เราขึ้นเงินเดือนประจำปีแบบไหนบ้าง ?

เราขึ้นเงินเดือนประจำปีแบบไหนบ้าง ?

เราขึ้นเงินเดือนประจำปีแบบไหนบ้าง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

นี้ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีของแต่ละองค์กรกันแล้วนะครับ ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะเร่งทบทวนผลงานให้เข้าตาหัวหน้ากันอย่างเต็มที่ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่พิจารณาผลการปฏิบัติงานก็คือ หัวหน้างานของเรานั่นแหละครับ

คราวนี้เรามาพูดกันถึงวิธีการขึ้นเงินเดือนประจำปีกันดูบ้าง

ผมเชื่อว่าหลายท่านคุ้นเคยกับวิธีการขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือน เพราะเป็นวิธีการที่ใช้กันมานาน และใช้กันในองค์กรส่วนใหญ่

ยกตัวอย่างเช่น นายเชิงชายปัจจุบันรับเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นเงินเดือนประจำปี 5 เปอร์เซ็นต์ นายเชิงชายจะได้รับการขึ้นเงินเดือนปีนี้เท่ากับ 1,500 บาท นี่เป็นวิธีการขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือนตามปกติทั่วไป

แต่มีปัญหาตามมาคือ นายเชิงชายไม่ได้เป็นพนักงานอยู่คนเดียวในบริษัทนะซิครับ เพราะนายเชิงชายอาจจะทำงานมาแล้วสัก 10 ปี ได้เงินเดือนปัจจุบันคือ 30,000 บาท แต่นายเชิงชายยังเป็นพนักงานปฏิบัติการทั่วไป เพราะนายเชิงชายมีพฤติกรรมการทำงานแบบทำไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก มาบ้างหยุดบ้างตามลมฟ้าอากาศ ไม่ค่อยอยากรับผิดชอบอะไรให้มากนัก ไม่อยากเป็นหัวหน้างาน เพราะไม่ต้องไปรับผิดชอบอะไรให้มากไปกว่านี้ เพียงแต่ขอให้ตนเองได้รับการขึ้นเงินเดือนไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ทุกปีก็โอเคแล้ว

ส่วนนายอุดมเป็นพนักงานที่จบมาทีหลัง เข้ามาทำงานในหน่วยงานเดียวกับนายเชิงชาย อยู่ในตำแหน่งเดียวกันคือพนักงานปฏิบัติการ นายอุดมปัจจุบันเงินเดือน 20,000 บาท นายอุดมเป็นคนขยันขันแข็งรับผิดชอบสูง เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ต้องการความก้าวหน้า กระตือรือร้นเรียนรู้งาน แถมบ่อยครั้งนายเชิงชายมาสั่งให้นายอุดมช่วยทำงานของตัวเองทั้ง ๆ ที่นายเชิงชายไม่ใช่หัวหน้าของนายอุดม

แต่ด้วยระบบอาวุโส ด้วยความเกรงใจ นายอุดมจึงต้องช่วย พอสิ้นปีนายอุดมได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ จึงได้รับการขึ้นเงินเดือนปีนี้เท่ากับ 1,000 บาท ซึ่งได้น้อยกว่านายเชิงชาย 500 บาท

เอาละครับ...มาถึงตรงนี้สัจธรรมข้อหนึ่งคือ "เงินเดือนเราได้เท่าไหร่...ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่" เริ่มจะทำงานกันยากแล้วละสิ

ถามว่าอย่างนี้จะยุติธรรมกับนายอุดมไหมครับ ?

ถ้ามองจากมุมของนายเชิงชายต้องบอกว่า ยุติธรรม เพราะฉันอยู่มานานกว่า เงินเดือนเยอะกว่า ต้องได้ขึ้นเงินเดือนเยอะกว่านะสิ แต่นายอุดมจะบอกว่าไม่ยุติธรรมสิพี่ พี่อยู่มานานกว่าก็จริง แต่ตำแหน่งพี่ก็อยู่เท่าผม ทั้ง ๆ ที่พี่ควรจะเลื่อนตำแหน่งก้าวหน้าสูงขึ้นไปได้แล้ว แถมพี่ยังทำงานไปแบบเรื่อยๆ กินแรงผมอีกต่างหาก แล้วอย่างนี้ผมจะขยันไปทำไม เพราะทำไปผมก็ไม่มีวันได้เงินเดือนสูงกว่าพี่ได้ มันไม่ยุติธรรมครับพี่...ฯลฯ

ว่าแล้วนายอุดมก็อาจจะลาออกไป บริษัทก็ได้คุณเชิงชายอยู่เป็นขวัญใจถ่วงความเจริญของบริษัทต่อไป แล้วอย่างนี้อนาคตของบริษัทจะเป็นยังไงท่านคงคิดได้นะครับ

นี่จึงเป็นที่มาของการขึ้นเงินเดือนจาก "ค่ากลาง" ดังรูป

จากรูปข้างต้น "ค่ากลาง" หรือ Midpoint คือที่ 25,000 บาท ถ้าท่านจะถามว่ามาจากไหน ?

ตอบได้ว่ามาจากการนำค่าสูงสุดของกระบอกเงินเดือนนี้ (40,000 บาท) บวกค่าต่ำสุดของกระบอกนี้ (10,000 บาท) แล้วหาร 2 ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในการขึ้นเงินเดือนประจำปีในหลายองค์กร เนื่องจากวิธีนี้เป็นการขึ้นเงินเดือนที่ถือว่ายุติธรรมตามหลักของ "ค่างาน" ครับ

เพราะตามหลักการบริหารค่าตอบแทนแล้ว จะถือว่าค่ากลางหรือ Midpoint เป็นค่าตอบแทนที่เสมอภาคและเป็นธรรม (Equal Work Equal Pay) เป็นค่าที่ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างคุ้มค่าจ้าง และนายจ้างก็จ่ายค่าจ้างให้อย่างยุติธรรมแล้ว ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน

โดยหลักค่างานแล้ว ไม่ว่าใครจะได้รับเงินเดือนเท่าไหร่ ตั้งแต่ต่ำสุด (10,000 บาท) จนถึงสูงสุด (40,000 บาท) ตามโครงสร้างเงินเดือนนี้จะต้องรับผิดชอบงานอยู่ในค่างานเดียวกัน

แต่ถ้าใครได้เงินเดือนต่ำกว่าค่ากลางแสดงว่าเขาทำงานให้กับนายจ้างอย่างเต็มที่แล้วแต่เขายังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผลงานที่ทำให้นายจ้าง (Under Paid) ในขณะที่ถ้าใครได้เงินเดือนสูงกว่าค่ากลางแสดงว่าลูกจ้างคนนั้นได้รับค่าจ้างมากเกินไป ในขณะที่ไม่ได้ทำงานให้กับนายจ้างอย่างคุ้มค่าจ้าง (Over Paid) ที่นายจ้างจ่ายไป

โดยองค์กรที่จะใช้วิธีขึ้นเงินเดือนประจำปีแบบนี้ ควรจะต้องมีโครงสร้างเงินเดือนให้ชัดเจนเสียก่อนนะครับ

จากรูปข้างต้นท่านจะเห็นว่าคนที่ได้เงินเดือนเกินค่ากลาง(Over Paid) อย่างคุณเชิงชายจะไม่ชอบแหง ๆ แต่คนที่มีเงินเดือนต่ำกว่าค่ากลาง (Under Paid) อย่างคุณอุดมจะบอกว่าอย่างนี้สิถึงจะยุติธรรม ซึ่งทั้งสองคนนี้จะได้รับการขึ้นเงินเดือนปีนี้เท่ากันคือที่ 1,250 บาท (หากมีผลการประเมินเท่ากัน) เพราะถือหลัก Equal Work Equal Pay ที่ผมอธิบายไว้แล้วข้างต้นนั่นเองครับ

หลักการขึ้นเงินเดือนจากค่ากลางเพื่อที่จะเตือนคนที่เงินเดือนเกินค่ากลาง(เช่นคุณเชิงชาย) ให้ควรจะเร่งสร้างผลงาน หรือพัฒนาความสามารถให้ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปได้แล้ว จะได้ไม่ทำให้เงินเดือนตัน (ตามตัวอย่างนี้เพดานตันอยู่ที่ 40,000 บาท) ในขณะเดียวกันจะสร้างแรงจูงใจให้คนที่เงินเดือนต่ำกว่าค่ากลาง (เช่นคุณอุดม) ให้เกิดความตั้งใจที่จะทำงานให้มีผลงานดีมากยิ่งขึ้นต่อไป

ลองนำไปพิจารณาการขึ้นเงินเดือนด้วยวิธีนี้กันดูนะครับ

 

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.photos.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook