Behind her Eyes เผยเบื้องหลังชีวิตควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผ่าน 9 บุคคลสำคัญ

Behind her Eyes เผยเบื้องหลังชีวิตควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผ่าน 9 บุคคลสำคัญ

Behind her Eyes เผยเบื้องหลังชีวิตควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผ่าน 9 บุคคลสำคัญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กว่าหลายทศวรรษแห่งการครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นแล้วว่าพระองค์ทรงโดดเด่นเป็นสง่าไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลังสายตาสาธารณชน บาซาร์เชิญ 9 บุคคลผู้เคยมีโอกาสได้เห็นเบื้องหลังชีวิตพระองค์มาเปิดเผยถึงสิ่งที่ทำให้ประมุขแห่งเครือจักรภพพระองค์นี้ทรงแตกต่างไม่เหมือนใครและทรงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย
 
The Enigmatic Sovereign By Chris Levine ศิลปิน

ในปี 2004 ซึ่งนับเป็นเวลา 800 ปีแล้วที่เกาะเจอร์ซีย์หลุดพ้นจากอาณานิคมฝรั่งเศสและหันไปจงรักภักดีต่อพระราชินีแห่งเครือจักรภพ พวกเขาจึงต้องการจะเฉลิมฉลองสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ด้วยภาพพระบรมฉายาลักษณ์แนวร่วมสมัย ตอนได้รับโทรศัพท์ถึงเรื่องนี้ในใจผมคิดว่า “ทำไมถึงเป็นเรานะ?” มันน่าหวาดหวั่นมากเพราะผมอยากจะสร้างผลงานที่มีคุณค่าคู่ควรแก่โอกาสที่ได้รับ หากผมจะรับงานนี้ผมต้องการจะค่อยๆสร้างให้ภาพนี้กลายเป็นไอคอนผมได้รับมอบหมายให้เลือกทีมของตัวเองได้ทั้งหมดผมได้ทำสไตลิ่งฉลองพระองค์ซึ่งทำร่วมกับแองเจลาเคลลี (Angela Kelly) ผู้ช่วยส่วนพระองค์ ผมได้เลือกสายพระศอมุกเส้นเดี่ยวนี้ ได้เลือกฉลองพระองค์เสื้อเคปและมงกุฎ ซึ่งทั้งงดงามและเรียบง่ายด้วยลายกากบาท

ผมจดการนัดหมายไว้ในไดอารี่นานล่วงหน้าสามปีและเมื่อช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่มาถึงมันดูเหนือจริงมากสมเด็จพระราชินีนาถฯเสด็จเข้ามาในห้อง Yellow Drawing Room ภายในพระราชวังบักกิงแฮม ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงที่ผมเป็นคนเลือก ผมแทบจะต้องหยิกแขนตัวเองเลยทีเดียว แองเจลา เคลลีถือมงกุฎเข้ามาในกล่องจิวเวลรี่ขนาดใหญ่จนทำให้คุณอาจหลงคิดได้ว่าเป็นมงกุฎสำหรับงานพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ ทว่าพระองค์แค่ทรงมงกุฎหน้ากระจกเท่านั้น ผมได้รับแจ้งว่าควรจะเรียกพระองค์ว่า ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท’ ไม่ใช่ ‘ใต้ฝ่าละอองพระบาท’ และให้ยื่นมือจับพระหัตถ์หากพระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์มา พระองค์ทรงตระเตรียมทุกอย่างมาอย่างดีและทรงสังเกตทุกอย่างมากกว่าจะทรงแสดงปฏิกิริยาใดๆ พระองค์ทอดพระเนตรที่ผมและมิได้ทรงเผยว่าพระองค์คือใคร
 

 
ผมจุดกำยานในห้องเพราะอยากสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายผมเลือกใช้กล้องที่ถ่ายได้ 200 เฟรมต่อ 8 วินาที จึงจำเป็นต้องยืนใกล้พระองค์เพื่อถ่ายภาพให้ตรงกับจังหวะพระอัสสาสะ (ลมหายใจออก) ผมต้องการจะจับความรู้สึกของลมหายใจออกและความนิ่งสุขุมเพื่อมองว่าพระองค์คือมนุษย์คนหนึ่งมากกว่าจะถูกเบี่ยงเบนสมาธิด้วยความจริงที่ว่าพระองค์คือควีน ผมพูดคุยกับพระองค์ถึงเรื่องการฝึกสมาธิและได้เรียนรู้ว่าการฝึกสมาธิของพระองค์คือการทำสวน ซึ่งผมคิดว่าช่างงดงามเหลือเกิน

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ออกมานั้นสร้างความประทับใจให้กับผู้คนอย่างแท้จริงในปี 2012 หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ ลอนดอน (National Portrait Gallery) จัดแสดงพระบรมรูปของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด 16 ภาพ (หนึ่งในนั้นรวมถึงพระบรมรูปโดยลูเซียน ฟรอยด์, แอนดี้ วอร์ฮอล และปิเอโตร อันนิโกนิ) ซึ่งมีภาพ Eqanimity เป็นภาพเปิดและปิดด้วยภาพ Lightness of Being โดยภาพ Eqanimity คือพระบรมฉายาลักษณ์ทางการที่พระองค์ทอดพระเนตรไปข้างหน้า ชื่อภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิธีการที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงจัดการพระองค์ให้คงความสุขุมไว้ได้ตลอดแม้จะมีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทรงทำอะไรหลายอย่างก็ตาม ผมทูลถามพระองค์ว่าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับชื่อผลงานและพระองค์ตรัสตอบว่าพระองค์ทรงเห็นสมควรแล้ว

พระบรมฉายาลักษณ์ที่สองคือ Lightness of Being ซึ่งเป็นภาพที่พระองค์ทรงปิดพระเนตร จริงๆ แล้วเป็นภาพที่ถูกคัดออก และผมคิดว่าเหตุผลที่ภาพนี้จับใจหลายๆ คนนั่นเพราะมิติเชิงจิตวิญญาณ แม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เป็นรอยัลลิสต์ยังสะสมภาพ Lightness of Being เลยล่ะ และตอนนี้ก็มีรูปนี้ในหลากหลายอิดิชั่นแขวนอยู่บนกำแพงต่างๆ ในสถานที่มากมายทั่วโลก มีอะไรบางอย่างในภาพที่ทำให้คุณรู้สึกเชื่อมโยง อาจเป็นความสงบเงียบบางอย่าง ผมคิดว่าหากงานศิลปะชิ้นหนึ่งจะสามารถมอบช่วงเวลาแห่งความสงบสุขได้ เมื่อนั้นผู้ชมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองกลับมาเองโดยธรรมชาติ

The Ordinary Thinker By Helen Mirren นักแสดง


 มีสิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถฯ และแอบใส่ลงไปในภาพยนตร์ คือเรื่องที่ฉันได้อ่านมาจากหนังสือที่เขียนโดยครอว์ฟี่ (Crawfie) พระพี่เลี้ยงในเจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมากาเร็ตถึงจนกระทั่งทั้งสองพระองค์มีพระชนมพรรษาได้ราว 17 พรรษา ดังนั้นเธอจึงรู้จักทั้งสองพระองค์อย่างดีเยี่ยม สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงโปรดม้าเป็นอย่างยิ่งและทรงเคยมีของเล่นม้าชิ้นจิ๋ว ครอว์ฟี่กล่าวว่าพระองค์มักจะตื่นพระบรรทมกลางดึกเพื่อทรงจัดของเล่นเหล่านี้ให้เรียงเป็นแถว บางครั้งในเวลากลางคืนพระองค์จะตื่นพระบรรทมเพื่อทรงตรวจตราว่าพวกมันยังคงถูกจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบดีอยู่หรือเปล่า มีตอนหนึ่ง (ในหนังเรื่อง The Queen) เป็นฉากที่พระองค์กำลังตรัสกับโทนี่ แบลร์ทางโทรศัพท์ และมีปากกาวางอยู่ ฉันจึงบอกว่า ‘ฉันอยากให้ถ่ายฉากควีนทรงจัดปากกาเหล่านี้อย่างเป็นระเบียบ เรียงเป็นแถวที่เว้นระยะห่างเท่ากันเป๊ะๆ’ มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คนดูจะไม่สังเกตเห็นแน่นอน มีแค่คุณเท่านั้นที่รู้ และเมื่อตัวละครของคุณเดินเข้ามาในฉาก คุณจะรู้สึกเลยว่า ‘นี่คือที่ของฉัน และนี่คือของของฉัน’

The Quine Enthusiast By Clare Balding ผู้ประกาศข่าว

ตอนฉันยังเด็ก สมเด็จพระราชินีนาถฯ พระราชทานม้าแคระเชตแลนด์ที่ชื่อวาลไครี (Valkyrie) แก่ฉันและน้องชาย พ่อฉันเคยเป็นครูฝึกให้ม้าแข่งของพระองค์จำนวนหนึ่ง เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพวกมันที่สนามเลี้ยงม้าของเรา เราจะจัดม้าพันธุ์แท้ที่สง่างามหลายตัวมายืนเรียงเป็นแถวและปิดท้ายด้วยเจ้าจ้ำม่ำวาลไครี ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงพระโสมนัสที่ได้พบมันเสมอ ในขณะที่พระองค์ทรงหลงใหลและมีความรู้เกี่ยวกับการแข่งม้า ความรักในม้าของพระองค์ไม่ได้มีเพียงแค่ความสำเร็จด้านกีฬาเท่านั้น คุณจะเห็นได้จากความกระตือรือร้นที่ทรงมีต่อเจ้าม้าโพนี่ไฮแลนด์แสนซน หากม้าตัวใดตัวหนึ่งของพระองค์นำโด่งในการแข่งขัน พวกมันอาจชนะรางวัลบัตรกำนัลของห้างเทสโก้โลตัสหรืออะไรสักอย่างมาให้พระองค์ก็ได้… แต่รางวัลไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
 
 แน่นอนว่าพระองค์ทรงโปรดการชนะในการแข่งอะไรแบบนี้ทั้งยังทรงโปรดข่าวเม้ามอยในวงการแข่งม้าอีกด้วยม้าเป็นสัตว์ที่เท่าเทียมไม่แบ่งแยกมันจะไม่ประพฤติตัวดีต่อหน้าพระองค์เพียงเพราะพระองค์คือเจ้าแผ่นดินและฉันก็คิดว่าพระองค์ทรงพระเกษมสำราญกับสิ่งนี้ว่ากันว่าพระราชพิธีราชาภิเษก (Jubilee) ของพระองค์สักงานหนึ่งถึงกับต้องเลื่อนเวลาเพื่อรอเวลาให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับจากสนาม Epsom ในเย็นวันนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานสมโภชใดก็ตาม พระองค์ไม่ทรงเคยพลาดทอดพระเนตรการแข่งดาร์บี้เลย

The Beneficent Matriarch By Joanna Lumley นักแสดงและผู้แต่งหนังสือ ‘A Queen for All Seasons’

เย็นวันหนึ่งในฤดูร้อน เนื่องด้วยการจราจรที่ติดขัดในลอนดอนฉันจึงไปร่วมงานอีเวนต์ของ Royal Academy ที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จร่วมงานด้วย ค่อนข้างสายเอามากๆ ฉันกระโดดลงจากแท็กซี่แล้ววิ่งไปบนถนนพิคคาดิลลีและเห็นว่ารถพระที่นั่งกำลังค่อยๆ แล่นออกมาจาก Royal Academy ‘โอ้ย!’ ฉันร้องออกมาและถอนสายบัวบนทางเดินเท้าในเวลาเดียวกัน พระองค์ทอดพระเนตรออกมาจากหน้าต่างพระที่นั่ง สายตาฉันประสานกับพระเนตร แล้วพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์มาให้ฉันอย่างจริงใจและอบอุ่นที่สุด ฉันชอบการที่พระองค์ทรงสังเกตสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับโลกภายนอก อย่างเมื่อเราจินตนาการว่าเรากำลังจ้องไปที่พระองค์ แล้วพระองค์ทอดพระเนตรกลับมาว่าเกิดอะไรขึ้น
 


 
ในพระชนมพรรษาเพียง 21 พรรษา พระองค์ทรงมีพระปณิธานว่าจะทรงอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พสกนิกรของพระองค์ และพระองค์ทรงแน่วแน่เสมอมา ฉันไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถกล่าวคำปฏิญาณแบบนั้นได้ในวัย 21 ปีทั้งยังยึดมั่นกับสิ่งนั้นต่อไปในอนาคต ฉันคิดว่าคนมองพระองค์เหมือนแม่ของแผ่นดิน มารดาผู้นำครอบครัว รากฐานแห่งความมั่นคง ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงทำนั้นมีความมั่นคงหนักแน่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยพระกรุณา ซึ่งคือทุกอย่างที่เราอยากให้เกิดขึ้นเพื่อชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ฉันเชื่อว่าพระองค์ทอดพระเนตรเราทุกคนเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว ทั้งยังทรงรักพวกเรามาก คนส่วนใหญ่อาจจำได้เพียงภาพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 บนบัลลังก์ และพระองค์จะทรงได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ในฐานะกษัตริย์พระองค์แรกที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด แต่ฉันคิดว่าเราจะยกย่องเทิดทูนพระองค์ในความพิเศษอันท่วมท้นจนเกินอธิบาย เราโชคดีที่มีพระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจและทรงเป็นเพื่อนแท้ในทางที่ไม่คาดคิด

The Corgi Whisperer By Roger Mugford นักจิตวิทยาสัตว์และเทรนเนอร์สุนัขทรงเลี้ยง

สมเด็จพระราชินีนาถฯ โปรดสุนัขพันธุ์คอร์กี้เป็นอย่างยิ่ง ช่วงเวลาที่ผมได้รู้จักพระองค์ในช่วงกลางปี 1980s พระองค์ทรงเลี้ยงสุนัข 9 ตัวโดยสองตัวในนั้นคือพันธุ์ดอร์จิซึ่งเคยเป็นของเจ้าหญิงมากาเร็ต พระขนิษฐา และได้กลายมาเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของพระองค์ ในขณะที่เจ้าชายฟิลิปตรัสถามพระองค์ว่านั่นมันมากเกินไปหรือเปล่า ทว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการดูแลพวกมันได้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงภาคภูมิพระทัยในสุขภาพของพวกมันและทรงควบคุมดูแลการให้อาหารด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงสาธิตให้ผมดูโดยทรงส่งคนมาพร้อมกับถาดขนาดใหญ่มหึมาที่มีชามมากมาย ส่วนหนึ่งในนั้นคือหม้อใส่อาหารแยกของสุนัขทรงเลี้ยงแต่ละตัวและเครื่องเงินต่างๆ แต่ละหม้อประกอบไปด้วยอาหารโฮมเมดที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษไม่ซ้ำกัน บางหม้อก็เสริมด้วยการบำรุงแบบศาสตร์การแพทย์ทางเลือก (homeopathy) ลองจินตนาการภาพสุนัขเล็กๆ 9 ตัวนั่งอยู่บนเบาะครึ่งวงกลม รอให้ชามข้าวมาวางตรงหน้า ตามด้วยคำสั่งจากนายหญิงว่า ‘นั่ง’ หรือ ‘นิ่ง’! นี่คือผู้หญิงที่พยายามจะใช้อำนาจควบคุม แต่ด้วยวิธีที่ที่สุดแสนจะน่ารักไม่เหมือนใคร
 


 
The Consummate Hostess By Tom Parker Bowles นักเขียนและนักวิจารณ์อาหาร

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งโปรดของสมเด็จพระราชินีนาถฯ นั้นมาจากมาร์ค ฟลานาแกน (Mark Flanagan) ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเชฟส่วนพระองค์ พระองค์โปรดวัตถุดิบตามฤดูกาลอย่างหน่อไม้ฝรั่งและเนื้อแกะ และยังโปรดเครื่องเสวยจากคฤหาสน์อย่างไก่ป่า หรือเนื้อกวางจากปราสาทแบมอรอล พระองค์จะเสวยไก่ฟ้าจากตำหนักซานดริงแฮม (อยู่ในฤดูกาลช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์) กระทั่งยังทรงมีชีสของพระองค์เองที่ผลิตจากนมวัวหลวงที่เลี้ยงในพระราชวังวินด์เซอร์อีกด้วย

เมื่อมีงานสมโภชเมนูอาหารทั้งหมดจะถูกเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศสตามธรรมเนียมไม่เว้นแม้แต่การอธิบายอาหารของชนชาติอังกฤษเองก็ตามสมเด็จพระราชินีนาถฯตรัสภาษาฝรั่งเศสได้อย่างไร้ที่ติและพระองค์ทรงมีความทรงจำอันเป็นเลิศดังนั้นพระองค์จึงทรงจำอาหารที่แขกเหรื่อแต่ละคนชื่นชอบและไม่ชอบได้พระองค์จะทรงเข้ามามีส่วนร่วมกับเมนูแต่ละชนิดซึ่งเป็นเรื่องสำคัญหากคุณกำลังจัดงานเลี้ยงต้อนรับประธานาธิบดีฝรั่งเศสหรือนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
 
