โครงการหลวง ตามรอยพ่อ ตามรอยอาหารอร่อย

โครงการหลวง ตามรอยพ่อ ตามรอยอาหารอร่อย

โครงการหลวง ตามรอยพ่อ ตามรอยอาหารอร่อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลังจากทรงทราบถึงความยากจนของชาวเขา ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกต้องหันหน้าไปปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยเพื่อประทังชีวิต นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา จึงมีพระราชประสงค์ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาให้ดีขึ้น ไม่เพียงช่วยชาวเขา ชาวเราและชาวโลกก็ได้ประโยชน์เทียมเท่าเสมอกัน เพราะช่วยลดปัญหาเรื่องยาเสพติดและพัฒนาวงการเกษตรบ้านเราไปพร้อมกัน นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์โดยแท้


นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการหลวง” ในปี พ.ศ. 2512 ก่อนจัดตั้งเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” ในปี พ.ศ. 2535 โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ปัจจุบันขยายสถานีเกษตรหลวงรวมทั้งหมด 4 แห่งและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีก 38 ศูนย์ เพื่อส่งเสริมเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ขอความช่วยเหลือจากมิตรประเทศด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งมีหลายประเทศให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะไต้หวันที่ช่วยเหลือมาตลอด 40 กว่าปีทั้งด้านเงินทุนและพันธุ์พืช

ในวโรกาสพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมมหาราช G & C จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านขึ้นดอยไปตามรอยอาหารอร่อยที่โครงการหลวงกัน
ดอยอ่างขาง บุกเบิกและหลากหลาย

เริ่มกันที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยแห่งแรกในตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คงต้องบอกว่าผมขึ้นมาเยี่ยมสถานีแห่งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อนได้ร่วมเดินทางมาพร้อมกับทริป Gourmet Tour Angkhang โดยมีเชฟนอร์เบิร์ต คอสเนอร์ เชฟใหญ่ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ มาปรุงอาหารจากวัตถุดิบของโครงการหลวงให้ได้ชิมกันถึงบนดอย ผมยังจำได้ดีถึงคำพูดของเชฟที่บอกอย่างถ่อมตัวว่า “ผมเป็นเพียงผู้ช่วยของธรรมชาติ เพียงนำวัตถุดิบชั้นดีมาปรุงแต่งนิดหน่อยก็ได้อาหารจานอร่อย” เชฟยังบอกอีกว่าการปรุงอาหารที่อ่างขางท้าทายกว่าที่โรงแรมมาก ทุกปีที่มาก็มักจะได้ประสบการณ์ดีๆ กลับไปอยู่เสมอ

ครั้งนี้ผมมีโอกาสเยี่ยมชมสถานีอย่างเจาะลึกกว่าครั้งแรกมาก บรรยากาศของอ่างขางต่างออกไปจากเดิม ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาต่างจากมีนาคมมาก ทั้งเรื่องผลผลิตทางการเกษตรและอากาศที่ดูจะหนาวเย็นกว่า ช่วงพฤศจิกายนเป็นเวลาเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ผลผลิตแรกของปี ผลอาจไม่ใหญ่มาก สีไม่ได้แดงก่ำ แต่เนื้อกรอบฉ่ำและหวานอร่อย แถมราคาก็ไม่แพง

คุณลุงอิงตะ ลุงยะ ผู้ดูแลแปลงรวมพันธุ์สตรอว์เบอร์รี เล่าให้ฟังว่าแปลงนี้รวมพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อการค้าไว้ 6-7 พันธุ์ สังเกตความแตกต่างง่ายๆ ด้วยการดูใบ บางพันธุ์ใบแหลม บางพันธุ์ใบกลม บางพันธุ์ใบห่อ โดยเฉพาะพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาแล้วให้เข้ากับบ้านเรา ให้รสหวานกว่าพันธุ์พระราชทาน 60 ที่ค่อนข้างฝาด

จากนั้นเมื่อเดินเข้าสู่ด้านในจะเป็นฟาร์มสัตว์ปีก ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ อาทิ ไก่ฟ้า ไก่ต๊อก ไก่กระดูกดำ ไก่เบรส เป็ดอี้เหลียง และไก่งวง แต่ที่เลี้ยงได้ดีที่สุดเป็นไก่ฟ้าและไก่เบรส คุณหวา ลุงคำ ผู้ดูแลฟาร์มสัตว์ปีกบอกกับเราว่า “ที่นี่เพาะเลี้ยงโดยเริ่มจากไข่ที่ได้จากพ่อพันธุ์ 1 ตัวที่อยู่ร่วมกับแม่พันธุ์ 3-4 ตัว ส่วนไก่รุ่นเมื่อโตก็จะถูกแยกออกไปเพื่อคงพันธุ์ที่ดีของพ่อและแม่พันธุ์ ขุนอาหารประมาณ 4-5 เดือนจึงส่งขายได้” ส่วนเป็ดอี้เหลียงเป็นสายพันธุ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งทางสโมสรอินทนนท์บรรจุไว้เป็นอาหารยอดนิยมนำไปอบกับเมล็ดกาแฟดอยคำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook