รู้ทันโรคซึมเศร้าหลังคลอด สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีดูแลตัวเอง
คุณแม่หลายท่านอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่า อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นหลังคลอดนั้น ถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ ซึ่งภาวะนี้จะทำให้คุณแม่มีอารมณ์เศร้า กังวลง่าย ร้องไห้ง่าย และจะอยู่ในช่วงเวลาแบบนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเอง แต่มีอีกหนึ่งภาวะที่ไม่ถือเป็นเรื่องปกติ นั่นก็คือ โรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งถือเป็นโรคที่ต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน วันนี้เราจึงอยากชวนให้คุณแม่และทุกคนที่ใกล้ชิดกับคุณแม่หลังคลอดมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันค่ะ
โรคซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร
โรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือเรียกว่า postpartum depression คือ โรคที่มีลักษณะอาการนอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อย อ่อนไหวง่าย เบื่ออาหาร มีอารมณ์หงุดหงิด ความผูกพันกับลูกน้อยหายไป บางรายอยากทำร้ายตัวเอง หรือไม่ก็ทำร้ายลูก ซึ่งอาการนี้จะมีตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน เป็นอาการที่ไม่สามารถหายเองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด
ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้านั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดมากที่สุดเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1.ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอด
เกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหลังคลอด ฮอร์โมนบางตัวในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีโอกาสที่จะไปกระทบกับเรื่องอารมณ์ของคุณแม่ได้โดยตรง
2.ความเครียด
ความเครียดจะอยู่กับคุณแม่ตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงระหว่างคลอด โดยคุณแม่มักจะมีความกังวลในเรื่องของการเลี้ยงลูกเป็นส่วนใหญ่ บวกกับเป็นกังวลในเรื่องของหน้าที่การงาน เรื่อการเงิน และเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะถ้าคุณแม่เป็นคนที่รักการทำงาน แต่เมื่ออยู่ในช่วงลาคลอด จะมีความรู้สึกเครียด เพราะไม่สามารถออกไปทำงาน และต้องเลี้ยงดูลูกอยู่บ้าน บางรายถึงขั้นคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ตลอดจนทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าตามมา
ปัจจัยเสี่ยงของโรคซึมเศร้าหลังคลอด
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1.มีภาวะซึมเศร้ามาก่อน
คุณแม่หลังคลอดเคยมีภาวะซึมเศร้ามาก่อน หรืออาจจะเคยเป็นโรคทางอารมณ์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ซึมเศร้าหรือไบโพล่าก็ตาม รวมทั้งการมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคทางอารมณ์มาก่อน ก็ย่อมเสี่ยงต่อการที่คุณแม่จะเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้
2.มีความเครียดมากเกินไป
ความเครียดที่มีมากจนเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดการสะสมตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด ย่อมเสี่ยงต่อการทำให้คุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ดังนั้นคนในครอบครัวจะต้องพยายามแบ่งเบาและคอยช่วยเหลือคุณแม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากจนเกินไป ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้สูง
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด
เมื่อคุณแม่และคนในครอบครัวเริ่มรู้ว่าคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องหมั่นคอยดูแลคุณแม่ ซึ่งการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดสามารถทำตามได้ดังนี้
1.พักผ่อนให้เพียงพอ
คุณแม่จะต้องให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ นั่นแสดงว่าต้องอาศัยการช่วยเหลือของคนรอบข้าง โดยคนอื่นๆ สามารถดูแลลูกน้อยแทนคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ จะช่วยลดความเครียดสะสม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้
2.ทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัด จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่างๆ ของตัวเอง โดยการทำจิตบำบัดนั้นจะเน้นให้คุณแม่อารมณ์ดีขึ้น เพื่อที่จะสามารถกำจัดความเครียดที่เกิดขึ้นได้
3.ใช้ยารักษา
คุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดบางราย จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งการใช้ยารักษานั้นคุณหมอจะเป็นผู้ประเมินอาการและทำข้อตกลงร่วมกับคุณแม่อีกครั้ง เนื่องจากการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้านั้นให้ทั้งข้อดีและข้อเสียไปพร้อมๆ กัน
จะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้ามีปัจจัยเสี่ยงที่คุณแม่หลังคลอดแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย โดยเฉพาะความเครียด ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อคุณแม่หลังคลอดมากจนเกินไป แนะนำให้ทุกคนในครอบครัว คอยหมั่นสังเกตอาการของคุณแม่หลังคลอด และคอยให้ความช่วยเหลือคุณแม่ในด้านต่างๆ ที่พอจะช่วยแบ่งเบาแรงกายของคุณแม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยลดความเครียดให้กับคุณแม่ได้ดีเลยทีเดียว