 
The Eternal Muse By Nicholas Cullinan ผู้อำนวยการหอศิลป์ภาพเหมือน ลอนดอน

พระบรมรูปของราชวงศ์มักจะได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมชมในหอศิลป์ภาพเหมือนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่พระสาทิสลักษณ์ของราชวงศ์แพลนแทเจอนิต (Plantagenets) แห่งฝรั่งเศส และราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) แห่งอังกฤษ ไปจนถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและสมาชิกราชวงศ์ ในขณะที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นชินกับใบหน้าผู้โด่งดังอยู่แล้ว แต่มีผู้เดียวที่ไม่เพียงเป็นตัวแทนของราชวงศ์ แต่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

พระบรมสาทิสลักษณ์ในสมเด็จพระราชินีนาถฯ ที่เก่าแก่ที่สุดคือภาพที่บรรทมอยู่บนตักพระมารดาในเดือนพฤษภาคม ปี 1926 โดยพระองค์แทบจะทรงยังไม่ครบหนึ่งพรรษาด้วยซ้ำ พิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 นับเป็นครั้งแรกที่ถูกถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปทั่วโลก และพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถ่ายโดยเซซิล บีตัน คือหลักฐานของการเฉลิมฉลองวันแห่งประวัติศาสตร์นั้น ศิลปินมากมายได้ตีความความชื่นชอบของพระองค์ออกมาเป็นผลงาน ตั้งแต่ภาพจิตรกรรมของปิเอโตร อันนิโกนิ ในปี 1969 ไปจนถึงภาพ Reigning Queens ของแอนดี้ วอร์ฮอล ในปี 1985 และพระบรมฉายาลักษณ์ที่ดูฟุ้งฝันของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในพระชนมพรรษา 90 พรรษาเสด็จพระราชดำเนินพร้อมสุนัขทรงเลี้ยงพันธุ์คอร์กี้ โดยแอนนี่ ไลโบวิตซ์ พระบรมรูปเหล่านี้ได้กลายมาเป็นพระบรมรูประดับไอคอนเลยก็ว่าได้
 

 
สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงใช้ชีวิตและทรงครองบัลลังก์ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงนั้นหมายรวมถึงวิวัฒนาการของการถ่ายภาพพอร์เทรต ในขณะที่พระบรมรูปของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์รัชสมัยก่อนๆ นั้นจะถูกวาดขึ้นด้วยมือ แต่ความชื่นชอบของพระองค์นั้นเติบโตพัฒนาขึ้นไปพร้อมกับความก้าวหน้าของการถ่ายภาพ ในปี 2012 มีการรังสรรค์พระบรมรูปในรูปแบบภาพโฮโลแกรม ในขณะที่พระบรมฉายาลักษณ์โดยเซซิล บีตันแสดงภาพความเป็นประมุขของประเทศด้วยฉลองพระองค์ Robe of State ทว่าพระบรมฉายาลักษณ์อื่นๆ ภายในพระราชวังกับครอบครัวก็แสดงให้เห็นถึงเบื้องหลังชีวิตในราชสำนักอันน่าทึ่ง ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาพักผ่อนอิริยาบถและความเงียบสงบที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน ถ่ายทอดออกมาอย่างงดงามโดยคริส เลอวีน (Chris Levine) ไม่มีไอคอนคนใดจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินได้มากเท่ากับพระองค์ได้อีกแล้ว นั่นเพราะพระองค์ทรงเป็นตัวแทนของหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่าแค่พระองค์เอง

