสมบัตินักเขียนมือรางวัล และเล็งเห็นว่าระบบการศึกษาไทยยังไม่มีหลักสูตรที่สร้างนักเขียนโดยตรง และแม้ว่าจะมีหลักสูตร นักเขียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้างผลงานจากการเรียนในระบบ แต่เติบโตด้วยตัวเอง

แต่ด้วย “ความวีรพร” เวิร์กช็อปนักเขียนของเธอจึงไม่ธรรมดา เพราะในช่วงเริ่มต้นของเวิร์กช็อป ทุกคนจะได้รับโจทย์ว่า “อะไรที่กัดกินคุณอยู่” และหลังจากที่เรียนทฤษฎีและเทคนิคการเขียน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เล่าเรื่องราวของตัวเอง เกี่ยวกับความเจ็บปวดที่กัดกินใจของพวกเขาอยู่ เพื่อสกัดออกมาเป็นแนวทางการเขียนของตัวเอง

การเจ็บปวดจากเรื่องหนึ่งมันบอกว่าคุณคือใคร เมื่อมันบอกว่าคุณคือใคร มันจะบอกว่าคุณจะเล่าเรื่องอะไร คุณจะเล่าแบบไหน คุณจะไปยังไง ถ้าคุณรู้ว่าคุณคือใคร คุณรู้ว่าคุณเจ็บปวดกับเรื่องอะไร คุณรู้ว่าเรื่องเล่านั้นคืออะไร ไม่ใช่เจ็บปวดกับเรื่องอ้วน อะไรลึกลงไปจากนั้น คุณถูกทำให้เชื่อว่า รูปร่างหน้าตาเป็นเรื่องสำคัญไหม คุณถูกสอนว่าการเป็นคนอ้วนเป็นคนไม่ดีไหม คือมันมีเบื้องลึกลงไปอีกน่ะ จากตรงที่เราจะคุยกันว่า เจ็บตรงไหน เขียนตรงนั้น การสำรวจเบื้องลึกตรงนี้ต่างหาก”

ผลงานหนังสือฝีมือนักเขียนรุ่นใหม่จากเวิร์กช็อปของวีรพรผลงานหนังสือฝีมือนักเขียนรุ่นใหม่จากเวิร์กช็อปของวีรพร

จากเรื่องเล่าของผู้ที่เข้าร่วมในเวิร์กช็อป วีรพรช่วยขุดลึกลงไปภายใต้เรื่องราวเหล่านั้น และค้นพบว่าชีวิตของคนคนหนึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง สังคม และโลกอย่างแยกไม่ออก

นอกจากนี้ เวิร์กช็อปนักเขียนของวีรพรยังรวมเอาเหล่ายอดฝีมือด้านงานวรรณกรรมมาเป็นวิทยากรรับเชิญด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักวิชาการด้านวรรณกรรมต่างประเทศ นักแปล บรรณาธิการ และนักวาดภาพประกอบ ทำให้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เวิร์กช็อปนักเขียนนี้ได้สร้างนักเขียนหน้าใหม่ที่มีคุณภาพ และสร้างชุมชนของคนรักการเขียนและการอ่าน ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและการเยียวยาจิตใจกันและกัน

และสำหรับวีรพร เวิร์กช็อปนักเขียนในเขาวงกตของเธอทำให้เธอได้เรียนรู้ชีวิตและปัญหาของคนรุ่นใหม่ เช่น First jobber หรือนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งแตกต่างและซับซ้อนกว่าปัญหาของคนรุ่นเก่ามาก

“พี่เริ่มมองเห็นว่าปัญหาของคนรุ่นใหม่บางทีมันแปลกกว่าที่คุณคิดน่ะ เขาก็มีปัญหาของเขา ปัญหาของคนรุ่นเขา ปัญหาของการไม่สามารถเลือกหรือว่าการไม่สามารถอยู่เป็นที่ หรือการไม่สามารถมีที่ทางของตัวเอง เป็นปัญหาแปลกๆ ซึ่งตามตรงแล้วพี่รู้สึกโชคดีที่เลือกทำงานนี้ด้วยนะ มันทำให้พี่ได้เห็นผู้คน” วีรพรกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัลบั้มภาพ 40 ภาพ

อัลบั้มภาพ 40 ภาพ ของ มองสังคมไทยผ่านหนังสือ 4 เล่มของ “วีรพร นิติประภา”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook