อย่ามองข้าม! ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขนดก ผิวมัน สิวเห่อ ผมร่วง สัญญาณเสี่ยงภาวะ PCOS
ประจำเดือนมาไม่ปกติ? ขนดก? ผมร่วง? ผิวมัน สิวเห่อ? ร่างกายกำลังจะบอกอะไร?
ทุกครั้งที่ร่างกายของเราแสดงอาการที่แตกต่างไปจากเดิม อย่าเพิ่งมองข้ามคิดว่าไม่สำคัญ เพราะนั่นอาจเป็นประตูไปสู่สัญญาณความเสี่ยงได้ สำหรับการที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะมีทั้งแบบมาน้อย ไม่มาติดต่อกันนาน ๆ หลายเดือนมาครั้งนึง พอมาทีก็มาแบบกะปริบกะปรอย บวกกับร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงคล้ายเพศชาย มีขนขึ้นเยอะ ผิวมัน สิวเยอะ ผมร่วง ศีรษะล้าน หรืออาจจะมีกล้ามเนื้อเหมือนผู้ชาย สัญญาณเหล่านี้ร่างกายกำลังจะบอกว่าเกิดความผิดปกติกับฮอร์โมนเพศที่ไม่สมดุลแล้วล่ะ แล้วการที่ฮอร์โมนผิดปกติ ก็เป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดได้หลายโรคเลยทีเดียว วันนี้ก็เลยอยากพาสาว ๆ มาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งภาวะเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามของผู้หญิงกับภาวะ PCOS หรือภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
จากประจำเดือนมาไม่ปกติ สู่ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS
ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือระบบฮอร์โมน โดยจะพบถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ หรือที่หลายๆ คนเรียกภาวะนี้ว่า ซีสต์ในรังไข่ โดยจะมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ที่ไม่ใช่แค่สร้างความอึดอัดหงุดหงิดในการเป็นประจำเดือนเท่านั้น แต่ภาวะนี้ถือเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ซึ่งถ้าทิ้งไว้ ไม่รักษาจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งโพรงมดลูกได้อีกด้วย
สาเหตุของการเกิดภาวะ PCOS
แม้ว่าจะยังระบุสาเหตุของการเกิดภาวะ PCOS ไม่ได้ตายตัว แต่หลักๆ ก็คือเกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนออกมาไม่สมดุล โดยที่พบเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ การที่มีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ร่างกายก็จะแสดงลักษณะคล้ายกับผู้ชาย อย่างเช่น มีขนขึ้นเยอะผิดปกติ มีหนวดขึ้น ผิวมัน เป็นสิวง่าย ในบางคนอาจจะผมร่วมศีรษะล้าน
หรือในบางคนอาจจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น กระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนออกมามากเกินไป ซึ่งจะไปรบกวนการตกไข่และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
เช็กลิสต์อาการเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง
- ประจำเดือนมาไม่ปกติทั้งมาน้อย มามาก มาไม่สม่ำเสมอ ไม่มาติดต่อกันหลายเดือน เว้นช่วงห่างรอบเดือนนานกว่า 35 วัน หรือมีรอบประจำเดือนน้อยกว่า 8 ครั้งต่อปี
- ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ (ฮอร์โมนแอนโดรเจน) มีขนขึ้นเยอะ ผิวมัน สิวขึ้น ผมร่วง ศีรษะล้าน
- ไข่ไม่ตก เกิดภาวะมีบุตรยาก (Infertility) เนื่องจากมีความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ ประกอบกับเป็นประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้มีบุตรยาก
- ภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง อาจเกิดการดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูงได้
การดูแลรักษาทำได้อย่างไรบ้าง หากเกิดภาวะ PCOS
การรักษาของภาวะ PCOS ขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการ
- ดูแลน้ำหนักตัว พยายามควบคุมน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่เพื่อกำจัดส่วนที่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน มีส่วนช่วยให้การตกไข่กลับมาเป็นปกติด้วยการผ่าตัดจี้รังไข่ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะส่งผลในระยะสั้นเท่านั้น
- อีกวิธีการที่สำคัญ คือการปรับฮอร์โมนในร่างกายที่แปรปรวน ภาวะ PCOS คือภาวะที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชายสูง ดังนั้น ยาปรับฮอร์โมน จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยสร้างสมดุลของฮอร์โมน ตัวอย่างยาปรับฮอร์โมนที่นำมาใช้รักษาภาวะ PCOS เช่น ยาปรับฮอร์โมนรวมตัวที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินที่ชื่อ ไซโปรเทอโรน อะซีเตท ร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นตัวที่มีงานวิจัยรับรองประสิทธิภาพในการรักษาภาวะ PCOS
หากมีสัญญาณที่น่าสงสัยเหล่านี้ อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน ควรรีบเข้าไปรับคำปรึกษาจากสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนทันที ลดความเสี่ยงและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากแม้จะไม่มีอาการหรือสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติ การตรวจสุขภาพและการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอก็เป็นการป้องกันตัวเองได้เป็นอย่างดี ถึงจะดูยุ่งยาก แต่ผู้หญิงยุคใหม่อย่างเรารู้เท่าทันโรคร้ายได้ค่ะ
[Advertorial]
อ้างอิง
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2021
https://www.paolohospital.com/th-TH/rangsit/Article/Details
https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Polycystic-Ovary-Syndrome-detail
https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/4818/
PP-PF-WHC-TH-0441-1 (10/2022)