The Style Setter By Gerald Bodmer ผู้อำนวยการใหญ่ของ Launer London

เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ผมยังเป็นชายหนุ่มในวัยยี่สิบกว่าและยังรับราชการในกองทัพอากาศและไม่อาจจะจินตนาการได้เลยว่ากว่า 70 ปีต่อมา ผมจะเป็นนักออกแบบกระเป๋าถือที่พระองค์ทรงเลือก พระองค์ท่านทรงโปรดกระเป๋าทรงคลาสสิก  แน่นอนว่าคุณคงไม่สามารถเป็นสาวร็อคสุดเปรี้ยวได้หากคุณเป็นราชินี ตอนนี้เราออกแบบกระเป๋าให้เบาขึ้นเล็กน้อยตามพระประสงค์สำหรับพระองค์ทรงถือ การใช้งานได้จริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นบางครั้งเราจึงใส่กระจกหรือกระเป๋าสตางค์ใบเล็กไว้ด้านในด้วย อุปนิสัยส่วนพระองค์ท่านนั้นทรงร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ ให้ความรู้สึกเหมือนสุภาพสตรีจากบ้านข้างๆ ของเรา ทรงมีพระราชอารมณ์ขันและสนพระราชหฤทัยทุกสิ่งรอบตัวพระองค์เป็นอย่างมาก ตอนนี้เรากำลังรื้อฟื้นกระเป๋าทรงถือที่พระองค์ทรงใช้ในช่วงทศวรรษที่ 1970s เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงครองราชสมบัติครบ 70 ปี ผมหวังว่ากระเป๋าใบนี้จะสะท้อนตัวตนของพระราชินีของเรา นั่นคือความคลาสสิก สง่างาม และมีเพียงหนึ่งเดียว


 
 
Our Steadfast Hope By Amanda Foreman นักเขียนและนักประวัติศาสตร์

หากคุณเคยฝันถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระราชินีนาถฯ แล้วล่ะก็ คุณไม่ได้ตัวคนเดียว ภายหลังพระราชพิธี Silver Jubilee (ครบรอบสิริราชสมบัติ 25 ปี) ในปี 1977 มีการคาดคะเนว่าชาวอังกฤษมากกว่าหนึ่งในสามฝันถึงพระองค์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง แม้แต่เหล่าสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงยังเคยยอมรับว่าพระองค์เสด็จมาเยี่ยมเยือนในความฝัน ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ ไม่เพียงแค่ทรงปรากฏพระวรกายอยู่ในชีวิตเราไม่ว่าในความเป็นจริงหรือความฝันก็ตาม พระองค์ยังทรงเป็นศูนย์รวมแห่งแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจของพสกนิกรทั้งประเทศ

ครั้นเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเปลี่ยนสถานะเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1952 ประเทศอังกฤษยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากพิษสงครามโลกครั้งที่สอง ความสดใสอ่อนวัยของพระองค์เข้ามาช่วยหยุดพักเรื่องราวในอดีต ไทม์แมกกาซีนแห่งสหรัฐอเมริกาทูลเกล้าฯ ถวายพระยศ ‘Woman of the Year’ ไม่ใช่เพราะความสำเร็จบางอย่างของพระองค์ แต่กลับเป็นเพราะการที่พระองค์ทรงเป็นตัวแทนแห่งความหวังของอนาคตประเทศ มากาเร็ต แธตเชอร์ นักกฎหมายและนักการเมือง เคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์ Sunday Graphic ว่าการได้พระราชินีมาเป็นประมุขปกครองประเทศ จะช่วยลบ ‘อคติต่อผู้หญิงที่มีความฝันจะก้าวไปอยู่ในที่สูง’ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นเพียงภรรยาและมารดาของลูกเล็กๆ สองคน กระนั้นเองก็ยังไม่เคยมีใครชี้ว่าชีวิตครอบครัวทำให้พระองค์ไม่ทรงเหมาะสมกับการปกครองประเทศ
 
 

การมองโลกในแง่ดีของมากาเร็ต แธตเชอร์ ส่งผลต่อการสร้างตัวตนของพระองค์ในฐานะกษัตริย์ยุคใหม่ที่ยังคงต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมแบบแผนดั้งเดิม ในช่วงเริ่มแรกดูเหมือนธรรมเนียมเก่าๆ จะได้เปรียบพระองค์ นักเป่าปี่สก็อตจะมาเป่าปี่ใต้หน้าต่างห้องบรรทมของพระองค์ทุกเช้า (เป็นธรรมเนียมที่ควีนวิกตอเรียนทรงยึดมั่น) สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงรู้ดีว่าพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะถูกตัดสินจากอดีต ‘มีคนบางกลุ่มแสดงความหวังว่าการครองราชย์ของข้าพเจ้าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบเอลิซาเบธยุคใหม่’ พระองค์ตรัสในปี 1953 ‘ว่ากันตามตรง ข้าพเจ้าเองไม่ได้รู้สึกเหมือนบรรพบุรุษตระกูลทิวดอร์ของข้าพเจ้าเลยแม้แต่น้อย’

อย่างไรก็ดี เส้นขนานทางประวัติศาสตร์ระหว่างราชินีสองพระองค์ถือเป็นเรื่องที่สร้างบทเรียนได้เป็นอย่างดี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงสร้างตัวตนใหม่ต่อหน้าสาธารณชน แต่กระนั้นเองมันยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะการเสแสร้งนั้นเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อ ‘กษัตริย์อย่างพวกเรา’ พระองค์ตรัส ‘ถูกจัดให้ยืนบนเวทีเบื้องหน้าสายตาสาธารณชนทั่วโลก’ ถึงแม้ว่าควีนเอลิซาเบธที่ 1 ทรงมีพระปรีชาสามารถในการแสดง แต่การกระทำของพระองค์ยังอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่จริงใจ พระองค์ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์พร้อมทรงแปรเปลี่ยนให้พิธีบรมราชาภิเษกกลายเป็นงานสาธารณะ ผู้ร่วมเหตุการณ์ต่างรู้สึกประหลาดใจต่อการที่พระองค์ทรงยินดีจะปฏิสัมพันธ์กับฝูงชนอย่างใกล้ชิด และพิธีบรมราชาภิเษกนี้ก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างกษัตริย์และพสกนิกร

อาจกล่าวได้ว่าการถ่ายทอดสดพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ นับเป็นวิธีที่คล้ายคลึงกัน ในช่วงปี 1860s วอลเตอร์ บาเกโฮต์ (Walter Bagehot) สื่อมวลชนผู้หนึ่งเคยเปรียบเปรยว่าสังคมนั้นคือ “ละครเวที” ที่ซึ่ง “จุดเด่นของโชว์ก็คือควีน” การถ่ายทอดสดพิธีราชาภิเษกในปี 1953 จึงทำให้ชาวอังกฤษ 27 ล้านคนและชาวอเมริกัน 55 ล้านคนสามารถเข้าร่วมชม “โชว์” จากทางบ้านได้ นับเป็นความใกล้ชิดรูปแบบใหม่ที่ถูกเรียกร้องจากควีนเอลิซาเบธที่ 2 มากกว่าราชวงศ์ก่อนๆ ที่เคยมีมา
 

 
สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงยืนกรานให้มีการถ่ายทอดสด และเจ้าชายฟิลิปก็ทรงโน้มน้าวพระทัยถึงความสำคัญของการเรียนรู้ที่จะอยู่หน้ากล้องอย่างเชี่ยวชาญ ดังนั้นพระองค์จึงทรงฝึกฝนการอ่านจากเครื่องบอกบท (teleprompter) เพื่อให้พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันคริสมาสต์ปี 1957 ซึ่งจะถูกฉายออกอากาศเป็นครั้งแรกนั้นดูอบอุ่นและเป็นธรรมชาติ เมื่อย้อนกลับไปฟังพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จะเห็นว่าพระองค์ทรงยอมรับว่า ‘ข้าพเจ้ามิอาจนำพาพวกท่านไปในการต่อสู้ได้ ข้าพเจ้ามิอาจมอบกฎหมายหรือบริหารความยุติธรรมแก่พวกท่าน ทว่าข้าพเจ้าสามารถมอบหัวใจและการอุทิศตนให้แก่พวกท่านทุกคน’ พระองค์ทรงให้คำสัตย์ปฏิญาณในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่ง ‘หลักโครงสร้างพื้นฐาน’ ในขณะเดียวกันก็มิได้ ‘เกรงกลัวต่ออนาคต’

ในทางปฏิบัติ การเปิดใจยอมรับอนาคตอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่พอๆ กับการเสด็จพระราชดำเนินท่ามกลางฝูงชน หรือการปรับระดับความยาวฉลองพระองค์กระโปรงให้อยู่ในระดับพระชานุ (เข่า) แน่นอนว่าการที่ทรงเลือกสไตล์เครื่องทรงด้วยพระองค์เองนับเป็นหนึ่งในความสำเร็จแรกของการครองบัลลังก์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่แก่นแท้คือความสง่างามบริสุทธิ์ ทว่านอกจากความงดงามแล้ว ดีไซน์ของฉลองพระองค์ยังมีจุดประสงค์สำคัญของประโยชน์ใช้สอยอีกประการ ไม่ว่าจะเป็น แพทเทิร์นที่ไม่ซับซ้อน, ไม่ร้อน, ไม่เปล่งประกายแสง หรือไม่โปร่งบางจนเกินไป มิเช่นนั้นอาจถ่ายภาพออกมาไม่งดงาม ตู้เก็บฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้นมีข้อความบอกเป็นนัยว่าฉลองพระองค์ชุดกระโปรงนั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับการทรงงาน ในยุคที่ความโด่งดังของเซเลบริตี้หญิงมักจะมาพร้อมกับความเซ็กซี่ ควีนเอลิซาเบธทรงเลือกแสดงความมั่นใจของผู้หญิงในรูปแบบที่แตกต่างออกไป พระองค์ไม่ทรงกลัวที่จะสวมคัลเลอร์บล็อกสีสันสดใส ทั้งยังทรงสนับสนุนให้ผู้หญิงหลากหลายช่วงอายุไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับความซ้ำซากจำเจเพื่อให้กลืนไปกับคนหมู่มาก
 


พระราชวโรกาสในการแสดงออกถึง ‘หลักโครงสร้างพื้นฐาน’ ของพระองค์ในเวทีสากลเกิดขึ้นในปี 1961 ช่วงระหว่างวิกฤตสงครามเย็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศกานา ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประเทศกานา ทว่าความรุนแรงที่ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การเสด็จเยือนนี้อาจต้องถูกยกเลิก พระองค์ไม่เพียงแต่ทรงยืนกรานว่าจะเสด็จพระราชดำเนินต่อไป ทว่าระหว่างการเยือนอันโด่งดังนี้ พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยในการเต้นรำกับประธานาธิบดีกวาเม อึนกรูมา (Kwame Nkrumah) ณ งานเลี้ยงของรัฐบาล การรับพระหัตถ์อย่างชำนาญการกับสถานการณ์นี้ของพระองค์ช่วยมิให้ประเทศกานาแปรพักตร์ไปอยู่กับฝ่ายสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือข่าวเรื่องการไม่ทรงเหยียดเชื้อชาติของพระองค์ได้แพร่สะพัดออกไป อย่างที่แฮโรลด์ แมคมิลแลน (Harold Macmillan) ได้กล่าวไว้ว่า ‘พระองค์โปรดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และทรงประสูติมาเพื่อทรงเป็นประมุข มิใช่หุ่นเชิด’ ความมุ่งมั่นแน่วแน่ของพระองค์ปรากฏให้เห็นผ่านตลอดระยะเวลาอันยาวนานของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 14 คน, ประธานาธิบดีอเมริกา 14 คน, พระสันตะปาปา 7 องค์ และการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการ 265 ครั้ง

ในช่วงต้นของการระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2020 ที่มาพร้อมกับความตื่นตระหนกตกใจต่อการดำเนินชีวิตที่ต้องหยุดชะงักของคนทั้งประเทศ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ตรัสกับประชาชนของพระองค์ทั้งประเทศและทรงแบ่งปันความทรงจำเกี่ยวกับสงครามเพื่อเตือนใจให้ผู้คนมีความอดทน ‘เราจะผ่านพ้นเรื่องราวนี้ไปได้ด้วยดี’ พระองค์ทรงให้คำมั่นสัญญา และในช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังนั้นเอง พระองค์ทรงรวมใจเราเป็นหนึ่งด้วยความหวัง เอกลักษณ์อันโดดเด่นของควีนเอลิซาเบธคือพระปรีชาสามารถในการปรับพระวรกายด้วยความสง่างามและมั่นคง อย่างที่นักกวี Philip Larkin ครั้งหนึ่งเคยเขียนว่า ‘ในช่วงเวลาที่มิอาจมีสิ่งใดแน่นอน ไม่ว่าจะแย่ลงหรือเปลี่ยนแปลงไป ข้อดีที่เห็นได้ชัดคือพระองค์ทรงมิเคยผันผวน’ ความแน่วแน่มั่นคงของพระองค์ที่ยังดำเนินต่อไปในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนับเป็นแรงบันดาลใจอันไม่มีที่สิ้นสุดให้กับศิลปิน นักเขียน ดีไซเนอร์ และนักประพันธ์ทั้งหลาย รวมถึงพวกเราทุกคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook